ทราย เจริญปุระ | ฉัน มัน เรา

เอาจริงๆ ฉันก็ไม่ได้ชอบการถกเถียง

มันน่าเบื่อ บางทีก็พ้นไปจากความรู้หรือความสนใจของฉัน บางทีก็วนไปวนมาซ้ำๆ ไม่ไปไหน บางทีเถียงๆ กันไป

กลายเป็นเปลี่ยนหัวข้อมาด่ากันเองก็มี

นี่คือสิ่งที่น่าเบื่อ

แต่ฉันชอบเวลามีคนเสนอความคิดเห็นต่างๆ เสนอเพราะต้องการให้รู้เพิ่ม เสนอว่ามีคนรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ด้วยนะ เสนอให้ได้ฟังและไม่ได้บังคับให้เชื่อตาม

นี่คือสิ่งที่สนุก

จริงๆ ใครจะเสนอ หรือจะถกเถียง หรือจะโกรธเกรี้ยวอะไรกันมันก็ไม่แปลกทั้งนั้น ตราบใดที่ไม่ไปตีไปต่อย หรือพูดจาข่มขู่หมายชีวิต คุกคามผู้คนรอบตัว

กระทั่งไปบังคับให้เขาต้องมาเห็นพ้องต้องกันกับเรา ฉันก็ว่าไม่สนุกเสียแล้ว

เพราะเอาเข้าจริงก็เป็นธรรมชาติของผู้คนที่จะไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ กระทั่งวิถีชีวิตหรือการให้คำนิยามอะไรต่างๆ ก็ยังแปลกกันออกไปตามที่เราโตมา หรือเรียนรู้มา

แต่กระทั่งโตมาด้วยกัน ในสังคมเดียวกัน ภายใต้กติกาเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน มนุษย์แต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันในรายละเอียด มันมีจุดร่วมบางอย่างที่ทำให้เรายังอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ไล่ฆ่าจนตายสูญพันธุ์ไปเสียก่อน

แล้วก็มีจุดต่างบางอย่างที่ทำให้คนแต่ละคนเป็นคนแต่ละคน เติบโตต่างที่มา สุดท้ายก็จะหากลุ่มหาพื้นที่ผู้คนของตัวเองจนเจอ

วันที่เขียนต้นฉบับนี่มีการชุมนุมสองที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน หนึ่งคือชุมนุมไทยภักดี สองคือชุมนุมสมุทรปราการดีดนิ้วไล่เผด็จการ

ทั้งสองกลุ่มเคยจัดการชุมนุมมาก่อนหน้านี้ และยังมีกำหนดจะจัดต่อจากนี้อีกด้วย

เรื่องเดียวกันแต่อ้างอิงข้อมูลเหมือนพูดกันจากคนละฝั่งโลกเป็นอย่างยิ่ง

อย่างเบาๆ ก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างรำคาญซึ่งกันและกัน ไม่เข้าใจว่าอีกฝั่งเขาพูดอะไร ทั้งที่ใช้ภาษาเหมือนกัน

อย่างหนักๆ ก็คือ มีความคาดหวังอันรุนแรงบางอย่างก่อตัวขึ้นในใจทั้งสองฝ่าย หมายจะให้ได้เห็นกันชัดๆ ไปเลย

“เรากำลังเผชิญกับโศกนาฏกรรมบทใหม่ โศกนาฏกรรมแห่งสามัญสำนึกทางจริยธรรม ผลลัพธ์ของความขัดแย้งระหว่าง “พวกเขา” และ “พวกเรา” ที่บางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ นั่นเพราะมนุษย์ไร้แล้วซึ่งศีลธรรมหรือ? เปล่าเลย แต่คือทั้ง “พวกเขา” และ “พวกเรา” ต่างยึดมั่นในศีลธรรมของกลุ่มตัวเองเกินไป จนมองไม่เห็นกันและกันต่างหาก”*

หนังสือ “พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” ใช้ตัวอย่างหลักเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ต่างพื้นที่ ที่ใช้กฎเกณฑ์แตกต่างกันออกไปในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งกติกาเหล่านั้นก็ปรับมาจากสภาพภูมิประเทศและความเชื่อร่วมกันในกลุ่มที่มีมาดั้งเดิม

และเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มต่างๆ ก็มาอยู่ใกล้กันมากขึ้น มีพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกันมากขึ้น

และต้องพัฒนาความรู้สึกใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือความอดทนต่อความเป็นอื่น

“แม้จะมีความแตกต่าง แต่เผ่าทั้งหลายในทุ่งหญ้าแห่งใหม่ก็มีค่านิยมหลักเหมือนกัน ไม่มีเผ่าใดยอมรับความเห็นแก่ตัวสุดขั้วของสมาชิก และไม่มีเผ่าใดคาดหวังว่าสมาชิกจะปราศจากความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิง แม้กระทั่งเผ่าทางใต้ซึ่งใช้ประโยชน์จากสัตว์ร่วมกัน คนงานก็ยังมีเวลาว่างยามเย็นเพื่อทำกิจธุระของตน ไม่มีเผ่าใดยอมให้สมาชิกทั่วไปพูดปด ลักขโมย หรือทำร้ายผู้อื่นได้ตามใจชอบ (อย่างไรก็ตาม บางเผ่าก็มีอภิสิทธิ์ชนบางคนที่มีอิสระทำตามอำเภอใจได้)”*

หลักความคิดทางจริยธรรมบางอย่างนั้นสามารถทั้งแบ่งแยกและผลักไสผู้คนไปได้จนสุดทาง ผลักไปถึงขอบเหว ก่อนที่แรงกดนั้นจะดีดกลับให้มาปะทะกันตรงกลาง

วิธีคิดที่คนมีมองคนไม่มี

วิธีคิดของคนที่ทำได้กับทำไม่ได้

มีการตัดสิน คำพิพากษา แนวคิด ความเชื่อซุกซ่อนอยู่ในความเป็นเรา คนบางคนเชื่อในสิทธิและความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่บางคนก็โยนทิ้งอย่างสิ้นเชิง แล้วหันไปมุ่งมั่นกับการเติบโตและกอบโกยแบบปัจเจก โดยเหตุผลของทั้งสองฝั่งก็ฟังดูดีพอๆ กัน เป็นไปได้จริงพอๆ กัน และมีตัวอย่างให้เห็นได้จริงเท่าๆ กัน

หนังสือนี้สนุกและชวนให้สับสนพอๆ กัน เราไม่เคยต้องสำรวจสิ่งเราเป็น หรือสิ่งที่เรา “คิด” ว่าเราเป็นทุกนาที เราทำอะไรไปตามสัญชาตญาณ ตัดสิน เลือก เชื่อ ชอบ ชังได้ในชั่วเสี้ยววินาที ความกระจัดกระจายของสิ่งต่างๆ ที่ประกอบมาเป็นตัวเราหล่อหลอมสัญชาตญาณทางจริยธรรมของเรา ซึ่งนั่นทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมองหลักจริยธรรมของเผ่าอื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ

และบางทีต่อให้เข้าใจก็ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย หรือจะเปลี่ยนแปลงตัวเรา

เราแค่เห็นพ้องต้องกันเพียงเพื่อไม่ให้ฆ่ากันตาย และเพื่อจะได้เหลืออะไรไว้ให้คนเบื้องหลังบ้าง ไม่ใช่แค่เศษซากของการปะทะที่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือเลย

เรามีทั้งคนอยากก้าวไปข้างหน้า มีคนที่อยากเดินถอยหลัง มีคนที่อยากอยู่เฉยๆ มีคนเดินถอยหลังที่บอกว่าตัวเองก้าวไปข้างหน้า มีคนอยู่เฉยๆ แล้วค่อยเลือกข้างที่น่าสนใจกว่า

หนังสือให้ 6 ข้อง่ายๆ ที่สามารถจะปฏิบัติได้จริงสำหรับสังคมปัจจุบัน ซึ่งที่แท้แล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสังคมมนุษย์ยุคเริ่มต้นที่รวมกันจากเผ่าพันธุ์เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า

1. เมื่อเผชิญกับข้อขัดแย้งทางศีลธรรม จงปรึกษาสัญชาตญาณเชิงจริยธรรมของคุณ แต่อย่าไว้ใจมัน

2. สิทธิ์ไม่ได้มีไว้สำหรับเป็นข้อโต้แย้ง มันมีไว้เพื่อยุติการโต้แย้ง

3. มุ่งความสนใจอยู่ที่ข้อเท็จจริง และให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน

4. ระวังความเที่ยงธรรมที่เจืออคติ

5. ใช้หลักการร่วม

6. ให้

หกข้อนี้สามารถใช้ได้กับทุกหลักจริยธรรมที่คุณยึดถือ มันกว้างขวางและครอบคลุมพอสำหรับทุกๆ ความเชื่อและการถกเถียง ฉันว่ามันเป็นหกข้อที่สมเหตุสมผล แม้บ่อยครั้งที่เราต่างอยากจะแอบเติมข้อ 7 เข้าไปว่าช่างแม่มัน แต่อย่าเลย, ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไล่จากข้อ 1-6 ก่อนก็ไม่ยากเย็นจนเกินไป

จากการชุมนุมของกลุ่มไทยภักดี มีคนกล่าวอ้างถ้อยคำของอลิซาเบธ วอร์เรน, วุฒิสมาชิกแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์, อเมริกา ว่าเธอเคยกล่าวเอาไว้ ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ได้เพราะมีประชาธิปไตย หรือเพราะมีรัฐธรรมนูญ และถ้อยคำใกล้เคียงดังอ้าง ซึ่งก็คงจะต้องนำมาถกเถียงกันต่อไป แม้จะมีคนบอกว่าชั่วชีวิตของมิสซิสวอร์เรนไม่มีอะไรเฉียดใกล้ต่อการอภิปราย หรือกระทั่งจะเปรยถึงไทยเลยก็ตาม (อ้างอิงจาก : http://www.thaipost.net/main/detail/75968)

ดังนั้น ฉันจะขออ้างถึงช่วงหนึ่งของการปราศรัยในการหาเสียงครั้งแรกของเธอ ที่กล่าวแสดงแนวคิดเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง คำปราศรัยดังกล่าวแพร่สะพัดบนยูทูบ และทำให้มีคนออกมากล่าวต้านมากมาย (คลิป Ron Paul กล่าวต้านคำปราศรัยของวอร์เรน : https://youtu.be/vp9p9h4amGg) บ้างเรียกเธอเป็นนักสังคมนิยม เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นปรสิตที่เกลียดเจ้าบ้านของตนเอง

…ฟังดูคุ้นๆ จริงไหม…

เอาละ, มิสซิสวอร์เรนกล่าวไว้ว่า

“ไม่มีใครในประเทศนี้ที่ร่ำรวยด้วยตนเอง ไม่มีหรอก คุณสร้างโรงงานขึ้นมาหรือ ดีแล้ว แต่ขออธิบายให้ชัดเจนหน่อย คุณขนส่งสินค้าของคุณไปยังตลาดโดยใช้ถนนซึ่งพวกเราที่เหลือเป็นคนจ่ายเงินสร้าง คุณจ้างแรงงานซึ่งพวกเราที่เหลือเป็นคนจ่ายเงินให้ได้ร่ำเรียน คุณปลอดภัยอยู่ในโรงงานเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งพวกเราที่เหลือเป็นคนจ่ายเงินเดือน คุณไม่ต้องกังวลว่าโจรจะเข้ามายึดทุกอย่างในโรงงานของคุณ…ทีนี้นะ คุณสร้างโรงงานและมันกลายเป็นกิจการที่รุ่งเรืองหรือเป็นโครางการที่ยอดเยี่ยม คุณโชคดีจริงๆ! ตักตวงได้เลย แต่ส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางสังคมก็คือ คุณตักตวงความร่ำรวยนั้น และแบ่งปันให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา”*

ใช่ แบ่งปัน

ตรงกับข้อ 6 ของกติกาทางจริยธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่

การให้นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการให้เงินทอง

แต่รวมถึงการให้โอกาส ให้พื้นที่ ให้ถ้อยคำของผู้คนรุ่นใหม่ได้เอ่ยพูด ให้รับฟัง และให้เขาได้เลือกเส้นทางของตัวเอง

“พวกฉัน พวกมัน พวกเรา” (Moral Tribes) เขียนโดย Joshua D.Greene แปลโดยวิลาสินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ SALT, กรกฎาคม 2563

*ข้อความจากในหนังสือ