นิธิ เอียวศรีวงศ์ | การเปลี่ยนผ่าน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังจากความไม่สงบในภาคใต้รอบนี้ปะทุขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว มีงานวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนมุสลิมและพุทธเคยอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันมาอย่างสงบสุข นอกจากเอื้อเฟื้อกันในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีความเป็นเครือญาติข้ามชุมชนทางศาสนาด้วย

งานวิจัยประเภทนี้มีมาก ครอบคลุมทั้งเขตเมือง, ชนบท และชุมชนประมงตามชายฝั่งทะเล ฯลฯ ในทั้งสามจังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งข้ามเขตแดนไปยังชุมชนมุสลิมในเขตประเทศมาเลเซียปัจจุบันด้วย

เรื่องเหล่านี้สอดคล้องกับที่ผมเคยได้ยินมาจากคนเก่าๆ เช่น อาจารย์อับดุลเลาะห์ ลออแมน เคยเล่าว่า ท่านมีเครือญาติอยู่สองสาย มุสลิมสายหนึ่งและพุทธสายหนึ่ง ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในทำเลใกล้กันพอจะเดินถึงกันได้สะดวก ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษสายตรงของท่านไปแต่งงานกับชาวมุสลิม ตระกูลของท่านจึงหันไปนับถืออิสลาม

ข้อสรุปของ “ท้องเรื่อง” ทำนองนี้ มักนำไปสู่ข้อสรุปว่า รัฐไทยเองนั่นแหละ เมื่อขยายบทบาทของตนลงไปถึงระดับชุมชนก็ทำให้สภาพสงบสุขนั้นหายไป ทางแก้คือการจำกัดหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของรัฐให้เอื้อต่อการกลับมาใหม่ของความสัมพันธ์ที่ราบรื่นระหว่างสองชุมชนศาสนา

แม้ผมเห็นด้วยว่า รัฐไทยมีบทบาทอย่างมากในความเปลี่ยนแปลง แต่สูตรนี้ลดคู่ความสัมพันธ์ทางสังคมเหลือเพียงสอง คือระหว่างชุมชนและรัฐ ดูมันจะง่ายเกินความเป็นจริงไปมาก เพราะจะเอาพ่อค้าจีน, โรงเรียน-มหาวิทยาลัย, ทุนภายนอก, การค้าข้ามแดนทั้งถูกและผิดกฎหมาย, ตลาดที่ขยายใหญ่กว้างขึ้น, การสื่อสารคมนาคมแบบใหม่ ฯลฯ ไปไว้ที่ไหน เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีบทบาทของมันเอง ซึ่งอาจเป็นอิสระจากรัฐ หรือบางครั้งเข้าไปมีส่วนกำกับบทบาทของรัฐด้วยซ้ำ

นับตั้งแต่ความไม่สงบรอบสุดท้ายนี้เริ่มขึ้นใน ค.ศ.2004 ความสนใจประวัติศาสตร์ของดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นราชอาณาจักรปาตานีขยายตัวขึ้นอย่างมากในวงวิชาการ ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่งที่ขาดหายไป คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นแก่สังคม “หัวเมืองมลายู” ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเรามักเรียกว่า “กระบวนการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่”

ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐไทยที่บางกอก, รัฐอังกฤษที่กัลกัตตา เดลี-สิงคโปร์และลอนดอน กับชนชั้นนำท้องถิ่นในดินแดนแถบนี้ เรื่องนี้มีผู้ศึกษาไว้มากพอสมควร ทั้งในรูปวิทยานิพนธ์และงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ แต่ผมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงผู้คนหลากหลายกลุ่มในสังคมของ “หัวเมืองมลายู” หรือสามจังหวัดชายแดนใต้

“การเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่” เป็นกระบวนการความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งแม้มีจุดกำเนิดในยุโรปตะวันตก แต่แผ่ขยายไปทั่วทุกซอกทุกมุมของโลกในเวลาต่อมา ไม่เว้นแม้แต่ในกัมปุงห่างไกลของดินแดนที่เคยเป็นราชอาณาจักรปาตานี

ในประเทศไทย เรามักเคยชินที่จะมอง “กระบวนเปลี่ยนผ่าน” ใหญ่ๆ ทั้งหลาย รวมทั้งการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ หรือ “การพัฒนา” ว่ากระจายออกมาจากส่วนกลาง (หรือส่วนบน) แล้วแผ่ออกไปกระทบผู้คนใน “ทาง” เดียวกัน เพียงแต่ในระดับที่มากน้อยต่างกันเท่านั้น เช่น อยู่ไกลก็กระทบน้อย อยู่ใกล้ก็กระทบมาก (ใกล้-ไกลทางภูมิศาสตร์ด้วย และใกล้-ไกลทางเศรษฐกิจ-สังคมด้วย)

กระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงทำงานอย่างเป็นกลาง เหมือนระเบิดนิวเคลียร์ ความเข้มข้นของกัมมันตภาพรังสีขยายจากจุดศูนย์กลางออกไปกว้างไกล และกระทบผู้คนในทางเดียวกันแต่ด้วยระดับความเข้มข้นต่างกัน

แต่การเปลี่ยนผ่านใหญ่ๆ ทั้งหลายไม่เคยเป็นกลาง ผู้คนไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปในทางเดียวกัน เขาใช้สถานะทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, สังคม และการเมืองที่มีอยู่เดิมของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบ ดังนั้น กระบวนการจึงมีความซับซ้อนกว่าระยะห่างจากศูนย์กลาง หรือสถานะที่ไม่เหมือนกันของผู้คนเท่านั้น

และนี่คือเหตุผลที่การเข้าสู่ความทันสมัยในแต่ละสังคม (หรือแม้แต่ละท้องถิ่นในสังคมเดียวกัน) จึงไม่ได้นำไปสู่ผลที่เหมือนกัน ต่างก็มี “ทาง” ของตนเอง จนทำให้ความทันสมัยซึ่งอาจมีกำเนิดในยุโรปตะวันตก แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทั่วทั้งโลก ก็ไม่ทำให้ทั้งโลกกลายเป็นตะวันตกอยู่นั่นเอง ทันสมัยของอังกฤษก็อย่างหนึ่ง ทันสมัยของไทยก็อย่างหนึ่ง และทันสมัยของบางกอกก็อีกอย่างหนึ่ง แตกต่างจากทันสมัยของปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส

คําว่า Westernization ซึ่งนิยมใช้เรียกการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้ในสมัยหนึ่ง จึงหมดความนิยมไปเพราะเหตุนี้ คือให้ความหมายที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะแทบไม่มีใครในโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็น “ตะวันตก” เลยทั้งโลก แม้แต่ในยุโรปเอง

ถ้าประวัติศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจปัจจุบันมากขึ้น การศึกษาการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น แต่ต้องทำให้เราเข้าถึง “ปฏิกิริยา” ของคนหลากหลายกลุ่มที่มีต่อความเปลี่ยนแปลง

ใครคือกลุ่มคนที่สะสมทุนได้ก่อน คำตอบนี้ดูเหมือนง่าย เพราะทุกคนคงชี้ไปที่คนจีนหรือเชื้อสายจีน แต่ทำไมคนกลุ่มนี้จึงฉวยโอกาสสะสมทุนได้ก่อนคนกลุ่มอื่น จากประวัติของตระกูลพ่อค้าใหญ่ๆ หลายตระกูล ชี้ให้เห็นว่าพ่อค้าจีนมีเครือข่ายทางการค้าและความสัมพันธ์ที่กว้างกว่าท้องถิ่น แต่ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ของท่านอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ก็พูดถึงพ่อค้าชาวพื้นเมืองที่เดินทางค้าขายในขอบเขตกว้างไกล รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “เกลอ” บนเส้นทางการค้า เหตุใดสภาพของตลาดแบบใหม่ที่ความเป็นสมัยใหม่นำมา จึงเอื้อต่อเครือข่ายของจีน แต่ไม่เอื้อต่อเครือข่ายของคนพื้นเมือง

การคมนาคมแผนใหม่ เช่น เรือกลไฟและคลองสุเอซ ช่วยให้การติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียอาคเนย์กับตะวันออกกลางง่ายขึ้น มีคนเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ที่เมกกะมากขึ้น เขาเป็นใคร และเมื่อกลับมาในฐานะหะยี สถานะของเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับในสังคมชวา, มินังกะเบา, อาเจะห์ ฯลฯ แล้ว สถานะของคนกลุ่มนี้เปลี่ยนไป และช่วยให้เข้าไปมีบทบาทในการเมืองสมัยใหม่มากขึ้นด้วย

ผมคิดว่าจากคำถามเกี่ยวกับเรื่องเล็กเรื่องน้อยเช่นนี้ จะนำเราไปสู่มิติทางสังคมของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นแก่สังคมภาคใต้ตอนล่าง ได้ดีกว่าจำกัดอยู่เฉพาะปฏิกิริยาของชนชั้นนำท้องถิ่นที่มีต่อรัฐ

ความสัมพันธ์อันราบรื่นและเกื้อกูลระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในภาคใต้ เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจยังชีพของสังคมขนาดเล็ก กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจ-สังคมนั้นไปแล้ว อย่างช้าๆ ในบางท้องที่ และอย่างรวดเร็วในบางท้องที่ (เช่นในเขตเมือง) ดังนั้น จะฟื้นฟูความสัมพันธ์เช่นนั้นกลับคืนมาท่ามกลางเศรษฐกิจ-สังคมที่เปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ จึงเป็นไปได้ยาก

เหตุใดในภาคอีสาน เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมเปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกัน ชนชั้นนำตามประเพณีจึงไม่ร่วมกับไพร่ในการแข็งข้อต่อบางกอก แต่ในภาคใต้ตอนล่าง ชนชั้นนำตามประเพณีมักเป็นผู้นำในการแข็งข้อมาแต่โบราณแล้ว คำตอบก็คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านในสองภาคนี้ให้ผลทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่างกันมาก เช่น ชนชั้นนำในอีสานได้โอกาสในการปรับตัว เพื่อรักษาสถานะของตนไว้ในระบอบใหม่ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนำมา ในขณะที่ชนชั้นนำตามประเพณีในภาคใต้ ไม่มีโอกาสอย่างเดียวกัน กลับถูกรัฐขจัดออกไปด้วยวิธีต่างๆ จนสูญเสียบทบาทนำไปโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ในภาคใต้ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกันซึ่งเกิดในเมืองไทย, เอเชีย และโลก เงื่อนไขที่ผู้คนในสามจังหวัดตอบสนองต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงกว้างกว่าท้องถิ่น บางกรณีผู้คนในท้องถิ่นอาจไม่มีโอกาสเลือกเลย แต่ต้องยอมรับการเปลี่ยนผ่านตามความต้องการของพลังที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น

ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของรัฐไทย การเปลี่ยน “ข้าไพร่” ให้กลายเป็น “พลเมือง” กระทำไปอย่างไม่สมบูรณ์ เพราะพลเมืองของรัฐสมัยใหม่ไทย ไม่ได้มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ กลับถูกแบ่งออกเป็นหลายระดับชั้น ซึ่งมีสิทธิ์ไม่เท่ากัน มีคนจำนวนน้อยที่เป็น “พลเมือง” มากกว่าคนอื่น ในขณะที่มีคนอีกมาก โดยเฉพาะที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีความเป็น “พลเมือง” น้อยกว่า และยังถูกเก็บไว้ให้เป็น “ข้าไพร่” มากกว่า

ชาวมลายูมุสลิมไม่ได้มีสถานะ “พลเมือง” เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคมไทย ร้ายยิ่งไปกว่านั้น คนมลายูมุสลิมยังไม่สามารถกลืนตนเองเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างชาวจีนอพยพ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็เพราะเขาไม่ใช่ผู้อพยพ แต่เป็นประชากรในพื้นถิ่นมาแต่บรมสมกัลป์แล้ว

ในการศึกษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นระดับใหญ่เช่นภูมิภาค หรือระดับเล็กลงไปจนถึงครอบครัวเดียว เราไม่อาจศึกษาท้องถิ่นโดดๆ จากความเชื่อมโยงกับอะไรอื่นที่ใหญ่กว่านั้นได้ เพราะขึ้นชื่อว่าท้องถิ่นก็ตาม แม้แต่บุคคลก็ตาม ย่อม “ไม่มีใครเป็นเกาะ” อย่างที่เฮมมิ่งเวย์ว่าไว้แหละครับ เงื่อนไขที่กำกับพฤติกรรมของท้องถิ่นหรือบุคคล มาจากอะไรที่อยู่นอกตัวไม่น้อยเสมอ

เช่นเดียวกับความไม่สงบในภาคใต้ ที่มาของมันนอกจากเกิดขึ้นในอาณาบริเวณนั้นเองแล้ว ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะของรัฐไทยเองก็มีส่วนกำหนดอยู่ไม่น้อย ดังนั้น แม้แต่นโยบายที่จะรักษาความสงบในภาคใต้จึงเป็นเช่นเดียวกัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรัฐและสังคมไทยไม่น้อยไปกว่าปรับเปลี่ยนสังคมมลายูมุสลิม หรือเฉพาะในอาณาบริเวณนั้นเพียงอย่างเดียว

ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 สิงหาคม เวทีการประท้วงได้เปิดพื้นที่ให้แก่คนในสามจังหวัดภาคใต้ขึ้นพูดถึงสภาพปัญหาของพวกเขา นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประชาชนไทยในวงกว้างจะได้รู้เห็นเรื่องราวของผู้คนที่ถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบ เช่นประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้

ผมได้แต่หวังว่า การชุมนุมที่จะดำเนินต่อไป จะมีพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างขึ้นแก่ผู้คนชายขอบจากภาคใต้เช่นนี้อีก เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหาขั้นพื้นฐานของ “สำนึกกบฏ” ทั้งของผู้ประท้วงและผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้นั้นไม่ต่างจากกัน เช่น สถานะ “ข้าไพร่” เป็นสิ่งที่ทั้งผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ และในสามจังหวัดภาคใต้รับไม่ได้อีกต่อไป

ประเทศไทยที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กำลังถูกคนที่เป็นพลเมืองไม่เต็มขั้นทั้งประเทศต่อต้านคัดค้าน อาจจะเริ่มในสามจังหวัดภาคใต้ก่อน แต่บัดนี้ขยายไปทั่วประเทศเสียแล้ว เพียงแต่อาจเลือกใช้วิธีประท้วงที่ต่างออกไปเท่านั้น

เราอาจกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง