วิเคราะห์ : พรบ.ภาษีที่ดิน ในทางปฏิบัติทำได้จริงหรือไม่?

ก่อนจะมาเป็นพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 นั้น มีการยกร่างกฎหมาย โดยกระทรวงการคลัง มีการชี้แจง การสัมมนาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มาเป็นเวลา 3-4 ปี เพราะเป็นกฎหมายที่มีคนมีส่วนได้เสียจำนวนมาก และถือว่าเป็นกฎหมายที่มีลักษณะก้าวหน้า สร้างความเป็นธรรมในสังคมด้วยการเก็บภาษีจากผู้ถือครองทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์

แต่เมื่อร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคที่สมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. ในขั้นกรรมาธิการก็มีการแก้ไข ลดทอน และลดอัตราภาษี จนทำให้กฎหมายฉบับนี้แทบจะไร้พิษสงแท้จริงสำหรับแลนด์ลอร์ด

เมื่อร่างเสร็จผ่านสภาก็มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563

 

เมื่อถึงเวลาจริงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยไม่มีความพร้อมที่จะจัดเก็บ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งหมดตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุด ปี 2557 เป็นต้นมา มีคำสั่ง คสช.ให้บริหารท้องถิ่นต่างๆ โดยไม่มีการเลือกตั้งใหม่ตามวาระมาจนกระทั่งทุกวันนี้

จึงรับรู้กระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้และรายละเอียดในตัวกฎหมายมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถพร้อมดำเนินการได้อยู่ดี

สุดท้ายก็เลื่อนวันจัดเก็บออกไปอีก เป็นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2563

 

พอถึงเดือนสิงหาคม ประชาชนที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศต่างเดินทางไปยื่นแสดงการเสียภาษี ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระได้เพราะหน่วยงานไม่พร้อม แต่บางแห่งก็ชำระได้ด้วยการเข้าคิวกรอกเอกสารนาน แต่บางแห่งก็ก้าวหน้าชำระทางออนไลน์ได้

จนใกล้สิ้นเดือนสิงหาคม ประชาชนเกิดความวิตกว่าจะไม่ได้ชำระภาษี กลัวจะต้องถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

จนในที่สุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ต้องออกมาแถลงว่า กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่มีหนังสือแจ้งประเมินไปยังผู้เสียภาษี ถือว่าผู้เสียภาษีไม่มีภาระต้องไปเสียภาษีตามกฎหมาย

กระทรวงการคลังก็ออกมาชี้แจงว่ากรณีประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือท้องถิ่นขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาชำระอออกไป ประชาชนไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

 

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่กฎหมายฉบับแรกที่เจอภาวะไม่สามารถปฏิบัติได้เมื่อถึงเวลา จนต้องเลื่อนออกไป ก่อนหน้านี้ก็มีบางฉบับกฎหมายแม่ออกมาแล้ว แต่ออกกฎหมายลูกซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติไม่ทันก็มี บางกฎหมายหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ปฏิบัติทำไม่ทัน ก็ต้องแก้กฎหมายยกเลิกกรอบเวลาออกไปก็มี

ไม่รู้บ้านเมืองมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร

ระบบราชการเป็นใหญ่ วัฒนธรรมแบบราชการเป็นหลัก การดำเนินงานไม่มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุ ออกกฎมาเพื่อให้ทำเท่าที่จะทำได้ และไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ผู้ที่จะมีความผิดมีแต่ประชาชนเท่านั้น

เช้าชาม เย็นชาม จะพินาศไหมนะ