วิเคราะห์ | “ประชาธิปัตย์” เด็กดื้อในอุ้งมือทหาร? ที่รัฐบาลจำใจกอดคอร่วมกัน

ผ่านมา 1 ปี “ครม.ประยุทธ์” ที่มาจากการเลือกตั้ง ในการจับมือของ 3 พรรคใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย สถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลยังคงมีสภาพเปรียบเป็น “ศึกสามก๊ก” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่แผลงอิทธิฤทธิ์ใส่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมเสมอ

ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องกรำศึกกับคนเสื้อแดง โดย “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” ก็ร่วมกรำศึกด้วย ซึ่งขณะนั้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม ได้รับการเชิญมาเป็นโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ส่วน “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. เตรียมต่อคิวเป็น ผบ.ทบ.

ในเวลานั้นมีการเรียกว่า “รัฐบาลเทพประทาน” โดยมี “สุเทพ” เป็นคีย์แมนสำคัญ โดยการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นในค่ายทหาร ภาพของ “พรรคประชาธิปัตย์” จึงถูกมองเป็น “นอมินีทหาร” ด้วย

แต่สุดท้าย “เครือข่ายทักษิณ” ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง หลังส่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก ทำให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียของ และทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” มาเป็นฝ่ายค้าน

เวลาต่อมาพรรคเพื่อไทย “สะดุดขาตัวเอง” ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เปิดช่องให้ “สุเทพ” ขนทัพ “ประชาธิปัตย์” ตั้งทัพ กปปส.ขับไล่ “ยิ่งลักษณ์” ปูทางสู่การทำรัฐประหารโดย “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช. และเป็นนายกฯ เองยาว 5 ปี ถึงให้มีการเลือกตั้ง

คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ “นอกสมการ” เพราะ คสช.ได้ตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมา แล้วใช้ “พลังดูด” ดึง ส.ส.พรรคอื่น ซึ่งคนในประชาธิปัตย์ก็ถูกดูดไปด้วย

กระแสศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยืนอยู่บนฐาน “เอา-ไม่เอา คสช.” ทำให้ “อภิสิทธิ์” หวังโกยคะแนนช่วงท้าย ชูแคมเปญไม่หนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ทำให้คะแนนยิ่งตกไปฝั่ง พปชร. นำมาสู่การเป็น “พรรคต่ำร้อย” จน “อภิสิทธิ์” ต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. และเกิดศึกในพรรคประชาธิปัตย์หลังการขึ้นมาของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”

หากในที่สุด ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็บรรลุข้อตกลงได้เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับโควต้าบริหารกระทรวงที่น่าพอใจพอสมควร

แต่นับจากนั้นบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็เดินเกมแบบคู่ขนานสร้างความปวดหัวให้รัฐบาลมาโดยตลอด

เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 กรณีมี ส.ส.ประชาธิปัตย์บางส่วน ได้ออกตัวหนุนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44 โดย 4 ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่โหวตสวนฝั่งรัฐบาลคือ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยอ้างว่าญัตตินี้เป็นญัตติของพรรค ที่มีการนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมพรรคมาก่อนแล้ว และมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ยกมือรับรอง 20 คน

ต่อด้วยควันหลงศึกซักฟอกรัฐบาล ช่วงมีนาคม 2563 ที่ “โควิด” เริ่มระบาดหนักขึ้นในไทย มาพร้อมปม “หน้ากากล่องหน” โดยขณะนั้นมีรายงานข่าวว่า คนใกล้ชิดรัฐมนตรีฝั่ง พปชร.มีส่วนพัวพันการกักตุนหน้ากากอนามัยและจำหน่ายในราคาสูงเกินควร

ทำให้ ส.ส.ฝั่งที่ไม่หนุนการร่วมรัฐบาลออกโรงเคลื่อนไหว ให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากรัฐบาล พร้อมย้ำถึงเงื่อนไขร่วมรัฐบาล 3 ข้อ 1.รับนโยบายประกันรายได้ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ที่ถือว่าจี้ใจ “บิ๊กตู่” คือที่นายพนิตระบุในไลน์กรุ๊ป ส.ส.ประชาธิปัตย์ ว่า “ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราคงจะต้องตัดสินใจไม่พายเรือให้โจรนั่งแล้วครับ”

สุดท้าย “จุรินทร์” ได้ออกมาระบุว่า การเข้าร่วมรัฐบาลเป็นมติร่วมกันของ ปชป.ที่โหวตกันได้ 61 ต่อ 16 เสียง

ต่อมาหลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ดาวกระจายไปทั่วประเทศ เป็นภาคต่อจาก “แฟลชม็อบ” เมื่อช่วงต้นปี โดยได้เสนอ 3 ข้อเรียกร้อง 1.เลิกคุกคามประชาชน 2.แก้รัฐธรรมนูญ 3.ยุบสภา พร้อม 2 เงื่อนไข 1.ห้ามทำรัฐประหาร 2.ห้ามตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

กระแสที่จุดติดครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้กลไกในสภามารับมือ หนึ่งในนั้นคือการตั้ง กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วม กมธ.ชุดนี้ด้วย แต่ไร้เงาฝ่ายค้าน เพราะมองว่าเป็นการยื้อเวลาและไม่ขอเป็นนั่งร้านให้รัฐบาล

อีกด้านหนึ่งเริ่มมีการขยับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กมธ. ขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เตรียมทำร่างฉบับรัฐบาลเสนอไปยังสภา ในส่วนของฝ่ายค้านก็มีการทำร่างเสนอไปยังสภาเช่นกัน

และกลายเป็นฝั่งรัฐบาลที่มีปัญหาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะได้แก้รัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล แต่งานนี้ขอหล่อโชว์เดี่ยว หลังมี ส.ส.บางส่วนต้องการให้พรรคเสนอร่างของตัวเองด้วย แต่สุดท้ายก็ยอมส่งร่างร่วมกับรัฐบาล

วีรกรรมครั้งถัดมาของพรรคประชาธิปัตย์ คือกรณีการพิจารณางบประมาณโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ของกองทัพเรือ หลังเหตุชนวนมาจากคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ได้มีมติ 5 ต่อ 4 โหวตผ่านงบฯ ปี 2564 ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ

ซึ่ง 1 ใน 4 ซึ่งมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ คือ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทว่าเมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมมากขึ้น ที่ประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ กมธ.งบฯ ทั้ง 7 คนฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ไปหารือกับ กมธ.พิจารณางบฯ ปี 2564 ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ให้ ทร.ทบทวน และนำวาระจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปจากวาระการพิจารณาของ กมธ.พิจารณางบฯ ปี 2564 ชุดใหญ่

ที่สุดฝั่งรัฐบาลต้องสั่งให้ “ถอย” เลื่อนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไป 1 ปี พร้อมโยนให้กองทัพเรือไปเจรจากับทางการจีน เพื่อเจรจาขอ “ชะลอ” การจ่ายเงินไปก่อน

ล่าสุดเป็นการงัดข้อระหว่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” กับกรณีการแบน 3 สารพิษ กลับมาอีกครั้ง หลัง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ได้จัดแถลงข่าว “สธ.ย้ำจุดยืนแบน 3 สารเคมีอันตราย” โดยมี “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ ออกมาทิ้งบอมบ์ใส่พรรคประชาธิปัตย์ ยืนกรานให้แบน 3 สารพิษ

ซึ่งเป็นไปคนละทางกับ “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่ไปรับเรื่องจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรให้ทบทวนการใช้สารพาราควอต ที่ระบุถึงข้อมูลทางวิชาการว่าใช้ต่อไปได้ ไม่มีสารตกค้าง เพื่อจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนสารพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย

กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์หัวหน้ารัฐบาลต้องออกมายืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กระทบการทำงานของรัฐบาล เพราะการมีความคิดเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ต้องพยายามเข้าใจกันและกัน หากคิดต่างกันก็ต้องฟังเหตุผล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้เป็นภาพ “ประชาธิปัตย์” เปรียบเป็น “เด็กดื้อใต้อุ้งมือทหาร” รวมทั้งการเล่น “บทพระเอก” ในอีกทางหนึ่งเพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมจากกระแสสังคมเป็นระยะๆ

เป็นความสัมพันธ์แบบ “เด็กดื้อ” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถ “ไล่ออก” จากบ้านได้ นอกจากต้องทนร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป

อย่างน้อยก็อาจจะเป็นแง่ดีต่อรัฐบาล มากกว่าที่จะผลักประชาธิปัตย์ไปเป็นฝ่ายค้าน และกลายเป็นศัตรูที่จะยิ่งยากในการรับมือก็เป็นได้