เกษียร เตชะพีระ | 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาจัดโดยมติชน, 3 กรกฎาคม 2563

เมื่อ 6 ปีที่แล้วในงานเสวนา “นิธิ 20 ปีให้หลัง” เพื่อเปิดตัวหนังสือชุดรวมงานเขียน 4 เล่มของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในโอกาสตีพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์มติชน วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2557 ท่านได้กล่าวสรุปปิดท้ายตอนหนึ่งว่า :

“ผมเป็นนักเล่นนาฬิกา สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท ทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาเก่าที่ยอมเสียเงินไปซ่อม และซื้อมาในราคาที่ค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า นาฬิกามีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ คุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ คุณหมุนมันกลับไปได้เลย ถ้าเป็นนาฬิกาข้อมือที่มีวันที่ ก็หมุนวันที่ย้อนกลับไปให้เราได้ด้วย แต่ข้อเสียมีอยู่อีกอย่างก็คือ ถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็เดินก้าวหน้าต่อไม่ยอมหยุด เดินไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง…

“วัฒนธรรมที่เป็นจริงได้เปลี่ยนไปมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ “วัฒนธรรม” ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทย คือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันมาก่อน แน่นอน ครูกับศิษย์ในตอนนั้นก็ไม่เหมือนครูกับศิษย์ในตอนนี้ ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนเสมอคือ วัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ…

“รูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝังของคนบางกลุ่มบางเหล่าอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย

“หมายความว่าการมองชีวิตเป็นวงกลมแบบรามเกียรติ์หรือหนังไทยเมื่อ 20 ปีมาแล้วไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉยๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม … สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉยๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่นๆ ด้วย ผมยอมรับว่า 20 ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในตอนนี้คิดว่ามองประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ…

“ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป ในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรวาทการอยู่ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอยวัฒนธรรมกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว มันยังเดินต่อไปได้อีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอ”

(https://thaipublica.org/2014/12/nithi-twenty-years-later/)

ต่างกรรมต่างวาระกันในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อาจารย์นิธิได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างเฉียบแหลมบ่อยครั้ง ท่ามกลางความไม่เปลี่ยนแปลงและยึดติดค้างเติ่งต่อคำตอบเดิมของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยต่อกระแสภาวะทันสมัยจากภายนอกเพื่อรักษาระเบียบอำนาจไทยไว้ อาทิ :

“ความคิดเรื่อง “ชาติ” ทั้งในโลกตะวันตกหรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านเองคือหน่วยการเมืองซึ่งพลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม ย่อมไม่ผุดไม่เกิดในสังคมไทย เพราะ “ชาติ” ของไทยกลายเป็น “ความเป็นไทย” ไปแล้ว ซึ่งทุกคนอาจมีไม่เท่าเทียมกัน”

(“แนวคิดประชาธิปไตยของอนุรักษนิยมไทย,” มติชน, 19 มิถุนายน 2560)

“สิ่งที่เคยถือว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ก็เสื่อมความยอมรับไปมากขึ้นตลอดมา คำกล่าวว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ นั้น ถึงจะถูกนักปราชญ์แต่ก่อนโจมตีมาตลอดว่า ทำให้วงการสงฆ์ไทยเลื่อนเปื้อนโดยสังคมไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งก็จริงแน่ แต่พระสงฆ์นั้นอยู่ในแดน “ศักดิ์สิทธิ์” จึงยากที่จะให้ชาวบ้านกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในความคิดของคนไทยปัจจุบัน พระสงฆ์ได้เลื่อนหลุดออกมาจากแดนศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว

“อย่าว่าแต่พระสงฆ์เลย แม้แต่พระพุทธและพระธรรมก็กำลังเลื่อนออกมาจากแดนนั้นเหมือนกัน”

(“ความเปลี่ยนแปลง,” มติชนสุดสัปดาห์, 19-25 มิถุนายน 2563)

รวมทั้งสิ่งที่อาจารย์นิธิเรียกว่าหน้าใหม่ทางประวัติศาสตร์ของระบอบการเมืองการปกครองไทยที่เปิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วอย่างไม่มีชื่อ ไม่รู้จะระบุนามระบอบหัวมังกุท้ายมังกรนี้ให้ถูกต้องตามหลักความชอบธรรมของรัฐศาสตร์อย่างไร

(“หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์”, 29 กันยายน 2562, https://prachatai.com/journal/2019/09/84547)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ผมนึกถึงข้อความคล้องจองของนักประวัติศาสตร์หญิงชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้ระบุถึงจังหวะแห่งความลักลั่นขัดแย้งเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไว้เช่นกัน

ขออนุญาตอ้างอิงนำมาปิดท้ายบทความชุดนี้ :

“ช่องว่างระหว่างหลักปกครองของคริสต์ศาสนายุคกลางกับชีวิตประจำวันเป็นกับดักหลุมพรางอันยิ่งใหญ่ของยุคกลางนั้นเอง มันเป็นปัญหาที่เดินเรื่องอยู่ตลอดงานประวัติศาสตร์ของกิ๊บบอนซึ่งเขาจัดการกับมันด้วยท่าทีขี้เล่นแบบประสงค์ร้ายอย่างแนบเนียน โดยจิกเจาะทุกจังหวะต่อสิ่งที่ดูเหมือนเป็นมารยาสาไถยของอุดมคติคริสเตียนในฐานที่ตรงข้ามกับปกติวิสัยของธรรมชาติมนุษย์

“ระบบอัศวินอันเป็นความคิดหลักของชนชั้นปกครองก็ทิ้งช่องว่างระหว่างอุดมคติกับการปฏิบัติไว้ใหญ่หลวงพอๆ กับศาสนานั่นแหละ อุดมคติของระบบอัศวินได้แก่วิสัยทัศน์ของระเบียบที่ธำรงรักษาไว้โดยชนชั้นนักรบและสรุปเป็นสูตรขึ้นไว้ด้วยภาพลักษณ์ของโต๊ะกลมอันเป็นรูปทรงสมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติ บรรดาอัศวินของกษัตริย์อาเธอร์ผจญภัยเพื่อสิ่งถูกต้องดีงามโดยต่อกรกับมังกร พ่อมดและคนชั่ว แล้วสถาปนาระเบียบขึ้นมาในโลกอันปั่นป่วนวุ่นวาย ฉะนั้น บรรดาอัศวินในชีวิตจริงจึงถูกคาดหมายในทางทฤษฎีให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องศรัทธาศาสนา ผู้ยึดมั่นความยุติธรรม และแชมเปี้ยนของผู้ถูกกดขี่

“ทว่า ในทางปฏิบัติ พวกอัศวินกลับกลายเป็นผู้กดขี่เสียเอง และพอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ความรุนแรงและไม่มีขื่อแปของคนถือดาบก็กลายเป็นตัวการใหญ่ของความไร้ระเบียบแทน เมื่อช่องว่างระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงถ่างกว้างเกินไป ระบบก็มีอันพังทลายลง ตำนานและนิทานสะท้อนความข้อนี้ออกมาเสมอ ในนิยายวีรคติเรื่องอาเธอร์ โต๊ะกลมก็แตกพังจากภายใน ดาบวิเศษถูกนำกลับไปยังทะเลสาบและต้องเริ่มต้นความพยายามกันใหม่หมดอีกที แต่ถึงแม้คนเราจะมีสันดานรุนแรง ชอบทำลาย โลภโมโทสันและชั่วร้ายได้ถึงเพียงใด ทว่าเขาก็ยังรักษาวิสัยทัศน์ของระเบียบเอาไว้และออกแสวงหามันต่ออีก”

(Barbara Tuchman, A Distant Mirror : The Calamitous 14th Century, 1978)