ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “ห้องสมุด” กับหนังสือ ที่ควรจะอ่านด้วย “หู”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง “ท่านจันทร์” ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี เคยอธิบายเอาไว้ว่า คนแต่ก่อนอ่านวรรณคดีด้วยหู ไม่ได้อ่านด้วยตา เพราะวรรณคดีสมัยก่อนแต่งเพื่อขับ หรือร้อง ให้ฟัง และดู ทำให้เชื่อมโยงถึงเพลงดนตรี เช่น เสภา, ทำนองเสนาะ ฯลฯ

ดังนั้น ตัวอักษรที่ถูกขีดเขียนเอาไว้ใน “หนังสือ” นอกจากจะเป็นบันทึกสำหรับช่วยจำแล้ว ในอีกฐานะหนึ่งยังเป็นเครื่องมือในการขับร้อง ออกเสียงในท่วงทำนองต่างๆ

แน่นอนว่าลักษณะอย่างนี้ดูจะเป็นการผิดธรรมเนียมและมารยาทในการใช้ “ห้องสมุด” ในความหมายอย่างปัจจุบันแน่

 

การอ่านในความหมายทั่วไปอย่างปัจจุบันนี้ หมายถึงการทำความเข้าใจเรื่องราวผ่านตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นนิทาน นิยาย ข่าวสาร บทความบันเทิง งานสารคดี หรือกระทั่งงานวิชาการทั้งหลาย การทำความเข้าใจกับสารทั้งหมดนี้จำต้องผ่านกระบวนการ “วิเคราะห์” แปลความ ซึ่งหมายถึงการใช้สมาธิจดจ่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเชื่อกันว่าสัมพันธ์กับ “ความเงียบ” อย่างแยกกันไม่ขาด

ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือที่ใช้สำหรับ “อ่าน” ซึ่งเป็นห้องสมุดส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงสัมพันธ์อยู่กับ “ความเงียบ” ไปโดยปริยาย

ความเงียบจึงกลายเป็นมารยาทสำคัญในการใช้ห้องสมุดสำหรับการอ่านวิเคราะห์ข้อความ การอ่านในห้องสมุดตามธรรมเนียมปฏิบัติปัจจุบันจึงเป็นการ “อ่านในใจ”

 

น่าสนใจที่การ “อ่าน” ในความหมายอย่างปัจจุบันที่ว่า ช่างแตกต่างกันเหลือเกินกับการอ่านในสมัยดั้งเดิม ตั้งแต่แรกที่ชาวสุเมเรียนจารจารึกแผ่นแรก ตัวอักษรเหล่านั้นก็ล้วนแต่มีความหมายให้ออกเสียงสะกดได้

คำเขียนในภาษาอารบิกและฮิบรูที่เป็นภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ ไม่มีความแตกต่างในการแสดงกิริยา “อ่าน” และกิริยา “พูด” เพราะทั้งสองภาษาเรียกกิริยาทั้งคู่ด้วยคำคำเดียวกันด้วยซ้ำไป

ในหนังสือเรื่อง Confessions ของนักบุญออกุสติน ที่เขียนขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 พูดถึงนักบุญแอมโบรส (บิชอปแห่งเมืองมิลานในช่วงเวลานั้น) ด้วยความประหลาดใจว่า “ท่านไม่ได้อ่านออกเสียง” ดังความในหนังสือเล่มดังกล่าวที่ว่า

“ตาของท่านจะกวาดไปตามหน้ากระดาษ และหัวใจของท่านจะค้นหาความหมาย แต่เสียงของท่านจะเงียบ และลิ้นของท่านจะอยู่นิ่ง…เราจะเห็นท่านกำลังอ่านอย่างเงียบๆ เพราะท่านไม่เคยอ่านออกเสียงเลย…บางทีท่านอาจจะเกรงว่า…หากท่านอ่านออกเสียง ข้อความใดที่ท่านกำลังอ่านและผู้เขียนทำให้เข้าใจยาก จะถูกยกเป็นคำถามในความคิดของคนที่ตั้งใจฟัง และท่านก็คงต้องอธิบายว่าหมายความอย่างไร หรืออาจต้องถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นที่ยากจะเข้าใจนั้น”

จากข้อเขียนข้างต้น จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ใครหลายคนจะยกให้นักบุญแอมโบรสเป็นนักอ่านในใจคนแรกของโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หลักฐานของอ่านในใจที่เก่าแก่กว่านั้นก็ปรากฏอยู่ในคำกล่าวอ้างของคลอดิอุส ปโตเลมี ที่มีอายุอยู่ในช่วงราว ค.ศ.90-168 ที่เขียนไว้ใน On the Criterion ว่า

“บางครั้งคนเราก็อ่านอย่างเงียบๆ เมื่อต้องใช้สมาธิอย่างมาก เพราะเสียงอาจรบกวนความคิดได้”

ถึงแม้ว่าใน On the Criterion จะไม่ระบุว่าใครเป็นคนที่อ่านอย่างเงียบๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า “บางครั้ง” เท่านั้นแหละ ที่คนในโลกยุคโน้นจะอ่านอย่างเงียบๆ โดยทั่วไปแล้ว คนมักจะอ่านออกเสียงกัน

หลักฐานของโลกตะวันตกช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 จึงล้วนแสดงให้เห็นว่า แต่เดิมการอ่านเป็นการอ่านออกเสียง การอ่านในใจถือเป็นสิ่งพิกลแม้แต่ในห้องสมุดก็ตาม

ภาษิตเก่าแก่ของฝรั่งบทหนึ่งที่ว่า “scripta manent, verba volant” ที่ปัจจุบันมักจะแปลว่า “สิ่งที่เขียนไว้คงอยู่ สิ่งที่พูดหายไปในอากาศ” เป็นการแปลความที่บิดเบือนไปจากความหมายเดิมมากทีเดียว เพราะแต่เดิมภาษิตบทนี้หมายความว่า

“ข้อเขียนนั้นตายซากไร้อารมณ์ แต่คำพูดที่เปล่งออกมามีปีก และโบยบิน”

นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์คิดว่า “เสียง” สัมพันธ์อยู่กับ “ความเป็นจริง” หากสามารถเปล่งเสียงที่ถูกต้องก็สามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นจริงได้ ในโลกตะวันออก อย่างชมพูทวีป เชื่อว่าหากเปล่งเสียงว่า “โอม” ซึ่งเป็นเสียงพระนามแห่งพระเจ้า ก็สามารถโน้มนำอำนาจของพระเป็นเจ้าให้เกิดขึ้นจริง คาถาอาคมทั้งหลายจึงมีฤทธิ์เดชได้ด้วยทัศนะอย่างนี้เอง

ในสมัยหนึ่ง “หนังสือ” จึงมีฐานะเป็นเครื่องช่วยจำ และมีไว้สำหรับ “อ่านออกเสียง” ไม่เว้นแม้กระทั่งในห้องสมุด

 

ทัศนคติอย่างปัจจุบันต่างหากนะครับ ที่ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่ถูกสงวนไว้สำหรับความเงียบ

หนังสือหลายชนิด เช่น วรรณคดี ที่มีไว้ฟังจึงกลายเป็นยาขม ที่รสชาติออกไปทางกร่อยสนิทเสมอ เมื่อใครหยิบมันขึ้นมาอ่าน

นี่ยังไม่นับว่าหนังสือบางประเภทก็มีไว้เพื่อ “ดู” อย่างเช่น หนังสือจำพวกหนังสือภาพ ที่ซึ่งก็เป็นหนังสืออีกประเภทหนึ่ง ที่ถ้าจะให้ดีก็ไม่ควรอ่านในใจอยู่คนเดียว เพราะการใช้หนังสือประเภทนี้ ไม่ใช่การอ่าน (ภาพ) วิเคราะห์ความเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อต่อยอดจินตนาการออกไป

อันที่จริง “เสียง” ที่ดังอยู่ในห้องสมุด จึงไม่ควรถูกนับว่าเป็น “ปัญหา” ของห้องสมุดไปเสียหมด

ถ้าห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดของสถาบันการศึกษามีหน้าที่จัดการความรู้ การสร้างสรรค์จินตนาการภายในห้องสมุดจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผิดอะไร (แต่แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งย่อมเป็นวงสนทนาในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือในห้องสมุดเลย) ที่ควรแก้ไขคือ การจัดการสถานที่ภายในห้องสมุดให้เหมาะกับประเภทของหนังสือ ที่มีทั้งใช้ดู ใช้อ่านออกเสียง และอ่านในใจเสียมากกว่า

อย่าลืมนะครับว่า ห้องสมุดในปัจจุบัน หลายแห่งไม่ได้มีแต่เฉพาะหนังสือ แต่ยังเต็มไปด้วยสื่อหลากชนิด ทั้งวีดิทัศน์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งไม่ได้เป็นมิตรกับความเงียบเลย

สื่อเหล่านี้ก็เป็นอุปกรณ์ในการเสริมสร้างประสบการณ์และความรู้ หากพิจารณาถึงเนื้อแท้ของห้องสมุดว่า เป็นศูนย์รวบรวม และเผยแพร่ความรู้ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ หรือโรงเก็บหนังสือเก่าแล้ว สื่อต่างๆ ก็ควรจะรวมอยู่ในหมวดหมู่นี้ด้วย

โดยเฉพาะห้องสมุดชุมชนในชนบทที่ห่างไกล ยิ่งต้องจัดการให้ห้องสมุดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พร้อมกับเป็นสถานที่พบปะของประชาชนโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับห้องสมุดในเมืองกรุงก็ควรจะพยายามพัฒนาตนเองให้คนหันมานิยมทำกิจกรรมในห้องสมุด (ไม่ว่าจะเป็นการดู อ่าน หรือฟังก็ดี) มากกว่าไปเดินห้างสรรพสินค้าในยุคที่กระเป๋าสตางค์แฟบจนแทบแห้งเหือดแบบนี้

การศึกษาทางด้านบรรณารักษศาสตร์เอง ก็ควรจะมีบทบาทในการสร้างความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของการอ่านและการเรียนรู้ของมนุษยชาติ เพราะบรรณารักษ์ไม่ควรเป็นแค่คนคอยสั่งซื้อหนังสือ แยกเลขหมู่ และจัดเก็บเข้าชั้น แต่ควรที่จะเป็นผู้จัดการความรู้ภายในห้องสมุดให้เป็นสัดเป็นส่วน เหมาะสมกับประเภท หรือธรรมชาติของหนังสือ พร้อมไปกับการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ หรือสื่อประเภทต่างๆ ไปด้วย

เพราะว่าหนังสือ ไม่ได้แค่เฉพาะประเภทที่เอาไว้อ่านในใจ หนังสือบางประเภทก็ต้องใช้ “หู” อ่าน บางประเภทต้องการการวิเคราะห์วิจารณ์ร่วมกันกับใครคนอื่น