วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี เปิดฉากธุรกิจครบวงจร

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ : ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ในช่วงเวลาสังคมไทยอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความผันแปร” แต่ซีพีสามารถก้าวไปข้างหน้าได้

ซีพี ก่อตั้งธุรกิจอาหารสัตว์อย่างจริงจังเมื่อเกือบๆ 6 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2506) เปิดฉากด้วยโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย จังหวะก้าวรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้วยแผนการใหญ่ เป็น “ข้อต่อ” สำคัญของโมเดลเกษตรกรรมครบวงจร ด้วยยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคตั้งแต่แรก

ว่าไปแล้วเกิดขึ้นในช่วงเวลาและสถานการณ์ในสังคมไทยไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก เชื่อว่าบริบทดังกล่าว ผนวกเป็นเงื่อนไขและปัจจัย เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และแผนการซีพี ภายใต้การนำโดยธนินท์ เจียรวนนท์ ในเวลานั้นด้วยอย่างมิพักสงสัย

ตั้งแต่เผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ซึ่งกระทบถึงไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น (ปี 2514) ในช่วงนั้นรัฐต้องลดค่าเงินบาท ขณะสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนนักศึกษาเคลื่อนไหวใหญ่ขับไล่รัฐบาลทหารถนอม-ประภาสสำเร็จ บรรยากาศประชาธิปไตยขยายวงครั้งสำคัญในสังคมไทย ทั้งมีขบวนการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และการวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดของธุรกิจใหญ่ในประเทศไทย

มีความวิตกเป็นพิเศษว่าด้วยทฤษฎีโดมิโน เชื่อมโยงด้วยเหตุการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อสงครามเวียดนามจบลง (ปี 2518) ด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ สหรัฐต้องถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย มีผลพวงตามมาด้วยธุรกิจอเมริกันถอนตัวไปด้วยในหลายกรณี จากนั้นอำนาจรัฐลาวและกัมพูชาตกอยู่กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ต่อเนื่องกันเกิดเหตุการณ์นองเลือดในประเทศไทย เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อมีการล้อมปราบทำร้ายนักศึกษา ส่งผลให้นักศึกษานับหมื่นคนเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตป่าเขา การต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับทางการไทยรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งซีพีตั้งเป้าไว้สูง เป็น “แรงขับเคลื่อน” ธุรกิจครบวงจร สามารถเดินไปสู่ตำแหน่งผู้นำธุรกิจได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดเอาการ

ในปี 2515 ซีพีมีเพียงโรงงานแห่งเดียว ขณะที่คู่แข่งรายเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย มากกว่า 10 โรงงาน

ขณะนั้นมีคู่แข่งที่น่ากลัวรายหนึ่ง-กลุ่มห่งเอี๊ยะเซ้ง ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ เบทาโกร (ก่อตั้งปี 2510) พอปีถัดมา (ปี 2516) มีคู่แข่งรายสำคัญอีกราย-กลุ่มแหลมทองสหการ

ในจังหวะนั้น ปีเดียวกัน ซีพีมีโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 2 จนถึงปี 2520 ซีพีมีโรงงานอาหารสัตว์ในนาม 4 บริษัท ท่ามกลางรายอื่นๆ กระจัดกระจายอีกกว่า 30 บริษัท จากนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

“ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลผ่านบีโอไอ กลุ่มซีพีสามารถตั้งโรงงานใหม่โรงแล้วโรงเล่าได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สามารถขยายศักยภาพในการผลิตของโรงงานที่มีอยู่เดิมได้ด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของซีพีในปริมาณการผลิตโดยรวมในไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 27% ในปี 2515 เป็น 40% ในปี 2520 และเป็น 50% ในปี 2524 ทั้ง 5 บริษัทดังกล่าวของซีพีเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องจักรใหม่ๆ” (เรียบเรียงจาก Modern Family and Corporate Capability in Thailand : A Case Study of the CP Group” โดย Akira Suehiro ใน Japanese Yearbook on Business History 1997)

ควรบันทึกเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า Suehiro คือนักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Tokyo มีผลงานอรรถาธิบายสังคมธุรกิจไทยไว้มากมาย เป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะผลงานชิ้นแรกที่สำคัญของเขา-Capital Accumulation in Thailand 1855-1985

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซีพีได้กระจายความเสี่ยง ขยายโอกาสธุรกิจอาหารสัตว์ให้กว้างขึ้น ในฐานะธุรกิจภูมิภาคอย่างจริงจังด้วย

เปิดฉากครั้งแรกๆ กรณีสำคัญ มีขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบางคนตีความว่าระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับโมเดลธุรกิจซีพีประเทศไทย ก่อตั้งบริษัทในนาม PT Charoen Pokphand Indonesia Animal Feedmill Co. Limited (ปี 2515)

“…ท่านประธานสุเมธ พี่ชายของผม เป็นผู้เข้าไปบุกเบิกตลาดที่อินโดนีเซีย” ธนินท์ เจียรวนนท์ ยกผลงานให้กับพี่ชาย (อ้างจาก “บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont – NIKKEI แห่งญี่ปุ่น 2559)

ตามมาด้วยแผนการในที่ที่เป็นฐานธุรกิจดั้งเดิมที่สำคัญ “ฮ่องกงเป็นหนึ่งในฐานสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์มานาน โดยในปลายทศวรรษ 2490 เครือซีพีได้เข้าไปตั้งบริษัทอาหารสัตว์และบริษัทนำเข้าไข่ไก่ พอมาถึงทศวรรษ 2510 ก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งบริษัทลูกของเครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company : บริษัทที่ประกอบธุรกิจลงทุนในหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ในบริษัทอื่นๆ) เช่น บริษัทการค้า บริษัทประกันภัย และบริษัทการเงิน เป็นต้น” (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์”) ซึ่งมีลำดับเหตุการณ์เทียบเคียง เริ่มตั้งบริษัทการลงทุน หรือ Holding Company (ปี 2516) โรงงานอาหารสัตว์ที่ฮ่องกง (ปี 2517) จากนั้นก็เพิ่มบทบาทเป็นศูนย์การเงินและการลงทุนด้วยการเปิดกิจการการเงินและประกันภัยขึ้น (ปี 2519) เป็นต้น

เมื่อดีลสำคัญเกิดขึ้นในปี 2514 จัดตั้งบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีพันธุ์ไก่ และการจัดการการเลี้ยงไก่สมัยใหม่ จิ๊กซอว์สำคัญ ธุรกิจครบวงจร ได้พยายามดำเนินการควบคู่กันไป ตามมาด้วยการเปิดโครงการ Contract Farmingในประเทศไทย (ปี 2517) เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างผู้เลี้ยงไก่ทั่วไปกับซีพี ในการพัฒนาการเลี้ยงไก่ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยซีพีรับประกันการซื้อ

แผนการดังกล่าวมีแรงต้านพอสมควร (อ้างจากบางส่วนในกรณีศึกษา Harvard Business School 2535) ด้วยเกรงว่า “ฟาร์มขนาดเล็กๆ จะล้มละลาย ซีพีจะกลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจ” ดังนั้น ซีพีจำเป็นต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้เห็นความสำคัญ ความจำเป็นในการพัฒนาเกษตรกรรมไทยในภาพใหญ่ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก

ขณะบางภาพพยายามแสดงผ่านโครงการต่างๆ ในบางหมู่บ้านให้เห็นภาพเกษตรกรผู้ร่วมโครงการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ดีขึ้น

 

กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงเรื่องข้างต้น ซีพีสามารถดำเนินแผนการได้ในจังหวะที่ดี ด้วยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ควรกล่าวถึง

“…ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ อย่างธนาคารกรุงเทพ และนโยบายของรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตั้งแต่กลางปี 2513 เป็นต้นมา รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มโครงการให้สินเชื่อมุ่งสนับสนุนภาคเกษตรกรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้อย่างน้อย 5% (ภายหลังเพิ่มเป็น 14%) ของยอดเงินกู้ทั้งหมดแก่เกษตรกรหรือผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเกษตร ด้วยยุทธวิธี “สี่ประสาน” ที่เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สถาบันการเงิน ผู้ผลิตในประเทศ และเกษตรกร ทำให้กลุ่มซีพีสามารถควบคุมอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ในไทยได้ทั้งหมด” (Akira Suehiro : “Modern Family and Corporate Capability in Thailand : A Case Study of the CP Group”)

ที่น่าสนใจ ช่วงเดียวกันซีพีเดินแผนที่ประเทศมาเลเซีย (เรียบเรียงจากข้อมูล Charoen Pokphand Malaysia – https://www.cpmalaysia.com/) แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เริ่มต้นด้วยลงทุนเองก่อตั้งฟาร์มเพาะพันธุ์ไก่ (poultry breeder farm) ในปี 2517 ตามมาด้วยฟาร์มไก่เนื้อ (broiler farms) ในปี 2518 โรงงานแปรรูป (chicken processing plant) ในปี 2523 ก่อนจะดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ด้วยการนำเข้าจากไทยและอินโดนีเซีย (ปี 2535)

ซีพีกับโมเดลธุรกิจครบวงจร ในช่วงต้นๆ เป็นไปท่ามกลางการทดลองและปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับโอกาสธุรกิจ และบริบทในแต่ละภูมิศาสตร์

ดูไปแล้วความสำเร็จทางธุรกิจนั้น อยู่ไม่ไกลเลย