วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงในฐานะประตูเชื่อมจีนแดง-โลก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (7)
ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ.1949 และเจียงไคเช็กนำพลพรรคกว๋อหมินตั่งและชาวจีนนับล้านคนไปตั้งถิ่นฐานที่ไต้หวันแล้ว จีนมิได้แตะต้องฮ่องกงมากนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฮ่องกงยังมีสัญญาเช่ากับอังกฤษมาค้ำคออยู่

แต่นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งยังมาจากการที่จีนได้อุทิศเวลาให้กับการฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ หลังจากที่ต้องผ่านวิบากกรรมจากภัยคุกคามต่างๆ มาอย่างยาวนานนับแต่ ค.ศ.1839 เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามกับอังกฤษ สงครามกับชาติตะวันตกและญี่ปุ่น กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อกับกบฏนักมวย การปฏิวัติสาธารณรัฐ และสงครามกับญี่ปุ่น

วิบากกรรมดังกล่าวทำให้จีนย่อยยับแทบล่มสลาย และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจได้และทำการฟื้นฟูประเทศ

จีนจึงเรียกตนเองในเวลานั้นว่า จีนใหม่

 

แต่กับฮ่องกงที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนั้น “ใหม่” มานานแล้ว แต่ก็ “ใหม่” ไม่เหมือนกับจีน เนื่องจากทั้งสองต่างมีการปกครองคนละระบอบ กล่าวคือ ฮ่องกงถูกปกครองผ่านลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ส่วนจีนถูกปกครองผ่านลัทธิสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ

ส่วนการเมืองนั้นทั้งสองมีคล้ายๆ กันคือ เผด็จการ

แต่ถึงแม้ฮ่องกงจะไม่มีประชาธิปไตยก็ตาม แต่อังกฤษก็มิได้ห้ามในเรื่องการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกต่างๆ มากนัก จากเหตุนี้ ฮ่องกงจึงเติบโตด้วยสีสันของความเป็นเสรีนิยมในหลายๆ ด้าน

เหตุดังนั้น หลัง ค.ศ.1949 การเปลี่ยนแปลงในจีนจึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในทางธุรกิจและการลงทุนในฮ่องกงขึ้น เพราะด้วยระบอบที่ต่างกัน แต่มีพรมแดนที่ติดกัน ได้ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนเกิดความหวาดระแวงจีนขึ้นมา แต่ผลกระทบนี้ก็เป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ

ไม่นานหลังจากนั้น ฮ่องกงก็กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

 

หลังจากที่จีนฟื้นฟูประเทศเป็น “จีนใหม่” ที่มีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่ง จีนก็เริ่มหันมาใส่ใจฮ่องกงอย่างจริงจัง โดยใน ค.ศ.1955 โจวเอินไหล (ค.ศ.1898-1975) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้เจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ว่าการฮ่องกงเกี่ยวกับสถานะของฮ่องกงขึ้น

ประเด็นของการเจรจามุ่งไปที่การบริหารจัดการเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง โดยจีนเห็นว่าจีนกับอังกฤษควรร่วมกันแสวงหาระเบียบปฏิบัติ (rule of conduct) อันพึงมีต่อฮ่องกง ซึ่งโจวเอินไหลได้พยายามทำความเข้าใจร่วมกัน (Entente Cordiale หรืออองตองต์ กอค์ดิอาล) กับอังกฤษตลอดทศวรรษ 1950 จนถึงต้นทศวรรษ 1960

แต่ความพยายามดังกล่าวไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ครั้นพอถึงกลางทศวรรษ 1960 การเจรจาดังกล่าวก็หยุดชะงักลง เมื่อจีนเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่พวกซ้ายจัดที่เรียกตัวเองว่ายามพิทักษ์แดงหรือเรดการ์ด (Red Guard) เข้ากวาดล้างกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง

โดยกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้มีการกระทำอันไม่เป็นคอมมิวนิสต์

จีนเข้าสู่ยุคตกต่ำเสื่อมถอยอีกครั้งหนึ่ง เวลานั้นเรดการ์ดที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในวัยศึกษา (คือเป็นนิสิต นักศึกษาและนักเรียน) ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีบทบาทในการตัดสินผิดถูกกับผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างอยุติธรรมเป็นจำนวนมาก

 

การปฏิวัติวัฒนธรรมดังกล่าวได้แผ่อิทธิพลไปยังฮ่องกงเช่นกัน ด้วยฝ่ายซ้ายในฮ่องกงได้ขานรับกระแสนี้อย่างเต็มที่ โดยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1967 ฝ่ายซ้ายในฮ่องกงได้จัดให้มีการเดินขบวนเพื่อแสดงถึงความเป็นซ้ายของตน พร้อมกับแสดงท่าทีที่รุนแรงก้าวร้าว

ผู้เดินขบวนได้ชูหนังสือเล่มเล็กที่มีชื่อว่าคติพจน์เหมาเจ๋อตง หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในอีกชื่อหนึ่งว่าสมุดปกแดง สะบัดใส่หน้าตำรวจฮ่องกงอย่างท้าทาย และเปล่งคำขวัญและคำด่าทอใส่ตำรวจจนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจลขึ้นมา

อนึ่ง คติพจน์เหมาเจ๋อตง หรือสมุดปกแดงนี้เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดเท่าสมุดพกที่สามารถใส่กระเป๋าเสื้อได้ เนื้อหาภายในเป็นถ้อยคำของเหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1893-1976) ผู้นำจีนในขณะนั้น ที่คัดสรรจากคำกล่าวปราศรัยหรือข้อเขียนของเหมาที่มีขึ้นในวาระต่างๆ มารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ พวกเรดการ์ดจะพกหนังสือเล่มนี้ติดตัวและใช้มันเป็นประดุจอาวุธและคัมภีร์ไปพร้อมกัน เรดการ์ดจำนวนมากสามารถท่องบ่นถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ได้ด้วยความภูมิอกภูมิใจ

ประดุจหนึ่งการท่องบ่นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาก็มิปาน

อย่างไรก็ตาม การจลาจลที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้เดินขบวนกับตำรวจขึ้นมา มีผู้เสียชีวิต 51 ราย บาดเจ็บและถูกจับกุมอีกหลายร้อยคน มีสาธารณสมบัติและสถานที่ราชการหลายแห่งถูกเผาทำลาย เหตุทั้งหมดล้วนมาจากความคลั่งไคล้ในอุดมการณ์จนหน้ามืดตามัวทั้งสิ้น

คำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วชาวฮ่องกงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไรกับอุดมการณ์สังคมนิยมของจีน?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจดูได้จากกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม นั่นคือ ช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมหนึ่งปี ทางการฮ่องกงได้ทำข้อตกลงยินยอมให้สหรัฐใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารในระหว่างสงครามเวียดนาม

ข้อตกลงนี้แม้จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นการกำหนดโดยอังกฤษ แต่ในด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของชาวฮ่องกงว่า ลึกลงไปแล้วยังมีความหวาดระแวงจีนคอมมิวนิสต์อยู่ในระดับหนึ่ง

ภายหลังการจลาจล ค.ศ.1967 ไปแล้ว ฝ่ายซ้ายในฮ่องกงก็มีท่าทีที่สงบลง และไม่เคยมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงอีกเลย แต่ขณะเดียวกันก็มิได้หายสาบสูญไปไหน เพียงแต่ได้เปลี่ยนบทแสดงมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ คือเป็นเสมือนตัวแทนประชาสัมพันธ์ข่าวสารในจีน ตลอดจนหนังสือหรือนิตยสารทางการเมืองสู่โลกภายนอก

อย่างหลังนี้ได้กลายเป็นที่พึ่งให้กับฝ่ายซ้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย

เหตุดังนั้น ตลอดห้วงที่จีนยังมิได้มีนโยบายเปิดประเทศอยู่นั้น ฮ่องกงจึงเป็นสื่อกลางที่ดีระหว่างจีนกับโลกภายนอก ทำให้โลกภายนอกรู้เรื่องราวในจีนเป็นระยะๆ

 

ความสงบยิ่งมีมากขึ้นเมื่อจีนได้เข้าไปมีที่นั่งในสหประชาชาติแทนที่ไต้หวันใน ค.ศ.1971 แต่ความสงบนี้ก็ดำรงอยู่ได้ไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะพอถึง ค.ศ.1974 ฮ่องกงก็เกิดวิกฤตการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมา

วิกฤตนี้มีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพียงแต่มันถูกกวาดให้ไปอยู่ใต้พรมจึงไม่เป็นที่รู้กัน แต่พอถูกกวาดไปมากเข้า พรมนั้นก็นูนพองสูงขึ้นเป็นที่ชัดเจน และกว่าความจะแตก วิกฤตนี้ก็กัดกร่อนฮ่องกงจนเสียหายอย่างหนัก

จากวิกฤตนี้ได้ทำให้ทางการฮ่องกงจำต้องจัดตั้งคณะทำงานที่มีชื่อว่าคณะกรรมาธิการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง (Commission Against Corruption) ขึ้นใน ค.ศ.1974 และพอถึง ค.ศ.1975 สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งอังกฤษได้เสด็จเยือนฮ่องกงเป็นครั้งแรก

แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง สงครามในอินโดจีนได้ยุติลง ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยในสงครามนี้และเปลี่ยนอินโดจีนเป็นคอมมิวนิสต์ จากเหตุนี้ ฐานปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐก็ต้องสิ้นสุดไปด้วย

ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนทำให้ฮ่องกงตกอยู่ในอาการวิตกจริตอีกครั้งหนึ่ง ว่าบัดนี้ตนได้ตกอยู่ในวงล้อมของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เสียแล้ว

แต่ยังไม่ทันที่วิตกจริตนั้นจะทำให้สติของฮ่องกงแตกกระเจิง มรณกรรมก็มาเยือนเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ.1976 มรณกรรมของเขาเป็นสัญญาณแจ้งเตือนว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยที่หลังจากนั้นไม่นานนัก แกนนำของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ถูกจับกุมหลายคน

และถูกพิพากษาลงโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตและไม่ตลอดชีวิต

พอถึง ค.ศ.1977 เติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ.1904-1997) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกเรดการ์ดกำจัดไปก่อนหน้านั้น ได้หวนกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่ยินดีต้อนรับของชาวจีนทั่วไป

และเริ่มยอมรับว่าเขาเป็นผู้นำสูงสุดของจีนคนต่อไปแทนเหมาเจ๋อตงผู้ล่วงลับ