สุจิตต์ วงษ์เทศ / สวดพระมาลัยของสงฆ์ ต้นแบบจากขับลำชาวบ้าน

สวดพระมาลัย โดยพระสงฆ์ 4 รูป มีญาติโยมนั่งเล่นหมากรุกขณะพระสงฆ์สวด จิตรกรรมสมุดไทยขาว อักษรขอม เรื่องพระมาลัย ฝีมือช่างราวสมัย ร.5 สมบัติของวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) อ.เมือง จ.อุทัยธานี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สวดพระมาลัยของสงฆ์

ต้นแบบจากขับลำชาวบ้าน

 

พระสงฆ์สวดพระมาลัยโดยทำนองสวดได้ต้นแบบจากประเพณีชาวบ้านหลายพันปีมาแล้ว มีลำดับดังนี้ (1.) ชาวบ้านขับลำทำขวัญหลายพันปีมาแล้ว (2.) สวดพระมาลัยได้ทำนองเลียนแบบขับลำของชาวบ้าน (3.) ต่อมาสวดพระอภิธรรม แทนสวดพระมาลัย

(4.) หลังจากนั้นสวดคฤหัสถ์ ล้อเลียนสวดพระมาลัย

 

คำอธิบายกระแสหลัก

สวดคฤหัสถ์มีคำอธิบายกระแสหลัก โดยสรุปว่าเป็นการแสดงหรือการละเล่นสืบต่อเปลี่ยนแปลงหรือเลียนแบบเอาอย่างจากสวดพระอภิธรรมของพระภิกษุ โดยผู้สวดคฤหัสถ์ทุกคนถือ “ตาลิปัด” มีตั้งตู้พระธรรมไว้ข้างหน้า บทขึ้นต้นใช้พระธรรมที่พระภิกษุสวด แล้วเรียกการแสดงว่า “สวด” ตามแบบพระสงฆ์

[สรุปจากเรื่อง “สวดคฤหัสถ์” ในหนังสือ การละเล่นของไทย โดยมนตรี ตราโมท (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2497) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2540 หน้า 111-116]

เมื่อทบทวนหลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, โบราณคดี ประกอบกับพบภาพจิตรกรรมเรื่องสวดพระมาลัยบนสมุดข่อยจาก จ.อุทัยธานี เป็นหลักฐานการผสมกลมกลืนคลี่คลายใกล้ชิดของพระสงฆ์กับชาวบ้าน พบว่าความเป็นมาของสวดคฤหัสถ์ต่างจากนิยามคำอธิบายกระแสหลัก ดังต่อไปนี้

สวดพระมาลัยของพระสงฆ์ กลมกลืนกับลำสวดของคฤหัสถ์ (ซ้าย) โดยพระสงฆ์ 4 รูป (ขวา) คฤหัสถ์เข้าร่วมสนุกกับพระสงฆ์ จิตรกรรมสมุดไทยขาว อักษรขอม เรื่องพระมาลัย ฝีมือช่างราวสมัย ร.5 สมบัติของวัดสว่างอารมณ์ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี [ภาพทั้งหมดจากหนังสือ ของสวยงาม อุทัยธานี (เอนก นาวิกมูล และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ) จังหวัดอุทัยธานี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561]

ขับลำของชาวบ้าน

  1. ชาวบ้านหลายพันปีมาแล้ว มีพิธีกรรมขับลำทำขวัญงานแต่งงานและงานศพ (เรียกสมัยหลังว่า “งันเฮือนดี”) สมัยนั้นยังไม่ติดต่อรับศาสนาจากอินเดีย จึงไม่รู้จักวิญญาณและการเวียนว่ายตายเกิด

พระสงฆ์เลียนแบบขับลำชาวบ้าน

  1. สมัยอยุธยารับนิทานเรื่องพระมาลัยเป็นภาษาบาลีจากลังกา แต่ไม่มีสวดเป็นทำนอง

ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย แล้วแต่งเป็นร้อยกรองเพื่อใช้สวดลำ โดยพระสงฆ์สมัยอยุธยาได้ต้นแบบขับลำทำขวัญของชาวบ้าน (ซึ่งมีอยู่ก่อนนับพันๆ ปี) จึงเลียนแบบทำนองใช้สวดพระมาลัย (เรียกต่อมาว่าสวดลำ) ในงานแต่งงานและงานศพ

พระสงฆ์ถูกห้ามสวดพระมาลัย

  1. สมัยรัตนโกสินทร์ พระสงฆ์ถูกห้ามสวดพระมาลัยในงานศพ เพราะสวดพระมาลัยโลดโผนเกินสมณสารูป แล้วให้สวดพระอภิธรรมแทนสวดพระมาลัย

ไทยและเพื่อนบ้านรับประเพณีเผาศพจากอินเดีย แต่งานศพในอินเดียและลังกาไม่พบกิจกรรมนิมนต์พระสงฆ์สวดพระมาลัย หรือสวดพระอภิธรรม ดังนั้น การสวดของพระสงฆ์ในงานศพเป็นประเพณีท้องถิ่นอุษาคเนย์ และรวมถึงสวดคฤหัสถ์จัดเป็นพลังสร้างสรรค์ของคนพื้นเมือง ซึ่งไม่พบในอินเดีย, ลังกา

ชาวบ้านสวดคฤหัสถ์

  1. เมื่อพระสงฆ์ถูกห้ามสวดพระมาลัย ทำให้ชาวบ้านสวดพระมาลัยเลียนแบบพระสงฆ์ แล้วถูกเรียกสมัยหลังว่าสวดคฤหัสถ์ ซึ่งแท้จริงแล้วชาวบ้านเล่าขับลำเหมือนเดิม เพียงแต่เล่นเป็น “สวด” เหมือนพระสงฆ์เรื่องพระมาลัย