กาแฟดำ | เมื่อปริญญาไร้ความหมาย มหาวิทยาลัยก็ล่มสลาย

สุทธิชัย หยุ่น

วันก่อนอ่านเจอข่าวว่าอีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ SpaceX ประกาศรับคนทำงานรุ่นใหม่พร้อมบอกว่า

ไม่ต้องมีปริญญา

ขอให้ทำงานได้เท่านั้น

ตรงกับที่หลายคนอ่านตรงกันว่ามหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่

นั่นคือผลิตคนจบอุดมศึกษาออกมาแล้วไม่มีงานทำ

แต่ขณะเดียวกันบริษัทห้างร้านร้องว่ามีตำแหน่งมากมายแต่หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไม่ได้

นี่คือ “ช่องว่าง” แห่งระบบการศึกษาที่กำลังจะแสดงอาการหนักขึ้นทุกวัน

เพราะการปฏิรูปการศึกษาของเราล้มเหลวมาตลอด

ยิ่งมีข่าวว่าเด็กจบมหาวิทยาลัยปีใหม่นี้จะตกงานกันหลายแสนคนเพราะปะเหมาะกับจังหวะวิกฤตโควิดด้วยแล้วก็ยิ่งเห็น “นรก” อยู่ข้างหน้าสำหรับคนรุ่นใหม่จริงๆ

ทําไมนักบริหารระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลใหญ่โตอย่างอีลอน มัสก์ จึงประกาศว่าเขาต้องการคนที่ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปริญญา

หมายความว่าคนที่จบปริญญาอาจจะทำงานไม่ได้ใช่ไหม

หรือเป็นเพราะประสบการณ์ของเขาบอกเขาว่าคนมีปริญญาไม่ได้ถูกสอนให้ทำงานเป็น

หรือเด็กเรียนอาชีวะหรือทักษะเฉพาะด้านจะเหมาะสมกับหน้าที่งานการมากกว่า

ข่าวชิ้นนี้บอกว่า

Elon Musk ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Tesla ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเปิดรับสมัครพนักงานเข้ามาร่วมงานในทีมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)

Musk เปิดเผยคุณสมบัติที่ต้องการผ่าน Twitter ของเขาว่า ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาใดๆ เลยก็ได้ แม้แต่วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย (High School)

ข้อความในทวิตเตอร์ของเขาเขียนว่าอย่างนี้

“At Tesla, using AI to solve self-driving isn”t just icing on the cake, it”s the cake” – @lexfridman

Join AI at Tesla! It reports directly to me & we meet/email/text almost every day. My actions, not just words, show how critically I view (benign) AI.https://t.co/iF97zvYZRz

– Elon Musk (@elonmusk) February 2, 2020

อีลอน มัสก์ เขียนไว้ชัดเจนในทวิตเตอร์นี้ว่าให้สมัครตรงไปที่เขาเลย

นั่นแปลว่าไม่ต้องเขียนใบสมัคร ไม่ต้องเขียนเรียงความให้ไพเราะเสนาะหู ไม่ต้องบอกว่าสอบผ่านปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยด้วยคะแนนเท่าไหร่

ไม่ต้องบอกว่าได้รับเกียรตินิยมอะไรบ้าง

เรียนจบมัธยมก็ยังได้เลย ไม่มีปัญหา

แต่ผู้สมัครทุกคนต้องผ่านการทดสอบเกี่ยวกับการเขียนโค้ดอย่างเข้มข้น

เพื่อวัดระดับความเข้าใจด้าน AI

เพราะเขาต้องการคนที่มีความเข้าใจด้าน AI อย่างลึกซึ้งเข้ามาร่วมทีม

หรือไม่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง

อีลอน มัสก์ เคยระบุเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เขาต้องการให้มาร่วมงานกับ Tesla ว่าการศึกษามหาวิทยาลัยอาจเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสามารถของคน

แต่บางครั้งก็อาจไม่จำเป็นเสมอไป

ว่าแล้วเขาก็ยกตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายคนที่ไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

เช่น Bill Gates, Larry Ellison และ Steve Jobs

เขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ผ่านการศึกษาแม้แต่ระดับปริญญาตรี

แต่เพราะมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นสูง จึงสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับโลกได้

เขาสรุปว่า “ดังนั้น การจ้างคนที่ไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอาจเป็นเรื่องดีก็ได้”

หัวใจของเรื่องคือคนที่เขาต้องการคือคนที่ “ทำงานได้” หรือไม่ก็ “พร้อมจะเรียนรู้เพื่อจะทำงานให้ได้”

เขาบอกด้วยว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ “พื้นที่แห่งการเรียนรู้”

แต่ควรเป็น “พื้นที่แห่งความสนุกสนาน” ต่างหาก

เพราะ “ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ความสามารถ”

เขาเชื่อว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะ “เรียนรู้” สิ่งใหม่ๆ

เหตุเพราะความรู้พื้นฐานหลายเรื่องในยุคนี้เข้าถึงได้ฟรี

เอาเข้าจริงๆ แล้วสถานศึกษาเป็นพื้นที่ของการสั่งการบ้านที่แสนน่าเบื่อต่างหาก

“ผมคิดว่าเหตุผลหลักๆ ของการไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็คือการไปทดลองใช้ชีวิตร่วมกับคนที่มีอายุใกล้ๆ กันก่อนที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานจริงมากกว่า”

สําหรับบริษัทของเขาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ Tesla หรือ SpaceX เขาบอกเลยว่า ไม่สนใบปริญญา ไม่ต้องจบสูงเป็นด๊อกเตอร์ ถ้ามีความสามารถ ดีกรีระดับมัธยมก็รับเข้าทำงานได้

ในความเห็นของเขา ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจควรทำให้สิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน

โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีสถานะทางสังคมด้อยกว่าคนอื่นควรจะได้รับความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการการศึกษาที่ดีอย่างทัดเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม

ถ้าหากผู้บริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของไทยคิดแบบเดียวกับอีลอน มัสก์ นั่นย่อมแปลว่าสถาบันการศึกษาของไทยกำลังถึงกาลใกล้ล่มสลาย

แต่ก่อนเราเคยวิพากษ์ว่าระบบการเรียนการสอนของไทยสอนให้เด็ก “ท่องจำ”

วันนี้เด็กไทยไม่ท่องจำเพราะหาข้อมูลและความรู้ได้จากทุกๆ แห่งออนไลน์

แต่เราไม่ได้สอนให้เด็กไทยคิดเองวิเคราะห์เองหรือที่เรียกว่า critical thinking

เหตุก็เพราะครูและอาจารย์เองยังไม่ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจาก “ความป่วน” หรือ disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยี

เมื่อเด็กถูกท่วมด้วยข้อมูลแต่แยกแยะและวิเคราะห์ไม่ได้ อันตรายก็คือความสับสนและถูกชักจูงได้ง่าย

เมื่อระบบการเรียนการสอนปรับตัวจากการสอนสั่งตามตำราไปสู่การเรียนรู้และวิเคราะห์เองไม่ได้ ปริญญามหาวิทยาลัยก็ไม่มีประโยชน์อันใด

ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี, โทหรือเอกก็ตาม

เพราะจบมาแล้วนอกจากจะไม่มีทักษะที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงของตลาดแล้ว ก็ยังคิดเองวิเคราะห์เองและสร้างนวัตกรรมเองไม่ได้

เด็กจบมหาวิทยาลัยตกงานจำนวนมากก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่หนักหน่วงรุนแรงต่อมา

ช่วงบนคือผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยการที่เราเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มรูปแบบ

ช่วงล่างสุดคือจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง

ช่วงกลางคือกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดความรู้ความสามารถที่เหมาะสม

ช่วงกลางบนคือคนวัย 50-60 ที่ใกล้จะเกษียณ มีภาระหนักคือต้องดูแลพ่อแม่ที่เป็น baby-boomers

อีกด้านหนึ่งก็ต้องเลี้ยงดูลูกและครอบครัว

คนกลุ่มนี้ถูกกดดันทั้งจากข้างบนและข้างล่าง กลายเป็นกลุ่มคนที่มีภาระหนักที่สุด

ความเครียดจะเกิดขึ้นเมื่อคนวัย 50-60 นั่งลงบนโต๊ะอาหาร ด้านหนึ่งคือพ่อแม่สูงวัย อีกด้านหนึ่งคือลูกที่กำลังเรียนหนังสือและมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง

นี่คือ “วิกฤต” สังคมยุคดิจิตอลหลังโควิดที่แท้จริง

ตัวเลข “บัณฑิตว่างงาน” หรือ “บัณฑิตตกงาน” จะมีมากน้อยเพียงใดยังไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่คาดได้ว่าจะสูงที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

ตอนต้นปีผลการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตตกงานในปัจจุบัน หรือตกงานอยู่แล้วประมาณ 370,000 คน

ถึงเดือนมีนาคม 2563 คาดว่ามีบัณฑิตจบออกมาจากมหาวิทยาลัยอีก 3 แสนคน รวมแล้วเป็น 6 แสนคน

เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ติดลบสูงอย่างนี้ นั่นแปลว่าตัวเลขนักศึกษาตกงานต้องสูงกว่าที่เรารับทราบค่อนข้างแน่นอน

รัฐบาลบอกว่ามีการตั้งรับด้วย “โครงการยุวชนสร้างชาติ” เตรียมงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งที่จะรับมือกับปัญหาบัณฑิตตกงาน

และจะมีการรื้อฟื้น “โครงการบัณฑิตอาสา” คล้ายๆ โครงการของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในยุคก่อน

เตรียมงบฯ ไว้ 8,000 ล้านบาท รับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี จำนวน 50,000 คน ให้ลงไปพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ในอัตราเงินเดือน 10,000-15,000 บาท

แต่ทั้งหมดนี้เป็นโครงการแก้ปัญหา “เฉพาะหน้า” ทั้งสิ้น…ยังมองไม่เห็นว่าผู้อาสาเข้ามาแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองจะมีแผนการอะไรที่จะตั้งรับกับความปั่นป่วนของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

เมื่อคนรุ่นก่อนไม่รู้วิธีคิดวิเคราะห์ “นอกกรอบ”

จะมาแก้ปัญหาที่ “ไร้กรอบ” ได้อย่างไร