จรัญ พงษ์จีน : ศึกแก้รัฐธรรมนูญในสภา

จรัญ พงษ์จีน

ศึกแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ล็อกสเป๊กไว้ว่า “ใน 5 ปีแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงจาก ส.ส. 500 คน ร่วมกับวุฒิสมาชิก 250 รวมเป็น 750 คน กึ่งหนึ่งคือ 375 เสียงขึ้นไป

นอกจากนั้น ส.ว.ซึ่งมาจากการ “ลากตั้ง” มีอายุราชการตามบทเฉพาะกาล 5 ปี มากกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากอยู่ครบเทอมเพียง 4 ปี

เท่ากับว่า “ส.ว.” ตามไฟต์บังคับจากรัฐธรรมนูญมาตรา 272 สามารถชี้ชะตาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 สมัย จึงเป็นที่ไปที่มาของการขับเคลื่อน “ปิดสวิตช์ ส.ว.” เกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ตามกระแสเรียกร้อง โละทิ้งเครื่องทุ่นแรงสืบทอดอำนาจ

โดยมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดรวมศิโรราบเป็น 3 ฉบับ คือ

1. ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไขแบบยิงวิถีโค้งปลดล็อกจากรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาทำการยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน

2. “ร่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ยกเว้นพรรคก้าวไกล ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชนโดยตรง มาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

3. “ร่างของพรรคก้าวไกล” เสนอแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกลากตั้ง ไม่ให้ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ให้การเลือกเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร เป็นประชาธิปไตยทางตรงจากประชาชน

“ร่างที่พรรคก้าวไกล” เป็นหัวหมูทะลวงฟัน มีมวลสมาชิกร่วมลงรายชื่อจำนวน 99 คน เกิน 1 ใน 5 ของสมาชิกสภา 1 เสียง มีผู้ลงชื่อจาก 13 พรรคการเมือง นอกจากเก็บเล็กผสมน้อยจากซีกพรรคฝ่ายค้านอันประกอบด้วย

พรรคก้าวไกล 54 คน พรรคประชาชาติ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คนแล้ว

ที่ทำเอาคอการเมือง “ครางฮือ” มีมนต์ขลังยิ่งกว่า “แม่มด” ดึง “หมอผี” มาทำคุณไสย คือสามารถปิดดีล ดึง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน มาร่วมวงไพบูลย์ได้ พร้อมกับพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรครักผืนป่าประเทศไทย 1 คน ไทยศรีวิไลย์ 1 คน ไทยรักธรรม 1 คน ประชาธรรมไทย และประชาธิปไตยใหม่ พรรคละ 1 คน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า 16 รายชื่อของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็น ส.ส.สายกบฏ เครือข่ายใกล้ชิดกับ “อำนาจเก่า” เสียเป็นส่วนใหญ่

ประกอบด้วย 1.นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ 2.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3.นายอันวาร์ สาและ 4.นายกนก วงษ์ตระหง่าน 5.นายเกียรติ สิทธิอมร 6.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี 7.น.ส.พิมพ์ระพี พันธุ์วิชาติกุล 8.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ 9.นายอภิชัย เตชะอุบล 10.นายเทพไท เสนพงศ์ 11.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ 12.นางกันตวรรณ ตันเถียร 13.นายสาคร เกี่ยวข้อง 14.นายอัศวิน วิภูศิริ 15.นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์

และ 16.นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์

 

ขณะเดียวกัน ญัตติของพรรคก้าวไกล สร้างเสียงหัวเราะเยาะด้วยความประหลาดใจที่ “พรรคเพื่อไทย” ผู้นำฝ่ายค้านตัวเอ้ พรรคที่มีฐานเสียง ส.ส.มากที่สุดในสภา กลับวางอุเบกขาเฉยไม่ร่วมลงชื่อ

กลับเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปซะงั้น ไม่เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.ทั้งๆ ที่เป็นการปลดแอกให้ตัวเอง และหากสำเร็จสมประสงค์ขึ้นมา จะได้ประโยชน์มากกว่าใครเพื่อน

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แก้ไขโดยตรง ตัดตอนอำนาจ ส.ว.โดยพลัน ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและของพรรคเพื่อไทย ตีกรรเชียงไปเลือก ส.ส.ร.ต้องใช้เวลาอีกยาวไกลกว่าจะสะเด็ดน้ำ

มีบางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่พรรคเพื่อไทย “ทิ้งโง่” ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกล ทั้งที่ผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชนหลายสนามรบ

แต่กลับทำตัวเป็นเด็กเอ๋ยเด็กน้อย ลมพัดอย่างไรเจ้ายังไม่รู้ เพราะไปหลงกลแอบ “ดีลลับ” กับแกนนำขาใหญ่พรรคพลังประชารัฐ

โดยให้อยู่เฉยๆ นั่งตบยุงหรือตบแมลงวันเล่นไปก่อน ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เกิดโรคระบาดคุมโซนกันภายในกันไม่อยู่

มีโอกาสที่จะถูกเขี่ยทิ้งยกยวงสูงยิ่ง และดึงพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาลทำงานกับพลังประชารัฐ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “เกลอเก่า” กันทั้งนั้น

จับสัญญาณ มีการต่อยอด ทอดไมตรีกันหลายกรรมหลายวาระ และจบลงด้วยดีมาแล้วหลายเรื่อง

ขณะเดียวกัน “กลุ่มกบฏประชาธิปัตย์” เมื่อจำแนกแยกแยะมวลสมาชิกที่ร่วมลงชื่อแล้ว จำนวน 16 คน ต่อจิ๊กซอว์แล้วส่วนใหญ่เป็นสายขั้วอำนาจเก่า มีความผูกพันใกล้ชิดกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคเสียเป็นส่วนใหญ่

ประชาธิปัตย์ชั่วโมงนี้ถือว่ากระแสนิยมตกต่ำทิ้งดิ่ง จะกอบกู้ชื่อเสียงให้กลับมาเหมือนเก่า ต้องรอปาฏิหาริย์อย่างเดียว เลือกตั้งสมัยหน้า ทำแต้มให้เข้าป้ายที่หนึ่งหรือที่สอง ยากพอๆ กับดึงรถไฟขึ้นภูเขา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตามแนวทางพรรคก้าวไกล กรณีที่ฝันเป็นจริง เท่ากับ “มีผลโดยพลัน” ไม่ต้องรอเลือกตั้ง ส.ส.ร.

ปัญหาบ้านเมืองช่วงนี้ อยู่ในขั้น “สุกงอม” ทุกรูปแบบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เผชิญกับวิบากกรรมหลายรูปลักษณ์ เกิดไปไม่ลามาไม่ไหว้ ตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแบบปัจจุบันทันด่วน

การแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ไม่ให้ ส.ว.ลากตั้งร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป ตัดสายสะดือการสืบทอดอำนาจ จึงเหลือโหวตเลือกนายกฯ ได้สภาเดียว

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจาก “บัญชีรายชื่อที่เสนอ” ที่เหลืออยู่มีจำกัด แค่ 1. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 2. “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์-นายชัยเกษม นิติสิริ” 3 รายชื่อจากพรรคเพื่อไทย

และอย่าตัดชื่อ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทิ้ง แม้จะลาขาดจากตำแหน่ง ส.ส.ไปแล้ว แต่มีชื่ออยู่ในทำเนียบนามนายกรัฐมนตรีและไม่ได้ติดขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

ช่วงนี้มีคนเห็น “หนุ่มมาร์ค” ซึ่งกบดานเงียบเชียบมานาน ปรากฏตัวพบปะเพื่อนฝูง มิตรสหาย ถี่กว่าปกติ

ล้มแล้วลุกใหม่ แปลว่า ผู้ไม่ยอมแพ้