อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เรือดำน้ำ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

21 สิงหาคม 2563

ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบงบประมาณของกองทัพเรือในรายการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำจากประเทศจีนในวงเงิน 22,500 ล้านบาท

ย้อนกลับไปวันที่ 13 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้กล่าวว่า (1)

“…ที่ผ่านมาไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสจากการที่โลกเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งไหน เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและคาดว่าจะต้องทนทุกข์กับวิกฤตนี้ไปจนถึงปลายปีหน้า…”

กรรมาธิการฝ่ายที่คัดค้านแต่การจัดซื้อเรือดำน้ำคัดค้านว่า ตอนนี้ประเทศไทยกู้เงินจนเต็มเพดานเงินกู้แล้วและประเทศไทยกำลังเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ

เหตุผลนี้พ่ายแพ้แก่กรรมาธิการที่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยให้เหตุผลว่าเป็นงบประมาณผูกพัน กองทัพเรือได้ลงนามความตกลงกับจีนไว้แล้วจะต้องซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ (2) เพื่อให้ชาติอื่นเกรงใจ

ฟังเหตุผลของกรรมาธิการที่สนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำฟังดูดีคือ นับเป็นเรื่องปกติ (ไม่เห็นไทยมีวิกฤตตรงไหน) เพราะเป็นงบประมาณผูกพัน แถมยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน

ทว่า เพื่อให้ชาติอื่นเกรงใจเป็นเหตุผลของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สำนวนนี้น่าจะมาจากฝ่ายความมั่นคงที่กล่าวแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายเวที ประหนึ่งว่า พวกเขากุมความลับชนิดที่ลับและลึกเกินกว่าคนทั่วไปจะทราบแม้แต่กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเสียอีก

อีกประการหนึ่ง ผมจำได้ว่า กรรมาธิการท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “เป็นประโยชน์กับประชาชน”

ตรงนี้แหละครับที่ผมเริ่มไม่แน่ใจต่อเหตุผลการตัดสินใจของกรรมาธิการฝ่ายสนับสนุนซื้อเรือดำน้ำจีน

อะไรคือ เพื่อให้ชาติอื่นเกรงใจ เพื่อชาติอื่นเกรงใจเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร?

 

ย้อนเวลาหาอดีต

ปี2560 คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศจีน โดยมีรายงานว่า กองทัพเรือชี้แจงว่า สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน ไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเพื่อให้ชาติอื่น “เกรงใจ”

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วการตัดสินใจเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำจีนนั้นมีขึ้นตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ตามรายงานของหนังสือพิมพิ์ Asia Times ซึ่งอ้างรายงานจากสำนักข่าว Reuters ที่มาจากการสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสมัยนั้นกล่าวว่า รัฐบาลจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ นั่นเป็นการพิจารณาบริบทที่ทางการไทยต้องการส่งสัญญาณความผูกพันอันอบอุ่นกับจีนท่ามกลางความเย็นชาของสหรัฐอเมริกาต่อไทย (3)

อาจกล่าวได้ว่า ทางการไทยเห็นว่าบริบทช่วงนั้นเกิดช่องว่างด้านความมั่นคงในภูมิภาคกับชาติตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งได้เรียกร้องให้ไทยกลับไปปกครองโดยรัฐบาลประชาธิปไตย

หลังจากนั้น ทางการไทยร่วมมือกับจีนอันสำคัญทั้งโครงการขนาดใหญ่คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนและความร่วมมือทางทหารคือ การฝึกร่วมด้านกำลังทหารอากาศ

ต้องไม่ลืมว่ายังมีการจัดซื้ออาวุธ ได้แก่กระสุนปืน รถถัง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมของเราเพิ่มสูงขึ้น

จริงอยู่ความร่วมมือกับจีนในหลายๆ ด้านของรัฐบาลไทยเกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ทว่าความร่วมมือทางทหารของทั้งสองประเทศนับเป็นนโยบายใหม่และสำคัญในช่วงที่ทางการไทยปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนในการเมืองในภูมิภาคก็จริง

เราควรย้อนไปตรวจสอบอีกว่า ทางการไทยตัดสินใจประกาศซื้อเรือดำน้ำจีนหลังจากการรัฐประหาร 2557 ผ่านไปแล้วถึง 2 ปี ช่วงนั้นมีภัยคุกคามทางทะเลอะไรต่อไทยจึงต้องซื้อเรือดำน้ำ

บริบทปัจจุบัน ช่วงเวลานี้และยังอีกนานเท่าไรไม่มีใครรู้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ ไร้เสถียรภาพและยังมองไม่เห็นอนาคตของการฟื้นตัว

ที่สำคัญจีนเองกำลังเผชิญปัญหาโรคระบาดโควิดและปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน เหตุใดทางการไทยยังจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำ

คนไทยต้องเสียภาษีจ่ายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาทให้ชาติไหนเกรงใจ โปรดบอกประชาชนด้วย

 

ปัจจุบันและอนาคต

กรณ์ จาติกวณิช เขียนโพสต์ให้ข้อคิดน่าสนใจว่า (4)

“…เรือดำน้ำคือ สิ่งที่ไม่จำเป็น ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้งบประมาณต้องเน้นแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง วิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้หนักมาก…วัคซีนโควิดยังไม่มา นักท่องเที่ยวไม่มี ธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กอีก 3 เดือนไม่รู้อยู่กันอย่างไร…”

กรณ์ จาติกวณิช ยังเขียนต่อไปว่า

“…รุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ส่งข้อความชวนคิดว่า งบฯ เรือดำน้ำนี้สามารถส่งเด็กไทยไปเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิศวกรรมและนวัตกรรมได้ 22,500 คนรวมค่ากินอยู่จนจบปริญญา หากเด็กไทยมีโอกาสเรียนด้านนวัตกรรมขั้นสูงจนสามารถกลับมาช่วยชาติได้ 2 หมื่นกว่าคนจะสามารถเปลี่ยนประเทศได้ขนาดไหน (เน้นโดยผู้เขียน) โดยเฉพาะหากเด็กกลุ่มนั้นไปเรียนวิศวกรรมด้านการสร้างเรือดำน้ำ อาจทำให้ไทยสร้างเรือดำน้ำได้เองและส่งออกได้อีกด้วย…”

 

เรือดำน้ำกับเรือประมง

น่าสนใจ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขียนเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเอาไว้ว่า (5)

“…ที่ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง การประมงพาณิชย์บ้านเพกำลังล่มสลาย แรงงานต่างด้าวที่เข้ามายากตอนนี้หายากและมีราคาแพงมาก ชาวบ้านหลายคนต้องทิ้งเรือประมงของตน งบประมาณที่จะซื้อเรือดำน้ำ ควรเอามาเยียวยาประชาชน อย่างน้อยเป็นขวัญและกำลังใจให้พวกเขาประกอบอาชีพนี้ต่อไป เขาเห็นว่าควรมีกองทุนเพื่อเปลี่ยนทักษะและลงทุนในอาชีพใหม่ ทุกวันนี้พวกเขามีแต่หนี้สินเพิ่มมากขึ้น เรือต้องจอดทิ้งไว้ แต่มีค่าบำรุงรักษาที่ต้องจ่ายทุกเดือน แม้ไม่ได้ออกหาปลา แม้แต่งบประมาณ 4 พันกว่าล้านที่ต้องจ่ายงวดแรกของการซื้อเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2564 ควรเอามาลงทุน เยียวยา ฟื้นฟูประชาชนที่ยากลำบาก…”

น่าสนใจเพราะนายธนาธรมิได้เป็น ส.ส. เขาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ห่วงใยชาวประมงที่ตำบลเพ จังหวัดระยอง

ทำให้เกิดฉุกคิดว่า ชาวประมงน่าจะได้ประโยชน์จากเรือดำน้ำ เพราะเรือดำน้ำช่วยให้เกิดความมั่นคงทางทะเลและชาติอื่นๆ เกรงใจ น่าสนใจมากขึ้น 5 กรรมาธิการที่เห็นชอบกับเรือดำน้ำไม่ได้นึกถึงชาวประมงเลย ที่น่าสนใจยิ่งกว่า ทหารเรือไม่ได้เห็นใจชาวประมงเลย

คนไทยไม่เกรงใจคนไทยเลย พับผ่า

———————————————————————————————————
(1) “เรือดำน้ำจีน : คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ เห็นชอบซื้อเพิ่ม 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท” บีบีซีไทย 21 สิงหาคม 2020.
(2) เพิ่งอ้าง.,
(3) Admin, “Thailand says it will buy three Chinese submarines” Asia Times 1 July 2016.
(4) “รุมต้านซื้อเรือดำน้ำ เติมไฟการเมือง” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 23 สิงหาคม 2563
(5) เพิ่งอ้าง.,