จัตวา กลิ่นสุนทร : บ้านเมืองเดินทางมาถึงจุดเปราะบาง ถึงเวลารัฐบาลต้องยอมถอยบ้าง

จําได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่เรียกกันสวยงามว่า” รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะเป็นการยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดนี้ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนทางอ้อมโดยเลือกกันเองของแต่ละจังหวัดให้เหลือจำนวน 10 คนก่อนเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน ได้ 76 คนรวมกับ ส.ส.ร.สาขากฎหมายมหาชน 8 คน, ส.ส.ร.สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน, ส.ส.ร.ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ทั้งหมดรวมเป็น 99 คน

สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลายกร่างทั้งหมด 233 วัน (2539-2540) รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ผ่านสภาออกมาประกาศใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2540

และตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่ามาถูกฉีกทิ้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.)

 

นําเรื่องนี้มากล่าวอีกครั้งเพียงอยากจะบอกว่า ถ้ามีความจริงใจในการที่จะแก้กติกาในการปกครองประเทศให้เป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกฝ่ายโดยประชาชนมีส่วนร่วม ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 คงไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากมากความอะไร จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นย่อมจะไม่ล่าช้าเกินไป

แต่อยากถามตามประสาคนปัญญาน้อย ไม่รู้กฎหมายลึกซึ้งว่าหากจะไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งเอามาแก้ไขปรับปรุงส่วนที่คิดว่าบกพร่องมิได้หรือ?

อาจจะใช้เวลาทำการแก้ไข รวมทั้งงบประมาณไม่มากมายเหมือนกับ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) สั่งการยกร่างขึ้น 2 ครั้ง ดังที่ผ่านมาก่อนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ด้วยซ้ำ

ในฐานะเป็นคนหนึ่งใน 76 คนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี พ.ศ.2539 ที่มาจากจังหวัดต่างๆ โดยได้รับเลือกมาจากจังหวัดระยอง ย่อมต้องสนับสนุนกลุ่มอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่เขานัดหมายพูดคุยกันก่อนจะมีแถลงการณ์ เรื่อง “เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และข้อคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560”

โดยจะตัดเอาบางส่วนมากล่าวไว้

เช่นว่า ให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” โดยถือเอากระบวนการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายกรัฐมนตรีให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน—

ผู้เกี่ยวข้องต้องผนึกกำลังกันด้วยความจริงใจอย่างไม่ชักช้า ทั้งนี้ ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจไม่ควรยึดติด หรือหวงแหนอำนาจซึ่งจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ทิศทางที่ทุกฝ่ายมุ่งหวังต้องการ

คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเดินหน้าพัฒนาประเทศ โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่ต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนในอดีตที่ผ่านมา–

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 ดูเหมือนจะเป็นฉบับแรกที่กำหนดให้มีผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก หรือเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสที่จะเลือกบุคลากรซึ่งมีความสามารถในสาขาต่างๆ ซึ่งไม่มีความถนัดจัดเจนพอจะลงไปสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้ เพื่อให้มาเป็นรัฐมนตรี

 

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเชี่ยวชาญปราดเปรื่องในศาสตร์ต่างๆ หลายเรื่องราว รวมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้จนยอมรับกันว่าเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ได้พยายามปกป้องรักษาประชาธิปไตยไว้อย่างเหนียวแน่นด้วยความเสียสละ ซึ่งในที่สุดต้องยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2519

ท่านกล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศไทยไว้อย่างน่าขบคิดนานแล้วว่า “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา คณะปฏิวัติเป็นเพียงปลายเหตุ คนโกงต่างหากคือต้นเหตุ–”

มีการพูดคุยกันมากพอสมควร มีเสียงในสังคมดังมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับคุณภาพของผู้มีตำแหน่งในการบริหารประเทศ คุณภาพของผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายรวมถึงบทบาทต่อสังคมการปฏิบัติตนวางตัวว่าไม่ค่อยเหมาะสมเป็นเรื่องเป็นราวแบบไร้สาระประจำวัน บางครั้งบางหนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนประชาชนคนเฝ้าดูกล่าวกันว่าระยะนี้ฝนตกบ่อยๆ เกรงขี้หมูจะไหล และ–

ท่านรัฐมนตรีทั้งหลายที่มาจากผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องปล่อยของแสดงภูมิปัญญา แสดงฝีมือทำงานเพื่อประเทศชาติ ประชาชน โดยมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ของพรรคต้นสังกัด หันมาให้การสนับสนุนสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องบ้าง

 

เวลานี้ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกต่อไปว่าบ้านเมืองได้เดินทางมาถึงจุดเปราะบางใกล้วิกฤต โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ประชาชนทุกข์ยากไม่มีงานทำ นำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงมากมายหลายอย่างติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการหมดหนทางไม่อยากดิ้นรนต่อสู้อีกต่อไปโดยการปลิดชีวิตตัวเอง บางทีหันหน้าเข้าสู่เส้นทางที่ผิดกฎหมายก่ออาชญากรรมจี้ปล้นจนถึงลักเล็กขโมยน้อย

นิสิต-นักศึกษาอีกจำนวนเป็นเรือนแสนที่กำลังจะจบการศึกษากลายเป็นบัณฑิตออกมาหางานทำ ซึ่งในสภาพอย่างนี้คงไม่มีตำแหน่งงานไว้รองรับพอเพียงแน่ๆ พวกเขาจึงออกมาเรียกร้องถามหาสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ตามหาอนาคตของคนรุ่นเขาเอง

เศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ “รัฐบาลทหาร” บริหารประเทศ จนถึงปัจจุบันแม้จะมีการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป อย่างที่นักเรียนได้กล่าวว่า “ขอให้ผู้ใหญ่เลิกโกหกว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง เพราะทุกคนรู้ คนไทยรู้ แต่สลิ่มไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่แท้จริง”

ถึงเวลาผู้บริหารต้องยอมรับความจริงเสียทีว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา “รัฐบาลทหาร” ที่พยายามส่งไม้สืบทอดอำนาจเพื่อจะอยู่ยาวๆ แต่กลับแก้ปัญหาตอบโจทย์ของประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะ “ความแตกแยก” ความยากจนซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผูกขาดเปลี่ยนรัฐมนตรีไปหลายครั้ง แต่ไม่พ้นข้อครหาว่าโอบอุ้มแต่กลุ่มทุน และญาติพี่น้องพวกพ้องมากกว่าจะดูแลผู้คนทุกชนชั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษาเริ่มตื่นตัวทนไม่ไหวลุกขึ้นมาทวงถามรัฐบาล

แต่บังเอิญเกิดปัญหาเรื่องโรคระบาด (Covid-19) ขึ้นมาคั่นเวลาต่ออายุรัฐบาลเสียก่อน

 

ไม่แปลกที่วันนี้เกิด “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” เป็นการรวมตัวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามด้วย “ประชาชนปลดแอก” ออกมาชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย พร้อมข้อเสนอจากการชุมนุมครั้งต่อมาว่า ไม่ต้องการ/รัฐประหาร ไม่เอา/รัฐบาลแห่งชาติ

รัฐบาลมีท่าทีเหมือนกับจะตอบรับ แต่วุฒิสภาส่วนใหญ่ยังดื้อดึงรักษาผลประโยชน์ตัวเอง ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพยายามยื่นหมายจับแกนนำจำนวนมากส่งดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์เวลานี้น่าเป็นห่วงว่าความยุ่งยากจะติดตามมา นำไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เป็นเชื้อไฟต่างๆ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำคดีอย่างสับสนแปลกประหลาดยาวนานของทายาท “กระทิงแดง” การยิงกันสนั่นเมืองในบ่อนพระราม 3 กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งกำลังจะเงียบหาย

และความมุ่งมั่นที่ต้องการจะจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของ “กองทัพเรือ” จากประเทศจีน ราคา 22,500 ล้านบาท ท่ามกลางความทุกข์ยากเดือดร้อนแทบไม่มีจะกินของประชาชน

สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้ออย่างดีในการเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเวลา

ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังไม่ยอมส่งสัญญาณถอย (บ้าง) เลย