เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ประดุจจะหยาดทะเลเย็น

เมื่อครั้งตะลอนไป “เขียนแผ่นดิน” ทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น จังหวัดสตูลดูจะใช้เวลาเขียนนานที่สุดคือสามปี ระหว่างปี พ.ศ.2533-2534-2535

จำไม่ได้แล้วว่าทำไมอะไรจะปานนั้น

ตามโครงการจะเขียนจังหวัดละสี่แห่ง โดยพยายามจำแนกเนื้อหากว้างๆ เป็นทิวทัศน์ โบราณสถาน หรือปูชนียวัตถุ ศิลปหัตถกรรม ศิลปวัฒนธรรม

หลายจังหวัดไม่เป็นตามนั้น อย่างสตูลนี่ สี่แห่งที่ไปเขียนมาได้คือ

ทะเลบัน (พ.ศ.2533) ปากบารา (พ.ศ.2534) ตะรุเตา รองแงง (พ.ศ.2535)

ร็องแง็งคือ รำร็องแง็งของชาวเกาะหลีเป๊ะ

วิธีเขียนคือ เขียนจากความรู้สึก

ตรงนี้เป็นเคล็ด…ขอบอก

ปกติเราจะนั่งเขียนเงียบๆ ในห้องหรือในสถานที่สงัดสงบเป็นส่วนตัว

ซึ่งเป็นการเขียนจาก “ความคิด”

ต่างจากเขียนด้วย “ความรู้สึก”

เขียนจากความคิด เราจะตกเป็นเหยื่อของคำ คือต้องค้นหาถ้อยคำมาสื่อความคิด

เขียนด้วยความรู้สึกนั้น เหมือนถ้อยคำมันจะมาหาเราเอง โดยไม่ทันต้องไปค้นหามัน

ประสบการณ์เขียนจากความรู้สึกนี้ได้จาก “เขียนแผ่นดิน” โดยเฉพาะบททะเลบันที่สตูล

เล่าสู่กันฟังละกัน

ถามเพื่อนว่ามาสตูลจะพักที่ไหนดี เพื่อนว่าไปที่ทะเลบันไหม ตอบทันทีว่าไปสิ ด้วยคิดว่าคงเป็นทะเลอันดามันแถวนั้นกระมัง

ไปถึงเย็นมากแล้วอยากเปลี่ยนที่ทันทีด้วยไม่เห็นทะเลที่ไหน กลายเป็นอุทยานแห่งชาติกลางป่ากลางเขา มีแต่เสียงเขียดร้องระงม เขาเรียก “เขียดว้าก” หนวกหูจะตาย

เลือกไม่ได้แล้วนี่ เอาวะ

ขนของเข้าห้อง บริเวณที่พักด้านหน้านี่เองจึงได้เห็นความงามของทะเลบัน ที่มันริบเอาตาเอาใจไปหมด

เบื้องหน้าคือภูเขาตระหง่านสดสะกดใจ ทอดเงาลงหนองน้ำใสดูราวจะเป็นกระจกสะท้อนภาพเขาทั้งลูกลงบนแผ่นกระจกน้ำนั้น

อึดอัดเหมือนภูเขาทับอก

ต้องยกภูเขาออกจากอกให้ได้ในนาทีนั้น

กำลังตั้งท่าจะเขียน จะเก็บคำ ก็พอดีฝนเริ่มโปรย ยิ่งทำให้ภาพภูเขาในกระจกน้ำนั้นเริ่มพร่าเลอะเลือนเหมือนภาพสีน้ำแล้วเปลี่ยนเป็นภาพเปรอะป้ายละลายสี

หลบฝนเข้าห้อง แต่ความอึดอัดในอกในใจยังไม่หมดไป

รุ่งเช้านั่นแล้ว ภูเขาลูกใหม่ในกระจกน้ำยิ่งสวยขาดใจ

คำเริ่มร่ายเรียงมาเริงรำ

…สายแสงส่องน้ำค่อยเน้นสี

ไหวทีท่วงสะทกสะเทือนไหว

ปราดปรายป้ายฉับวับวับไว…

ก้านกิ่งมิ่งไม้ในลายน้ำ…

แดดเช้าเริ่มแรง ยิ่งขับเน้นเส้นสีสดสว่าง

…แสงส่องสาดไล้ค่อยไล่สี

ตรงนี้ตรงนั้นระเนนส่ำ

ส่ายเขียวซ้อนเขียวสดเขียวคล้ำ

เต็มลำผาลาดทะเลบัน

จากภาพในกระจกน้ำเลื่อนขึ้นดูภูเขาจริงตระหง่านฟ้า ซึ่ง…

…แดดเช้าฉายเช้ามาช้าช้า

ค่อยเคลื่อนค่อยคลาค่อยเฉิดฉัน

สว่างวาบฉาบไพรพนาวัน

ค่อยลดค่อยหลั่นแล้วเลื่อนลา

ภูผาดั่งมีชีวิต

ทอดสนิทอยู่ในแสงอุษา

ทอดเงาเคล้าน้ำฉ่ำชีวา

เป็นเพื่อนแผ่นฟ้าแผ่นดิน!

เหมือนยกภูเขาออกจากอกจริงๆ

คำมันเขียนตัวมันเอง ออกมาจากความรู้สึกที่ได้รับจากภาพจริงสดๆ ต่อหน้าต่อตา

นี่ถ้ามีใครมาบรรยายหรือถ่ายภาพให้ได้ดูได้รู้ก่อน คำก็คงถูกประดิษฐ์ไปตาม “ความคิด” ไม่เป็นคำที่ออกมาสดๆ กับ “ความรู้สึก” สดๆ

บท “ทะเลบัน” ให้บทเรียนเรื่องการเขียน “กวี” ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย

มีโอกาสมาสตูลอีกครั้ง เสียดายไม่มีเวลาได้ไปคารวะ “ครูกวีทะเลบัน”

และเกาะแก้วอันระดาษอยู่กลางเวิ้งอ่าวปากบารา

“ประดุจจะหยาดทะเลเย็น” นั้น

แต่ได้ไปรับรู้วิถีชีวิตชุมชนตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า ซึ่งเป็นเมืองเก่าดั้งเดิมของสตูลที่กำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสตูล มีทั้งบ้านพักชุมชน (โฮมสเตย์) พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ ฯลฯ

สำคัญคือ สตูลได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “อุทยานธรณีโลกสตูล” แห่งแรกของไทยเมื่อปี พ.ศ.2561

ขอบฟ้ามหาสมุทรกำลัง

กล่อมกวีให้สตูล

๐ สายแสงส่องน้ำค่อยเน้นสี

ไหวทีท่วงสะทกสะเทือนไหว

ปราดปรายป้ายฉับวับวับไว

ก้านกิ่งมิ่งไม้ในลายน้ำ

แสงส่องสาดไล้ค่อยไล่สี

ตรงนี้ตรงนั้นระเนนส่ำ

ส่ายเขียวซ้อนเขียวสดเขียวคล้ำ

เต็มลำผาลาดทะเลบัน

แดดเช้าฉายเช้ามาช้าช้า

ค่อยเคลื่อนค่อยคลาค่อยเฉิดฉัน

สว่างวาบฉาบไพรพนาวัน

ค่อยลดค่อยหลั่นแล้วเลื่อนลา

ภูผาดั่งมีชีวิต

ทอดสนิทอยู่ในแสงอุษา

ทอดเงาเคล้าน้ำฉ่ำชีวา

เป็นเพื่อนแผ่นฟ้าแผ่นดิน