ทำนายเศรษฐกิจไทยโตแน่ 3% กูรูแห่เชียร์…แต่ห้ามมองข้ามการเมืองโลก

ผ่านไตรมาสแรกปีไก่ 2560 ไปแล้ว

ตัวเลขที่ขยายตัวได้ดีเกินความคาดหมายของทุกสำนักเศรษฐกิจ คือการส่งออก ที่ไตรมาสแรกนี้ขยายตัวได้สูงถึง 4.9% จากการแถลงของกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุขยายตัวถึง 6.6% และมองแนวโน้มการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นนี้ จะเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจทั้งปี 2560

ผนวกกับเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ การบริโภคและการลงทุนเอกชนดูว่ากำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทำให้ต่างมองกันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่องและมีอัตราโตที่ดีกว่า

ส่วนตัวเลขไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กลางเดือนพฤษภาคมนี้!

ด้านมุมมองของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่าง นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น

โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าทุกหมวด

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน ตามความเชื่อมั่นโดยรวมและรายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมก็ดีขึ้น

ด้านการท่องเที่ยวดีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หลังปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญคลี่คลายลง

ภาครัฐคงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยที่การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงบ้างหลังบางธุรกิจเร่งลงทุนไปแล้วล่วงหน้า จนเกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน

“ธปท. คาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.4% สูงกว่าปี 2559 ที่ขยายตัว 3.2% คาดว่า จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวได้มากกว่า 3.0% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า” นายดอน ยังระบุอีกว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวขยายตัวดี การส่งออกระยะสั้นเดือนเมษายนและพฤษภาคมยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ ธปท. ตั้งไว้ที่ 2.5%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังและระยะยาวยังต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศ ทั้งนโยบายด้านภาษีของสหรัฐ และผลกรณีภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลี ด้านการบริโภคอาจจะได้รับแรงกดดันบ้าง หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย แสดงความเห็นว่า ปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะแรงหนุนจากตัวเลขการส่งออก ซึ่งขยายตัวได้สูงในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้มากกว่า 3.0% จากเดิมที่คาดว่าอาจจะไม่ถึงระดับนี้

แต่ก็เตือนในเรื่องแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี อาจเจอผลกระทบส่วนต่างราคาน้ำมัน จะทยอยหมดลงในช่วงกลางปี รวมทั้งติดตามผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้ากับ 13 ประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งอาจมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสหรัฐออกมาตรการการค้าออกมา

รวมทั้งต้องติดตามบรรยากาศการเมืองในยุโรป เพราะอยู่ในช่วงที่หลายประเทศกำลังจัดการเลือกตั้ง หากเกิดความวุ่นวายขึ้น อาจจะกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนโลกได้

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า การบริโภคเอกชนก็มีการขยายตัวดีขึ้น แต่การลงทุนเอกชนยังเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ อาจจะเป็นผลมาจากเอกชนยังไม่เชื่อมั่น ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการต่างๆ ที่กำลังจะดำเนินการให้ออกมาเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการในรูปแบบการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (ทีพีพี) หากสามารถผลักดันโครงการเหล่านี้ให้ออกมาได้ก็จะช่วยกระตุ้นการลงทุนเอกชนได้

รวมทั้งจะต้องมีการโครงสร้างการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐบาลมีการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

แต่โครงการนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา 5-10 ปี และต้องมีมาตรการสนับสนุนเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือสมาร์ตโฟน เป็นต้น

ส่วนเสียงจากนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง อย่าง นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.4% รับแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

คาดว่าปีนี้ภาคการส่งออกจะขยายตัว 3-4% ถือเป็นระดับที่สูง แต่หากเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยส่งออกอยู่ที่ 6-7% ก็ยังเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ

ส่วนการลงทุนเอกชน เป็นปัจจัยที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นธุรกิจ เพราะการขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังอยู่ในระดับทรงตัว รวมทั้งการบริโภคยังอ่อนแออยู่ มาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจะชะลอลงแต่ยังอยู่ระดับสูง แม้ว่าปีนี้ราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก

“เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน อยู่ที่ 3.3-3.4% แต่ในความเป็นจริงความรู้สึกของคนทั่วไปยังเชื่อว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี เพราะเมื่อการบริโภคไม่ดี กำลังซื้อในประเทศยังแย่ หนี้ครัวเรือนสูง ราคาพืชผลช่วยกระตุ้นด้านรายได้เพิ่มขึ้นบางส่วน ทั้งนี้ การลงทุนที่ออกมาจะเน้นอยู่ในภาคการลงทุนและก่อสร้างเป็นหลัก เหมือนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจากตัวเลข แต่ความรู้สึกของคนยังไม่ค่อยดี”

นายสมชาย ระบุอีกว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ทั้งมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอย่างเต็มที่ ทั้งการลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

แต่นโยบายต่างๆ ต้องผ่านสภาคองเกรส ซึ่งต้องติดตามว่านโยบายต่างๆ เหล่านี้จะดำเนินการได้มากแค่ไหน รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน เพื่อพยายามลดการขาดดุลกับประเทศต่างๆ ซึ่งกรณีนี้อาจจะกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกได้

ด้านการเมืองในยุโรป อย่างการเลือกตั้งของฝรั่งเศส ต้องติดตามการเลือกตั้งรอบสอง ช่วงวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

หากนายมาคองมีแนวโน้มชนะการเลือกตั้ง จะทำให้ความกังวลที่ฝรั่งเศสอาจลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปลดลง

หากพลิกโผ นางเลอเพนชนะการเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยุโรปได้

รวมทั้งต้องติดตามการเลือกตั้งของอิตาลี มีพรรคการเมืองที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปเช่นกัน

ส่วนโอกาสเกิดสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีมีน้อย แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ทำให้โลกเกิดความตื่นตัว โดยเชื่อว่าสหรัฐพยายามใช้จิตวิทยาที่จะยับยั้งการผลิตขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

ช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะไปทิศทางใด ยังมีเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ล้วนเป็นความเสี่ยงคอยบั่นทอนการเติบโต ทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ!