โลกทรรศน์ : แม่น้ำโขงกับจีน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บริษัทจีนได้ติดต่อสำรวจแม่น้ำโขงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเดินเรือ เพื่อเสนอแผนนี้ต่อกรมเจ้าท่าของประเทศไทย

หนังสือพิมพ์ Bangkok Post รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าของไทยได้รับแผนงานจากบริษัท CCCC Second Harbour Consultants เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560

 

พัฒนาการ

บริษัทสำรวจของจีนคือ CCCC Second Consultants ได้ยื่นแผนสำรวจแม่น้ำโขงนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีไทยอนุมัติแผนพัฒนาการเดินเรือนานาชาติ บนลานชาง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong -2015-2025) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เป็นกรอบเพื่อความปลอดภัยด้านการขนส่งทางน้ำตลอดแม่น้ำโขง (1)

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ บทบาทของจีนในแม่น้ำโขงทั้งด้านการขนส่ง การเดินเรือ การท่องเที่ยวซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ของทางการรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่น่าสนใจตรงนี้คือ การสำรวจเชิงเทคนิคของการเดินเรือโดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยและ สปป.ลาวใกล้เมืองเชียงของของไทย ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ และนั่นหมายความว่า สำรวจแม่น้ำโขงส่วนที่เป็นเขตแดนของเมียนมาด้วย

แต่จะคิดหรือว่า แม่น้ำโขงไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางเรือในรูปแบบต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในแง่แผนงานการสำรวจของเรือจีนบนแม่น้ำโขง ทางผู้สำรวจแจ้งว่าเป็นการริเริ่มปรับปรุงการเดินเรือทางน้ำบนแม่น้ำโขง รวมทั้งการสำรวจต่างๆ และแผนงานอื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต

นั่นหมายความว่า แผนงานอื่นๆ มีแน่ แต่ตอนนี้ไม่บอกให้รู้ หากทำงานระดับเทคนิคกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและระดับกรมของไทยเลย

ตามรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ไทยบอกว่า บริษัทจีนตั้งใจทำการสำรวจส่วนของแม่น้ำโขงระหว่างประเทศ สปป.ลาวและไทย แม้ว่าทางคณะรัฐมนตรีของไทยได้ให้ทางกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลักติดตามแผนการสำรวจ แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังคงต้องปรึกษาหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ของไทย รวมทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมศุลกากร

กรมเจ้าท่ายังจะเชิญนักวิชาการและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมในทีมงานอีกด้วย แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด

 


เริ่มสำรวจแล้ว

กองเรือของบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทางการจีนจ้างให้ทำการสำรวจเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ที่ผ่านจังหวัดเชียงรายรวม 15 จุด ระยะเวลาในการสำรวจรวม 55 วัน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า (2) ก่อนจะสรุปในการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อปรับปรุงร่องน้ำโขง

จุดสำรวจห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กว่า 2 กิโลเมตร โดยการสำรวจมีทั้งด้านชลศาสตร์ ด้วยการสำรวจร่องน้ำ ความเร็ว โขดหิน ต้มไม้และด้านวิศวกรรม เรือบางลำของบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด มีการขุดเจาะชั้นหินและดินมาสำรวจด้วย

มีการคัดค้านจากภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อแสดงออกด้วยการคัดค้านให้ถึงที่สุด และเบื้องต้น จะมีการนำป้ายสัญลักษณ์ ข้อความที่ไม่เห็นด้วย ไปแสดงให้เรือสำรวจของจีนได้เห็น

ในขณะที่หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่า นาย เหวิ่น ยี่ เซิง กงสุลใหญ่ของจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการร้องขอให้ทางฝ่ายไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายให้ความช่วยเหลือเรือเอกชนของจีน ที่มาทำการสำรวจครั้งนี้ด้วย

ขณะนี้เชื่อว่า (3) การสำรวจครั้งนี้จากเรือจีนจะดูเรื่องตลิ่งพัง วิถีชีวิตการประมง โดยฝ่ายทางการไทยคิดว่า เรือจีนเป็นคณะเข้ามาสำรวจร่องน้ำเท่านั้น ไม่ได้เตรียม หรือจะเข้ามาดำเนินการต่อแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการระเบิด หรือเสนอให้มีการระเบิดเกาะแก่งแต่อย่างใด

 

เป้าหมายชัดขึ้น

ต้องยอมรับความจริงว่า ทางการจีนฉลาดที่เข้าถึงนโยบายไทยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะเห็นว่าสอดรับกันด้วยคำที่สวยหรูว่า สำรวจเพราะกลัวตลิ่งพัง ทำลายวิถีชีวิตการประมงท้องถิ่น

แต่จากรายงานของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post กลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นนักอนุรักษ์ฝั่งไทยให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วมีการสำรวจเช่นนี้ครั้งแรกในแม่น้ำโขง ซึ่งจีนเรียกว่า ลานชาง ซึ่งอยู่ในเขตจีนเมื่อปี ค.ศ.2002 แต่กลับไม่มีการรายงานการสำรวจครั้งนั้นเลย

เรื่องเลยกลับตาลปัตร เป้าหมายของการสำรวจ เป็นการสำรวจการเดินเรือแม่น้ำโขงทั้งสายจากจีน เมียนมา สปป.ลาว และไทย ทั้งนี้ จะมีการระเบิดสิ่งกีดขวางต่างๆ ประดามีในแม่น้ำโขงเพื่อให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าขนาด 500 ตันผ่านเข้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานของจีนได้ (4)

สิ่งที่อยู่ระหว่างทางคือ เมืองหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว มรดกโลกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชั้นเกรดเอ ถึงเอบวกทั่วโลก

แต่ผมและทีมงานสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปสำรวจเมืองหลวงพระบางกันอีกครั้งหนึ่ง ทีมงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า หลวงพระบางเปลี่ยนแปลงไปมาก เปลี่ยนแปลงไปในทางเสียหาย เป็นการเปลี่ยนแปลงไม่ถึงหนึ่งปี อะไรที่มาจากจีน เช่น โรงแรมที่นักลงทุนและบริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนเป็นผู้สร้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งคนจีนด้วย โรงแรมเขาใช้วัสดุ เช่น สุขภัณฑ์ เตียงนอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน บานหน้าต่าง ขอบประตู หลอดไฟฟ้า ตู้เย็น และโทรทัศน์ เป็นต้น จากจีน

แน่นอน อาหาร ผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย ของที่ระลึกซึ่งเมืองหลวงพระบางไม่ได้ผลิตเอง แต่มาจากจีนก็วางอยู่ดาษดื่นทั่วเมืองหลวงพระบาง

หากแม่น้ำโขงกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำหรับเรือขนาด 500 ตัน อะไรจะเกิดขึ้นระหว่างยูนนาน สามเหลี่ยมทองคำ หลวงพระบาง เชียงราย และสู่ไทยในจังหวัดอื่นๆ

สำรวจเพื่อใคร?


—————————————————————————————-
(1) Apinya Wipatayotin and Nuavarat Suksamran, “Mekong survey draws protests” Bangkok Post 19 April 2017.

(2) “จีนสำรวจแม่น้ำโขง” กรุงเทพธุรกิจ 23 เมษายน 2560

(3) ผู้จัดการออลไลน์ 19 เมษายน 2560

(4) Apinya and Nauvarat opcit.,