คำ ผกา | อำมหิต เลือดเย็น และใจเย็น

คำ ผกา

มีข่าวเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่สนใจของใครมากนักแต่สำคัญมาก

นั่นคือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาทางการเงิน และปัญหานี้อาจส่งผลกระทบกับการดูแลผู้สูงอายุ กระทบโครงการนมโรงเรียน อาหารกลางวันโรงเรียน และอาจทำให้ไม่สามารถรับคนเข้ามาทำงานเพิ่มหรือแม้แต่จ่ายเงินเดือนพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว ในปีงบประมาณปี 2564

และนี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าที่มารายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากสามแหล่งด้วยกันคือ หนึ่ง ภาษีโรงเรือน สอง ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต สาม เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

ส่วนที่เกิดปัญหา (อย่างที่ไม่ค่อยมีใครรู้) คือ เมื่อมีการยกเลิกภาษีโรงเรือนและออกเป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายฉบับนี้ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถเก็บภาษีโรงเรือนได้มาตั้งแต่มี 2562 และเพิ่งจะได้เริ่มเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ในปี 2563 และเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด รัฐบาลก็มีมาตรการ “ช่วยเหลือประชาชน” ด้วยการประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไป 90% ทำให้ท้องถิ่นที่สองปีก่อนก็ไม่ได้จัดเก็บแล้วปีนี้พอจะเริ่มเก็บก็เก็บได้แค่ร้อยละสิบของที่ควรจะเก็บได้เท่านั้น

ส่วนรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วแบ่งมาให้คือภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40

นอกจากนี้ ในรายงานข่าวบอกว่า เดือนสิงหาคม เงินที่รัฐบาลโอนมาให้ลดลงกว่าร้อยละ 70 และภาษีที่ได้รับผลประทบจากโควิดมากที่สุดคือ รายได้จากภาษีสรรพสามิต

ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลนั้น ท้องถิ่นใช้ได้จริงแค่ร้อยละ 10 ของเงินที่ให้มา เพราะที่เหลือมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ตามที่รัฐบาลกำหนด ระบุมาเท่านั้น ใครอยากอ่านรายละเอียด ตามไปอ่านตามลิงก์นี้ได้เลย

https://www.matichon.co.th/region/news_2326906

ด้วยสภาพนี้ บอกได้เลยว่าคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคมอีกแล้ว นั่นคือ เด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องนมโรงเรียน อาหารกลางวันเด็ก เงินช่วยเหลือดูแลคนแก่

ในกรุงเทพฯ หรือคนที่อยู่ในเมืองอาจจะไม่เห็นภาพว่า บทบาทของท้องถิ่นและไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. ในช่วงสองทศวรรษให้หลัง มีบทบาทในการดูแล สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของการจัดการโรงเรียนเทศบาล บทบาทในการดูแลสวนสาธารณะ สนามกีฬาในชุมชน บทบาทในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน การถักทอเครือข่ายของผู้สูงอายุให้ดูแลกันและกัน มีกิจกรรมกีฬา สันทนาการร่วมกัน ทำให้เกิดเครือข่ายคนสูงวัยที่แข็งแรง ไปดูแลคนแก่ที่อ่อนแอกว่า เปราะบางกว่า ผู้ป่วยหรือคนแก่ในชุมชนมี อสม.ไปเยี่ยมที่บ้าน

ยังไม่นับ facility ประเภทรถพยาบาล รถฉุกเฉิน บริการกู้ภัยต่างๆ ที่เมื่อมาอยู่ในความดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว สำหรับชาวบ้านประชาชน มันเข้าถึงง่ายกว่า เป็นกันเองกว่า สามารถดู บริการประชาชนได้ทันท่วงทีกว่า

สำหรับฉัน function เหล่านี้จาก อบต. จากเทศบาล มีคุณูปการเกินกว่าเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ สนามกีฬา หรือสวนสาธารณะเล็กๆ ไม่ต้องสวยงามมาก อาจจะดูเฉิ่มๆ เชยๆ สีแปร๋นๆ เป็นบางจุด

แต่อย่างน้อยมีฟังก์ชั่นของการเป็นสวน เป็นสนาม มีต้นไม้ มีทางเดิน ทางวิ่ง มีเครื่องออกกำลังกายประมาณหนึ่ง แค่นี้ก็ทำให้ชาวบ้านชาวเมือง หรือคนแก่ มี “พื้นที่” สำหรับการผ่อนคลายอารมณ์ ได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบกัน ทำให้คนวัยทำงานมีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายโดยไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนส

เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิต ลดปัญหาการเกิดโรคซึมเศร้า โรคเหงา ถูกทอดทิ้งของคนแก่ ลดภาระของคนวัยทำงานในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

เพราะเมื่อคนแก่ได้ออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ก็ทำให้คนแก่มีสังคมของตัวเอง

อย่างน้อยที่สุดก็ลดภาระทางอารมณ์แก่ลูกหลาน ได้ทำมาหากินเต็มที่ ไม่ต้องมารับมือกับภาวะเครียดหรือซึมเศร้าของปู่-ย่า ตา-ยาย

การมีทีม อสม.มาเยี่ยม และดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมืออาชีพ ก็ทำให้ต้นทุนชีวิตของครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงลดลงไปอย่างมหาศาล

ต้นทุนที่ลดลงนี้ย่อมหมายถึงรายได้จ่ายที่ลดลง และมีเวลาไปทำงานสร้างรายได้ให้มากขึ้น

สนามฟุตบอล หรือสนามกีฬาเล็กๆ ของเทศบาลหรือ อบต. ขนาดเล็กก็ทำให้เด็กๆ ในชุมชนที่ไม่ได้มีพ่อ-แม่ร่ำรวยจะส่งไปเรียนเทนนิส ตีกอล์ฟ หรือครีเอตกิจกรรมสร้างสรรค์ร้อยแปดพันเก้าให้ได้ อย่างน้อยก็มีสนามฟุตบอล ตะกร้อ ให้ได้ไปปลดปล่อยพลัง บางเทศบาลจ้างโค้ชกีฬามาคอยดูแลเด็กๆ

หรือจัดระบบให้พ่อ-แม่จ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย ถ้าอยากให้ลูกได้ฝึกจริงจังมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนแต่เป็น safety net ที่ “การเมือง” ท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นพยายามบริหารให้กับประชาชน และแม้ในช่วงหลังรัฐประหาร ที่การปกครองส่วนท้องถิ่นถูกแช่แข็งไป

แต่ท้องถิ่นส่วนมากก็ยังพยายามอย่างมหาศาลท่ามกลางข้อจำกัดที่จะ maintain ฟังก์ชั่นเหล่านี้ที่สู้อุตส่าห์สร้างสมมาไม่ให้ล่มสลายไป

ยิ่งมานั่งคิดเรื่องเหล่านี้ในบริบทของสถานการณ์โควิดและหลังโควิดที่คนไทยต้องเผชิญกับภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า จากมาตรการรับมือกับโควิดที่ห่วยแตกของรัฐบาล ฟังก์ชั่นที่เป็น safty net ของส่วนท้องถิ่นที่ทวีความสำคัญและจำเป็นไปอีกทบเท่าทวีคูณ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูคนแก่ เงินที่จะให้คนแก่ นมที่จะให้เด็กกินในโรงเรียน อาหารกลางวัน ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ตอนนี้อาจต้องเจอกับสภาพขายของไม่ได้ (ฉันเดินตลาดที่เชียงใหม่ แม่ค้าบางคนบอกว่าบางวันขายของได้สิบบาท ย้ำว่า สิบบาท) ตกงาน การเผชิญกับภาวะหนี้สินพะรุงพะรัง

ถ้าคิดว่าภาคอุตสาหกรรมบริหารแย่ หันไปมองภาคเกษตรว่าจะช่วยพยุงตรงไหนได้บ้างก็พบคำตอบว่ามันพังพอๆ กัน

ดังนั้น ภาวะ “ขาดเงิน” ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ย้ำว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะถ้าท้องถิ่นขาดเงินที่จะทำงานในจุดที่เขาเคยพยุง “social security” ของคนรากหญ้าไว้อย่างมหาศาลหากเราจะแปร security ตรงนั้นเป็นตัวเงิน

ถ้าเรารักษา safety net ตรงนี้เอาไว้ไม่ได้ แผลทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้ออยู่ตอนนี้จะปริแตกชนิดที่ไม่อาจจะห้ามเลือดได้ทันอีกแล้ว

บอกได้เลยว่าสภาพเศรษฐกิจพังทลายหลังโควิดในประเทศไทยที่ยังไม่กลายเป็นจลาจลเพราะคนหิวและตกงานนี้ก็เพราะ safety net จากความเข้มแข็งของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยพยุงเอาไว้อย่างที่ไม่ค่อยมีใครได้สังเกตเห็นและประเมินศักยภาพของท้องถิ่นต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอมา

รัฐบาลรัฐประหารปี 2557

เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะฆ่าคนไทยทั้งประเทศให้ค่อยๆ ตายลงไปอย่างเลือดเย็นแท้ๆ

ดังนั้น คงไม่เป็นการเกินเลยที่เราจะกล่าวว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อำมหิตและเลือดเย็นที่สุดรัฐบาลหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รัฐบาลนี้จงใจจะฆาตกรรมประชาชนอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ขึ้นมามีอำนาจ รัฐบาลนี้ก็ตั้งใจที่จะดีเลย์การเลือกตั้งออกไปให้ยาวนานที่สุด กว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ กว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อเรา กว่าจะได้เลือกตั้งระดับชาติ กว่าจะทำให้ผลการเลือกตั้งระดับชาตินำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคที่นำโดยพลังประชารัฐแบบชนิดที่ค้านสายตาประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เพราะพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด กลับไม่ใช่พรรคที่ได้ตั้งรัฐบาล – กว่ามาหลายกว่าขนาดนี้ – รัฐบาลประยุทธ์สอง ก็ยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น

การไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลต่อความอ่อนแอของประชาชนอย่างไรบ้าง?

เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง ก็ทำให้องคาพยพของการบริหารท้องถิ่นเฉื่อยชาไปโดยปริยาย เพราะนายกฯ และสภาท้องถิ่น ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราอยู่ในวาระ 4 ปีแล้วต้องลงเลือกตั้งใหม่ มันแปลว่า 4 ปีนั้นเราต้องพยายามทำงานเพื่อจะชนะการเลือกตั้งอีก

แต่พอไม่มีการเลือกตั้ง หรือไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ไฟในการทำงานก็ย่อมอ่อนล้าไปโดยปริยาย

มากกว่าไฟในการทำงานที่อ่อนล้าลง ระหว่างที่การเลือกตั้งถูกดีเลย์ออกไป ก็มีกระบวนการทำให้องคาพยพของการบริหารส่วนท้องถิ่นอ่อนแอลง

ตั้งแต่การใช้มาตรา 44 ลงโทษ หรือหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของนายกระดับท้องถิ่นหลายแห่ง มีความพยายามใช้ สตง.ตรวจสอบการใช้งบฯ ใช้เงินของท้องถิ่น จนเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การพัฒนา การขึ้นโครงการใหม่ๆ ที่เป็นการทำงานเชิงรุก

ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามค่อยๆ เพิ่มอำนาจ และความสำคัญของหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และผู้ว่าฯ ให้มีบทบาทเหนือนายก อบต. หรือนายกเทศมนตรีอย่างมีนัยสำคัญ

สภาวะเช่นนี้ฉันรู้สึกเหมือนท้องถิ่นถูกผลักให้ไปอยู่ในสภาวะจนตรอก

เขาไม่ได้ฆ่าคุณ แต่เขาตัดแขนตัดขาจนคุณทำอะไรไม่ได้ พอทำอะไรไม่ได้ไปนานๆ เข้า คนก็เริ่มจะรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้นี่

มันน่ากลัวมากที่วันหนึ่งประชาชนจะคิดว่า เอ่อ เราไม่จำเป็นต้องมีเทศบาล มี อบต. ไม่จำเป็นต้องมีนายก หรือคณะบริหารที่มาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกต่อไป

เพราะนั่นเท่ากับว่า แผนการกระจายอำนาจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยก็จะถูกทำลายลงไปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ตามมาคือ ระบบมหาดไทยแบบเก่า จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น

ไม่ต้องดูอื่นไกล เดี๋ยวนี้เราเห็นโฆษณาชวนเชื่อ ถักทอสตอรี่ประมาณ ผู้ว่าฯ แสนสมถะ ปั่นจักรยานไปทำงาน สละเงินเดือนไปไถ่ของออกจากโรงจำนำให้ชาวบ้าน หรือผู้ว่าฯ นั่งเก็บผักบุ้ง บลา บลา บลา

หากเราชะล่าใจ เผลอนิดเดียว

ท้องถิ่นอาจถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้การปกครองส่วนภูมิภาคเข้ามามีบทบาทแทน และพาเมืองไทยถอยหลังไปที่สามสิบปีที่แล้ว

ถ้ามันเป็นเช่นนั้น safety net อันเดียวที่เหลืออยู่ของคนไทย คือการมีคณะบริหารงานบ้านเมือง ที่ยังยึดโยงกับประชาชนหายไปโดยสิ้นเชิง

อำนาจของประชาชนในฐานะพลเมืองที่เสียภาษีและเป็นเจ้าของประเทศก็จะถูกทำให้กลายเป็น “ข้า” ที่อยู่ภายใต้การ “ดูแล” ของมูลนาย รอความช่วยเหลือ เมตตา สงเคราะห์จาก “ข้าราชการ” ที่คิดว่างานของตนเองคือการมาดูแลสัตว์ผู้ยาก ไม่ใช่มาทำงานด้วยสำนึกว่า ตนเองคือ ตัวแทนของประชาชนมาทำงานเพื่อประชาชนให้สมกับที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ

แทนการแข่งขันการสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชนก็จะกลายเป็นการแข่งขันกันว่าใครจะสามารถสำแดงความเป็น “นาย” เหนือประชาชนได้มากกว่ากัน

ประยุทธ์และรัฐบาลของเขาฆ่าเราให้ตายไปอย่างช้าๆ ด้วยการตั้งใจปล่อยให้ประเทศเผชิญกับภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ ด้วยการแสดงความไม่พยายามอย่างสิ้นเชิงที่จะปล่อยเกียร์ว่างด้านเศรษฐกิจ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม

ใช้โควิดเป็นข้ออ้างในการปิดสวิตช์เศรษฐกิจประเทศและปล่อยให้ประเทศเกิดภาวะ “แฮงก์” ทางเศรษฐกิจคาไว้อย่างนั้น จนถึงวันนี้ที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว แต่ก็ยังปล่อยให้ทุกอย่าง “แฮงก์” เหมือนตั้งใจให้ทุกคนตายๆ ตกไปตามกัน

ไม่เพียงแต่ประหารเราทางเศรษฐกิจ ประยุทธ์และรัฐบาลของเขาคือ รัฐบาลที่เข้ามาเพื่อให้เราให้ตายไปอย่างช้าๆ ฆ่าเราจากการเป็น “พลเมือง” ให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตในพิทักษ์ของรัฐบาลผู้นำ ถอดเราออกจากการเป็นเจ้าของประเทศไปสู่การเป็นผู้รอคอยความช่วยเหลือจาก “นาย”

เขาตั้งใจที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นและปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นเหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำขาดอาหาร แล้วจะค่อยๆ เหี่ยวเฉา ยืนต้นตายไปเองโดยที่เขาไม่ต้องเดินมาถอนมันทิ้งให้มือเปื้อน

ผู้มีอำนาจรัฐหลังรัฐประหาร 2557 นั้นอำมหิต เลือดเย็น และใจเย็นกว่าที่เราคิดไว้มากเหลือเกิน