รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/สหรัฐยอมรับ ตระหนักถึงอันตรายโควิด-19 ใช้หุ่นยนต์บริการเว้นระยะห่าง

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

สหรัฐยอมรับ

ตระหนักถึงอันตรายโควิด-19

ใช้หุ่นยนต์บริการเว้นระยะห่าง

นับจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงแรกมักไม่ให้ความสำคัญกับอันตรายของเชื้อโควิด-19

เคยกล่าวถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยว่าเป็นเพียงนโยบายที่สร้างความถูกต้องทางการเมืองเท่านั้น และมักหลีกเลี่ยงการสวมใส่หน้ากากออกสื่อ

จนกระทั่งวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทรัมป์มีท่าทีต่อวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเปลี่ยนไป

โดยออกมาสนับสนุนให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากากอนามัย

รวมถึงยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจแย่ลงกว่านี้ด้วย

ท่าทีดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ทรัมป์ยอมรับถึงปัญหา หลังจากก่อนหน้านี้ทรัมป์เน้นย้ำไปที่การสนับสนุนให้เปิดเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งแรกในรอบเดือน ทรัมป์เรียกร้องให้กลุ่มเยาวชนหลีกเลี่ยงการไปสถานบันเทิงที่มีคนแออัด พร้อมทั้งยอมรับว่าสถานการณ์จะแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่นี้

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งแม้จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ตนก็เริ่มคุ้นเคยกับการสวมหน้ากากอนามัยแล้ว

 

หลังจากสหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้จีดีพีของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตกต่ำลงอย่างหนัก

ทรัมป์ ผู้ที่ต้องการใช้ผลงานด้านเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเองก็มีคะแนนนิยมในโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนตามหลังคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

เส้นทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการแพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญ

ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายอมรับว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังส่งผลถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา

การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดถูกชะลอให้ช้าลง ผู้บริโภคเริ่มลดการใช้จ่าย และการกลับมาว่าจ้างแรงงานที่ถูกพักงานไปอีกครั้งก็ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มกิจการขนาดเล็ก

เฟดยังคงรักษาแนวนโยบายเดิมเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ และยังคงประกาศอย่างหนักแน่นว่าจะดำเนินมาตรการทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะกินเวลานานเพียงใด เพื่อจำกัดการสูญเสียให้น้อยที่สุด และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด แม้ทิศทางทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ชัดเจนในเวลานี้

สหรัฐมีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหลายหมื่นคนต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสถานการณ์ในสหรัฐยังไม่พ้นจากการระบาดระลอกแรกและจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้และตะวันตกของสหรัฐที่มีการเร่งรีบให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อต้านไม่ยอมสวมหน้ากากป้องกันและเว้นระยะห่างทางสังคม

จากข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ หรือ CDC ชี้ว่าความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 จากการสัมผัสหรือรับประทานอาหารนอกบ้านนั้นอยู่ในระดับต่ำ

แต่ก็มีรายงานเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หลายต่อหลายครั้งในหมู่พนักงานร้านอาหารและลูกค้า

 

ทั้งนี้ การระบาดของโคโรนาไวรัสในสหรัฐดังกล่าว ได้นำมาสู่การมีมาตรการกำหนดระยะห่างระหว่างพนักงานและลูกค้า ด้วยการนำหุ่นยนต์ที่สามารถทำอาหารได้มาใช้ และกำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น

โดยร้านอาหารต่างๆ มีการทดสอบใช้หุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Flippy เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Miso Robotics เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย นำไปใช้ที่ร้านอาหาร White Castle ที่สามารถทอดมันฝรั่งหรือ French fries และทำอาหารอื่นๆ ได้

ทางร้านได้พูดคุยกับบริษัท Miso ในเรื่องการร่วมหุ้นกันมาประมาณหนึ่งปีแล้ว และการเจรจาดังกล่าวจริงจังมากขึ้นเมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19

Jamie Richardson รองประธานร้าน White Castle กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยให้พนักงานมีเวลาไปทำงานอื่นๆ ได้ เช่น ทำความสะอาดโต๊ะ หรือรับรายการอาหารเพื่อไปส่งให้ลูกค้าที่บ้าน

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ปราศจากการสัมผัสก็มีความสำคัญต่อลูกค้ามากขึ้นด้วย

เขายังบอกด้วยว่า จากนี้ทั่วโลกต้องคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

 

สําหรับหุ่นยนต์ Flippy มีสนนราคาอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ ค่าบริการรายเดือนอีก 1,500 ดอลลาร์

โดยทางบริษัท Miso มีแผนที่จะให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำหุ่นยนต์ไปใช้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อหุ่นยนต์ แต่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนที่สูงขึ้นแทน

ขณะที่หุ่นยนต์ทำอาหารกลายมาเป็นที่นิยม โรงพยาบาล โรงอาหารตามมหาวิทยาลัยและสถานที่อื่นๆ ก็พยายามที่จะลดต้นทุนค่าแรงงานลงด้วยการใช้หุ่นยนต์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์พ่อครัว และได้ปรากฏตัวตามร้านอาหารต่างๆ มาแล้ว เช่นที่ร้าน Creator ในนครซานฟรานซิสโก

เป็นอีกก้าวหนึ่งของเทคโนโลยีช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเห็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์มาสนับสนุนทางการแพทย์

ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ตลอดจนหุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกลเพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจต่างๆ ที่อาจจะช่วยให้การใช้บริการร้านอาหารต่างๆ ของคุณรวดเร็วขึ้นไปอีก

เราจะได้เห็นการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นเพราะผลพวงจากไวรัสโควิด-19

 

ที่มา https://www.matichonweekly.com/column/article_155448