ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีนานาชาติ

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (15)
การติดต่อกับต่างประเทศ

ผู้เขียนเริ่มต้นชีวิตมาบนเส้นทางวิชาการ ลำพังงานวิชาการหากจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยก็จะไม่มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะในสายศาสนานั้น การค้นคว้า การวิจัย การเสนองานวิชาการก้าวหน้าไปมากในต่างประเทศ ในการศึกษานับตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เราก็เกิดความตระหนักรู้แล้วว่า องค์ความรู้ในภาคภาษาอังกฤษนั้น ก้าวหน้าไปกว้างและไกลมากกว่าที่จะจำกัดตัวอยู่ภายในประเทศ

ผู้เขียนจึงมีความสนใจในการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา

ในโลกของการประชุมทางวิชาการโดยเฉพาะในสายศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะศาสนาพุทธเอง หรือศาสนาสากล ในสมัยนั้น เป็นโลกของผู้ชายเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็มีความตื่นตัวที่จะแสวงหานักวิชาการที่เป็นสตรีด้วย ตรงนี้เองที่เอื้อให้ผู้เขียนอยู่ในจุดที่มีพื้นที่ที่จะเติบโตทางวิชาการอย่างดี

การได้มีประสบการณ์เข้าร่วมประชุมทางวิชาการนานาชาติ เป็นการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักของนักวิชาการในระดับนานาชาติมากขึ้น

เมื่อมีการจัดงานประชุมทางวิชาการในลักษณะที่ข้ามศาสนา เขาจะหาผู้ที่จะเป็นตัวแทนของศาสนาต่างๆ ที่เขาได้เคยฟังการนำเสนอมาแล้วในการประชุมครั้งก่อนๆ เป็นน้ำหนักสำคัญในการที่จะออกจดหมายเชิญนักวิชาการที่จะมาร่วมงานในแต่ละครั้ง

ถ้าเป็นพุทธศาสนาสายเถรวาท และต้องการนักวิชาการผู้หญิง ผู้เขียนมักจะเป็นตัวเลือกเสมอ

 

การประชุมนานาชาติแต่ละครั้ง จะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคล นักวิชาการแขนงอื่นๆ ไปด้วยในตัว

ผู้เขียนผ่านกระบวนการการเรียนรู้ จากการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลดิบจากประสบการณ์ตรงในการพัฒนาตนเองในการทำงาน นับตั้งแต่การเขียนบทความตามที่เจ้าภาพต้องการ และการนำเสนอ

หลายปีมาก ก่อนที่จะเข้าใจว่า บทความที่เขียน กับการนำเสนอต้องเป็นคนละชุดกัน

นักวิชาการหลายคนยังติดรูปแบบของการนำเสนอบทความโดยการอ่านจากบทความที่เขียน อันนี้ไม่เวิร์ก

เราต้องหยิบประเด็นสำคัญจากบทความที่เราเขียนนั้นมานำเสนอเป็นคำพูด

พูดกับผู้ฟัง สมัยนี้หากมีภาพประกอบจะช่วยผู้ฟังได้มาก

การเรียนรู้ตรงนี้ใช้เวลาหลายปีอยู่ ที่เรายังเป็นรองเพราะการประชุมระดับนี้ใช้ภาษาอังกฤษ

เราที่มีภาษาแม่ต่างไปจากภาษาอังกฤษ จึงต้องมีความพยายามเป็นสองเท่า

กว่าที่จะมาถึงจุดที่เราสามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยความรู้สึกสบายๆ เป็นตัวของเราเอง

 

มีการประชุมครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ฝ่ายผู้จัดงานไม่รู้จักผู้เขียนมาก่อน แต่ต้องการนักวิชาการที่จะตอบโจทย์เรื่องอนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย

จดหมายเชิญน่าจะเวียนไปหลายมหาวิทยาลัย จนมาถึงอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งลงมาที่คณบดี จนมาถึงระดับภาควิชาสมัยนั้น จนมาถึงผู้เขียน

ถ้าย้อนไปพิจารณา ปีนั้น 1983 คือ พ.ศ.2526 เรียกว่า นักวิชาการทางด้านศาสนาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีความสามารถที่จะมองไปข้างหน้าได้อย่างเก่งกาจมาก เพราะช่วงนั้น นอกจากมารดาของผู้เขียนแล้ว ก็ยังไม่มีภิกษุณีไทยรูปอื่นด้วยซ้ำ

เมื่อผู้เขียนออกบวช มาเป็นภิกษุณีธัมมนันทา ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฐานความเป็นนักวิชาการในวงการศาสนาระดับนานาชาติที่มีมาแต่เดิมของผู้เขียนย่อมส่งให้เกิดผลประโยชน์โดยตรงกับการเป็นภิกษุณีของท่านธัมมนันทา

และสนับสนุนวงการภิกษุณีสงฆ์ไทยโดยรวมด้วย

เมื่อมาเป็นภิกษุณีธัมมนันทาก็อยู่ไม่ได้ หากขาดการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ นับตั้งแต่การอุปสมบท ก็ต้องออกไปต่างประเทศ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ล้วนแต่อิมพอร์ตเข้ามาทั้งนั้น หากเราไม่สามารถติดต่อกันได้ด้วยภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลาง ภิกษุณีสงฆ์ไทยก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

เมื่ออุปสมบทแล้ว อยู่รูปเดียวไม่ได้อีก ต้องมีสังฆะรองรับ ก็ในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีภิกษุณีรูปอื่น เมื่อต้องทำสังฆกรรมก็ต้องอิมพอร์ต คือนิมนต์ภิกษุณีต่างชาติมาร่วม

อันนี้ด้วยบารมีของในหลวงบนธนบัตรก็ช่วยได้มาก

 

ปัญหาของภิกษุณีที่ยังไม่มีสังฆะนี้ เป็นปัญหาร่วมกันในช่วงการเริ่มต้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย นี้เจาะจงพูดเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ภิกษุณีสงฆ์ในแต่ละประเทศต้องอิงอาศัยกัน

ในสังฆกรรมทั้งหลาย ตั้งแต่สวดปาติโมกข์ที่ต้องทำเดือนละ 2 ครั้ง ช่วง 2 พรรษาแรก ท่านธัมมนันทานิมนต์พระอาจารย์ของท่านจากศรีลังกามาจำพรรษาด้วยเลย เปิดโอกาสให้ภิกษุณีต่างชาติที่อุปสมบทแล้วยังไม่ได้รับการอบรมทางพระวินัยมารวมตัวกันเป็นสังฆะในประเทศไทยนี่เอง

ในการบันทึกประวัติศาสตร์ก็บอกได้ว่า การสวดภิกษุณีปาติโมกข์ครั้งแรกในประเทศไทยกระทำที่วัตรทรงธรรมฯ จ.นครปฐม โดยภิกษุณีนานาชาติ พ.ศ.2546

ในการรับกฐิน สมมติสีมา ภิกษุณีสงฆ์นานาชาติก็ให้ความร่วมมือซึ่งกันละกัน เพื่อรักษาพระวินัยให้งดงาม

ในทั้งสามประเทศนี้ ภิกษุณีสายเถรวาทเพิ่งกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือกรรมวาจา บทที่ใช้สวดในสังฆกรรมต่างๆ วัตรทรงธรรมกัลยาณี ในประเทศไทยพยายามที่จะสร้างตำรารวบรวมบทที่ใช้สวดให้เป็นอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นปาติโมกข์ สมมติสีมา รับกฐิน ฯลฯ ทั้งหมดต้องเป็นบาลีอักษรโรมัน เพื่อให้ใช้ร่วมกันได้เวลาที่ภิกษุณีนานาชาติในสายเถรวาทมาทำพิธีร่วมกัน

ผู้เขียนระลึกถึงคุณูปการที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานไว้

ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่ทำให้คนไทยรู้จักกับการเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน ทรงมีความรู้ในภาษาสันสกฤตอย่างดี

เราจะเห็นว่าในช่วงที่ครองราชย์เพียง 15 ปี ได้พระราชทานนามสกุลให้แก่ข้าราชการถึง 6,0000 กว่านามสกุล ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต และจะมีอักษรโรมันกำกับทั้งสิ้น

ภิกษุณีต่างชาติเมื่อมาอยู่ด้วยกัน ร่วมสังฆกรรมด้วยกัน ต้องใช้บทสวดภาษาบาลีอักษรโรมันทั้งหมดต้องเรียนรู้กันใหม่ทั้งสิ้น

 

สําหรับเวียดนามนั้น ภิกษุณีหลิวฟับที่เป็นผู้นำสงฆ์ ท่านมีพระอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุผู้ใหญ่สนับสนุนและให้ทิศทางว่า เพราะภิกษุณีเป็นเรื่องใหม่ ตัวภิกษุณีเองต้องมีการศึกษาที่ดี ท่านจึงสนับสนุนให้ลูกศิษย์ที่เป็นภิกษุณีได้รับการศึกษาที่ดี

ท่านหลิวฟับจบปริญญาเอกทางบาลีจากอินเดีย จึงเป็นกำลังสำคัญของภิกษุณีสงฆ์นานาชาติด้วย

กรรมการมหาเถรสมาคมนอกจากไม่อนุญาตให้ภิกษุไทยบวชภิกษุณีตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ พ.ศ.2471 แล้ว เมื่อ 2557 ยังเพิ่มว่าไม่ให้มีการจัดการอุปสมบทในประเทศไทยเข้าไปอีก

หากผู้หญิงไทยต้องการจะอุปสมบทก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศอย่างเดียว

ประเทศที่เป็นที่เกิดของภิกษุณีในปัจจุบัน คือ ศรีลังกา ขณะนี้มีประชากรภิกษุณี 1,000 กว่ารูปแล้ว

การจัดการอุปสมบทที่จะต้องนิมนต์พระภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ก็สะดวก ด้วยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพระภิกษุสงฆ์ทั้งในนิกายสยามวงศ์ และอมรปุระ

สำหรับศรีลังกานั้น มีสามนิกาย นอกจากสยามวงศ์ และอมรปุระ ก็มีนิกายรามัญญะ นิกายสุดท้ายนี้ มีรากฐานมาจากมอญที่อยู่ในพม่า

พระในนิกายรามัญญะก็มาเข้าร่วมเป็นพระอันดับในการอุปสมบทภิกษุณีเหมือนกัน

 

ภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศเช่นนี้ นับแต่การอุปสมบท การฝึกอบรม การเข้าพรรษา การทำสังฆกรรม ต้องอิงอาศัยกันระหว่างประเทศทั้งสิ้น

การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทไม่จำกัดเฉพาะประเทศไทย แม้ในประเทศอื่นๆ ก็ต้องอาศัยการติดต่อกับต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้งภิกษุและภิกษุณีสงฆ์

ต้องขอบคุณเอกลักษณ์ของสายเถรวาทที่เน้นกรรมวาจา คือบทสวดในพิธีกรรมต่างๆ ต้องเป็นภาษาบาลีเท่านั้น แม้ว่าจะต่างกันในภาษาพูด แต่เมื่อมาร่วมกันในการทำสังฆกรรมก็ยังร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณีชาติใดๆ

เมื่อพระมหินท์เถระไปสืบพระศาสนาที่ศรีลังกานั้น ท่านกล่าวไว้ว่า พระศาสนาจะนับว่าประดิษฐานในประเทศนั้นได้แล้วก็ต่อเมื่อกุลบุตรกุลธิดาของประเทศนั้นๆ สามารถเป็นผู้ให้การอุปสมบทเองแก่ผู้ขอบวชในประเทศนั้นๆ

เช่นนี้จึงจะถือว่า การประดิษฐานพระศาสนานั้นมั่นคง

 

ภิกษุณีสงฆ์ก็อยากจะทำให้มั่นคง อยากจะจัดการอุปสมบทให้แก่กุลสตรีในประเทศไทย ในดินแดนที่ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีชาวพุทธเป็นประชากรสูงที่สุดในโลก แต่ยังติดขัดอยู่ด้วยคำสั่งของกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ.2557 ที่ห้ามมิให้มีการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทในดินแดนแห่งนี้…ประเทศไทย

เช่นนี้ การติดต่อกับต่างประเทศ กับภิกษุ ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาก็ดี ในอินเดียก็ดี ยังมีความจำเป็น

และเราก็ยังไม่สามารถประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ได้อย่างมั่นคงตามความหมายของพระมหินท์เถระ ตราบเท่าที่เรายังต้องอิมพอร์ตภิกษุณีมาจากต่างประเทศ ยังไม่มีภิกษุณีที่ made in Thailand

รูปที่บวชในเมืองไทยก็มี แต่ไม่กล้าแสดงตัว เพราะการบวชนั้น ขัดคำสั่งของมหาเถรสมาคม

อันนี้อยู่นอกเหนือความสามารถของเราแล้ว

ขอพระภิกษุสงฆ์ไทยได้โปรดพิจารณาเคารพในพุทธานุญาตที่ให้กุลสตรีสามารถออกบวชเป็นภิกษุณีได้ ตั้งแต่ 2,500 กว่าปีก่อนโน้น และที่สำคัญ พระคุณเจ้าที่เป็นพระภิกษุ พุทธานุญาตนั้น ให้ไว้แก่ภิกษุสงฆ์ให้บวชภิกษุณี