เพลงเพื่อชีวิต ระดับโลก-ระดับชาติ และข้อหา “ชังชาติ”

เมื่อศิลปินมองเห็นภาพอัปลักษณ์ ความไม่เป็นธรรม หรือความประทับใจต่างๆ ผลงานที่ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพเขียน เพลง หนัง จะสะท้อนมุมมองและแนวคิดในเรื่องเหล่านั้น

สำหรับศิลปินนักดนตรี ก็คือการผลิตเพลงสะท้อนความคิดตนเอง ส่วนจะไปทำหน้าที่อย่างไรในการเคลื่อนไหว กิจกรรม ก็แล้วแต่เนื้อหา ทำนอง รูปแบบของเพลงนั้น

ในเวทีประท้วงแฟลชม็อบ ดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากคือ ฮิปฮอป ที่ศิลปินจะแร็พหรือร้องเนื้อหาของเพลงออกมาเป็นคำคล้องจอง

ต้นกำเนิดมาจากคนผิวดำในอเมริกาและแพร่กระจายไปทั่ว นักวิจารณ์ระบุว่า ในปัจจุบันนี้ต้องถือว่าเพลงฮิปฮอปมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุด แต่ถ้ามองภาพรวม เพลงประท้วง เพลงการเมือง มาในรูปของสไตล์ดนตรีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ซ โฟล์ก ฟังก์ ร็อก ฯลฯ

ในต่างประเทศ เพลงประท้วงหรือ Protest Songs ปรากฏออกมาเป็นระยะ ตามสภาพปัญหา บางทีก็ทำออกมาเฉพาะกิจ อาทิ ในห้วงเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้สมัครที่มีนโยบายในแนวขวาจัด มักเป็นเป้าหมายของเพลงประท้วง

ปัจจุบันหลายสำนัก หลายเว็บดนตรี ได้ทำบัญชีหรือลิสต์เพลงประท้วงออกมาไว้มากมาย

1ในเพลงที่ถือว่าเป็นยอดนิยมของเพลงประท้วงก็คือ Strange Fruit เพลงจากปี 1939 ของบิลลี่ ฮอลิเดย์

เพลงนี้มาจากบทกวี Bitter Fruit ของเอเบล มีโรโปล (Abel Meeropol) ครูผิวขาวชาวยิว เผยแพร่เมื่อปี 1937 แต่งขึ้นหลังจากเห็นรูปคนผิวดำโดนแขวนคออยู่บนต้นไม้ ก่อนจะทำเป็นเพลง

บิลลี่ ฮอลิเดย์ นำเพลงนี้มาร้องในคลับ “คาเฟโซไซตี้” เมื่อปี 1939 ด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ เกรงจะเกิดการตอบโต้ และด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีกฎให้ฮอลิเดย์ร้องเพลงนี้ในช่วงปิดท้ายโชว์ โดยออกเป็นกฎให้เธอร้องเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้าย

เมื่อฮอลิเดย์จะบันทึกเสียงเพลงนี้ โคลัมเบียต้นสังกัดให้เธอไปบันทึกเสียงกับค่ายอื่น

เพลงนี้ออกจำหน่ายและขายไป 1 ล้านชุด ปี ค.ศ.1940 เอเบล มีโรโปล ต้องไปให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนพฤติกรรมอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์

และมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า พรรคคอมมิวนิสต์จ้างให้เขียนเพลงนี้

อีกหลายเพลงที่มีฐานะเป็นเพลงประท้วง อย่าง This Land Is Your Land ของศิลปินโฟล์ก วู้ดดี้ กัทธรี ในปี 1944 หลังจากฟังเพลงยกย่องอเมริกาอย่าง God Bless America ของเออร์วิงเบอร์ลิน

กัทธรีเขียนเพลงชื่นชมความงามและธรรมชาติของอเมริกา และตั้งคำถามเกี่ยวกับโอกาสที่คนอเมริกันจะมีสิทธิในผืนแผ่นดิน ปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียม

กระแสชื่นชมเพลงนี้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเพลงสะท้อนความรักชาติและร้องกันตามแคมป์ไฟร์ การรณรงค์ และตามโรงเรียน

พีท ซีเกอร์ และบรูซ สปริงส์ทีน ร้องเพลงนี้ในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยืนยันความหมายและข้อเรียกร้องที่ส่งต่อมาจากยุคก่อนโน้น

เพลงประท้วงระดับขึ้นหิ้งอีกเพลงคือ Masters of War เพลงจากปี 1963 โดยบ๊อบ ดีแลน ขณะอายุ 21 ที่กลายมาเป็นเพลงคนกับควาย เมื่อปี 2517

ยังมีเพลงประท้วงอีกหลายเพลงที่เขียนวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่คิดไปว่าตัวเองคือ “ชาติ” เปิดโปงความโหดร้ายของสังคมประเทศตนเอง แฉพฤติกรรมของรัฐตัวเอง เป็นเรื่องที่ทำกันตามปกติ

ถ้าเป็นในบางประเทศ อาจเจอข้อหา “ชังชาติ” ได้ง่ายๆ ทั้งจากผู้ถืออำนาจรัฐและศิลปินด้วยกันเอง