“คนรุ่นหนุ่ม-สาวต้องแสดงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นเด็กลง”

มนัส สัตยารักษ์ | เสพสื่อให้รอบด้าน

สงครามวาทกรรม ระหว่าง (ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า) “ประชาธิปไตย” กับ (ฝ่ายที่ถูกเรียกว่า) “เผด็จการ” บานปลาย จนกระทั่ง “สื่อ” ซึ่งน่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่คนกลางเพียงถ่ายทอดข่าวสารข้อมูลสู่สาธารณะ กลายเป็นปากเสียงของแต่ละฝ่ายที่ตัวเองเชื่อถือ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นไปตามที่ตัวเองศรัทธาหรือได้รับคำสั่งมาจากเจ้าของคอก

ไม่เพียงแต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาของการแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม็อบของผู้ชุมนุมและข้อเรียกร้องเป็นเสรีภาพหรือฝ่าฝืนกฎหมาย การทำหน้าที่รักษาความสงบของฝ่ายบ้านเมืองทำด้วยความรับผิดชอบหรือทำตามคำสั่งรัฐบาล รวมทั้งเรื่อง “ซื้อเรือดำน้ำ”

แต่ปมที่ทำให้แตกหักรุนแรงก็คือปม “ไม่เอาสถาบัน” ที่แฝงอยู่อย่างไม่ลึกในข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก จนแต่ละฝ่ายต่างก็แตกแยกกันเองไม่เว้นแม้แต่พรรคฝ่ายค้านด้วยกัน แล้วลามปามไปถึงผู้ประกาศข่าวและพิธีกรทางโทรทัศน์ที่เลือกข้าง ทั้งด้วยความสมัครใจของตนเองหรือเพราะถูกจูงใจจากภายนอก

ด่าทอกันไปมาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทั้งในโซเชียลมีเดียและออกอากาศทางโทรทัศน์ เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามระดมจูงใจให้ชาวบ้านแบนสินค้าที่โฆษณาในรายการ รวมทั้งบางสถานีและบางช่องถอดรายการและปลดพิธีกร

แก้ปัญหากันไปโดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก

ผมเคย “แบนตัวเอง” ไม่ดูทุกรายการของสมัคร สุนทรเวช ตอนที่เป็นรัฐมนตรี “หอย” หลัง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งที่เคยเป็นแฟนบทความและข้อเขียน “นายหมอดี” ใน “สยามรัฐรายวัน” และเคยนับถือว่าเป็นฮีโร่คนหนึ่งในเหตุการณ์ “Black September” ผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์จู่โจมสถานทูตอิสราเอล ก่อนสิ้นปี 2515 ซึ่งในช่วงเวลานั้นสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ส่วนผมนำกำลังตำรวจกองปราบปรามส่วนหนึ่งไปร่วมรักษาการณ์

เหตุที่ผมแบนตัวเองจากสมัครเพราะเชื่อว่าสมัครใช้สื่ออย่างบิดเบือนในวิกฤตการณ์ “6 ตุลา 19” เป็นเหตุให้มีประชาชนล้มตายและสมัครได้เป็นรัฐบาล และงานใหญ่ชิ้นแรกของสมัครก็คือย้าย พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ พ้นจากตำแหน่ง อ.ตร.

ผมไม่ดูรายการทุกชิ้นของสมัคร จนกระทั่งเพื่อนนายทหารเรือคนหนึ่งให้สติว่า “การที่เราไม่ฟังรอบด้านจะทำให้เราโง่เอง”

หลังจากที่สมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นธรรม ตามด้วยเสียงเล่าลือว่าเป็นเพราะเขาไม่ยอมตามใจใครและถูกหักหลังจากเจ้าของพรรคตัวจริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมัครถึงแก่อนิจกรรมในเวลาต่อมา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ในพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม “คนเสื้อแดง” กลุ่มหนึ่งโห่ฮาป่าแสดงความไม่เป็นมิตรกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมพิธี จนคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ต้องออกมาปรามและตำหนิ

พวกเขายังไม่ตระหนักในสัจธรรมทางการเมือง… “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”

กลับมาสู่ยุคปัจจุบัน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.ทำรัฐประหาร ระบบการเมืองที่เปลี่ยนไปตามบุคลิก (ไม่ต้องรับผิดชอบ) ของผู้นำ ทำให้ระบบสื่อมวลชนเปลี่ยนตามไปด้วย เราแทบจะไม่ได้ติดตามข่าวทางทีวีอีกเลย เพราะทุกช่องไม่มีคน “รายงานข่าว” อย่างอาคม มกรานนท์ แห่งไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 อีกแล้ว

มีแต่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าพิธีกร แต่ทำตัวเป็นนักแสดงที่เต็มไปด้วยอารมณ์เรียกเรตติ้ง

แสดงอาการปลุกปั่น รุกเร้า แกว่งไม้แกว่งมือ เคาะนิ้วรัวตามคำพูด

ส่งเสียงเหมือนอยู่บนเวทีประท้วงกลางถนน ย้ำแล้วย้ำอีกซ้ำซากโดยไม่มีเนื้อหาสำคัญเพิ่มเติมแต่ประการใด

ผมยอมรับสารภาพว่า แม้จะต้องการรับรู้ข่าวสาร แต่ทนรำคาญกับการแสดงดังกล่าวไม่ไหว ต้องเปลี่ยนไปดูช่องอื่นหรือปิดเครื่องไปเลย

กรณีที่มีการชักชวนให้แบนสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์โฆษณา รวมทั้งปลดพิธีกรไปหลายคนนั้น ยอมรับว่าไม่ได้อยู่ในความสนใจมาก่อน จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าใครผิดใครถูก

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่จะมีเพียงแต่ “สงครามวาทกรรม” หากเราสามารถเสพสื่อให้รอบด้าน เราก็จะพบว่าวาทกรรมสร้างสรรค์ก็มีมากเช่นกัน

อ่านพบใน FB นายอานันท์ ปันยารชุน ตอบคำถามสัมภาษณ์จากพิธีกรคนดังรายหนึ่งที่พยายามบีบให้ตอบแบบฟันธง กรณีม็อบและข้อเรียกร้องกับปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาล ว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูก และนายอานันท์อยู่ข้างไหน

นายอานันท์ได้ตอบทุกคำถามอย่างเหนือชั้น ซึ่งเจ้าของเพจข่าวนี้วิจารณ์ว่า เท่ากับสอนมวยผู้สัมภาษณ์ทีเดียว รายละเอียดเป็นอย่างไรอยากให้ไปหาอ่านเอาเอง

อีกรายการหนึ่งเป็นคลิปสัมภาษณ์นายอานันท์เช่นกัน ถามด้วยคำถามในประเด็นที่ใกล้เคียงกับที่อ่านพบใน FB แต่คนถามเป็นหนุ่มรุ่นใหม่ที่สุภาพ นายอานันท์ได้ตอบทุกคำถามที่จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ (จะทำอะไรกันต่อไป) อย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างคำตอบสัก 2-3 คำตอบเป็นแนวทางพิจารณา

คำถามถึงกรณีที่นักศึกษาและประชาชนปลดแอกพูดนอกเหนือจากเป้าหมายหลักเดิม 3 ประการ ก็คือเรื่องของสถาบัน

“ก็ต้องดูสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ว่าสังคมไทยรับได้หรือไม่ได้ ความฝันกับความถูกต้องมันก็แตกต่างกัน มันมีความหลังคือประวัติศาสตร์ อนาคตคือความหวัง แต่ปัจจุบันคือความจริง ต้องพูดคุยกันบนฐานของความจริง”

“สิ่งที่คิดว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าคือประเด็นที่จะปลดแอกความจน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ความไม่ยุติธรรมทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือความไม่ยุติธรรมทางด้านตุลาการด้วย”

“ประเด็นที่กระทบปากท้องประชาชน จะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้น ต้องวางลำดับก่อนหลังด้วยว่า เรื่องอะไรจะทำก่อนทำหลัง… เรื่องการจะแก้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ เรื่องขีดความสามารถ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็สำคัญ”

“อะไรที่มันยังไม่สุก ยังไม่งอม ก็ต้องระวัง ต้นไม้ก็มีฤดูกาล จังหวะจะโคนสำคัญ”

“คนรุ่นหนุ่ม-สาวต้องแสดงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นเด็กลง”

คนหนุ่มอย่างพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ รัฐสภา ให้เชิญกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้ามาเสนอทุกข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ นัดประชุมในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563

หัวข้อสำคัญ 4 ประการที่ไอติมเสนอต่อที่ประชุมคือ รับฟังทุกข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม สร้างเวทีสนทนา ปกป้องพื้นที่ปลอดภัยทั้งในและนอกสภา และให้ที่ประชุมมีมติเชิญทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์ กลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย ฯลฯ

หวังว่าทุกกลุ่มจะตอบรับคำเชิญ สื่อมวลชนจะได้เผยแพร่บทสนทนาหรือข้อสรุปที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนมีโอกาสรับฟังและพิจารณาทุกข้อเสนอ

ข้อคิดของอานันท์ ปันยารชุน วัย 88 กับข้อเสนอของพริษฐ์ วัชรสินธุ วัย 27 ครั้งนี้ นอกจากผู้ชุมนุมจะปลอดภัยจากการถูกจับกุมแล้ว อาจจะเป็นผลให้ไม่มีสงครามวาทกรรม ไม่มีการด่าทอด้วยคำหยาบ สื่ออาจจะได้สปอนเซอร์เพิ่ม และไม่มีการตกงานอีก