เทศมองไทย : “เซฟ แอนด์ ซีลด์” ทางออกท่องเที่ยวไทย?

หน้าหนาวที่ไม่เคยหนาวในเมืองไทย เคยเป็น “ไฮ-ซีซั่น” ของการท่องเที่ยวมานานปีดีดัก ในทางหนึ่งเรามีเทศกาลประจำปีที่เปี่ยมสีสันอย่างเทศกาลลอยกระทง ต่อด้วยคริสต์มาสและปีใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หลากหลายสารทิศ

ในอีกทางหนึ่ง ช่วงเวลาที่หิมะโปรยปรายในประเทศซีกโลกตะวันตกทั้งหลาย อากาศเหน็บหนาวสาหัส สภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้ โดยเฉพาะบรรดาผู้สูงอายุ จึงเป็นช่วงเวลาที่บรรดาสูงวัยทั้งหลายเหล่านั้นปลีกตัวหนีหนาว หันมาใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยและในซีกโลกตะวันออกกันมาก

นักท่องเที่ยวเหล่านี้ยังถือเป็นนักท่องเที่ยวชั้นดี กระเป๋าหนัก ใช้จ่ายทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อสุขภาพสูงมาก

หนาวนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย “หนาวหนัก” กว่าทุกปี

 

อิทธิพลของโควิด-19 ทำให้เมืองไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ “แม้แต่คนเดียว” มาหลายเดือนแล้ว

แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งเพิ่งฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันในประเทศ แต่แหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายยังคงรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ

นั่นเป็นที่มาของโครงการเซฟ แอนด์ ซีลด์ ที่เมอร์ซีเดส ฮัตตัน เขียนถึงเอาไว้ในคอลัมน์แสดงความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวของตัวเองในเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมา

 

ฮัตตันเล่าว่า โครงการเซฟ แอนด์ ซีลด์ ที่ว่านี้ได้รับความเห็นชอบใน “หลักการ” แล้ว แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายละเอียดของแผนการที่จะนำมาปรับใช้ใน 6 แหล่งท่องเที่ยวระดับภูมิภาค โดยที่ “ภูเก็ต” ได้ไฟเขียวให้กลายเป็น “พื้นที่ทดสอบ” โครงการ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

คำถามแรกที่ปรากฏก็คือ แล้วจะ “เซฟ” กันยังไง?

ฮัตตันบอกว่า นักท่องเที่ยวรายใดก็ตามที่บินเข้ามายังภูเก็ต ต้องยอมรับกติกาตรวจหาเชื้อก่อนเป็นลำดับแรกสุด แล้วก็ต้อง “กักกันโรค” 14 วัน แต่เป็นการกักกันโรคในแบบ “หรูหรา” กว่าเดิมไม่น้อย นั่นคือ แทนที่จะกำหนดให้ต้องอยู่แต่ภายในห้องพักของรีสอร์ตที่จองมาเท่านั้น กลับจะเปิดโอกาสให้ไปไหนมาไหนได้ภายในรัศมี 1 กิโลเมตรของรีสอร์ตหรือโรงแรมที่พัก

ว่ากันว่า ใครก็ตามที่ต้องการออกไปไหนมาไหนให้ไกลกว่านั้นในประเทศไทย นอกจากจะต้องยอมอยู่ในพื้นที่เดิมให้ครบ 14 วันและเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกครั้งแล้ว ต้องยอมรับการกักโรคแบบหรูต่ออีก 7 วันหรือ 1 สัปดาห์ และรับการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง หากไม่มีปัญหาจึงจะได้รับอนุญาตได้

เงื่อนไขเหล่านี้แตกต่างและยืดเยื้อเยิ่นเย้อกว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบดั้งเดิมก่อนวิกฤตโควิดมากมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากคำนึงถึงว่า ผู้ที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย เมื่อกลับไปประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับมาตรการกักกันโรคอีกอย่างน้อย 14 วันในประเทศของตนเอง

ยิ่งทำให้หลายคนกังขาว่า “เซฟ แอนด์ ซีลด์” ที่ว่านี้จะมีแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากพอจริงหรือ?

 

แต่เมอร์ซีเดส ฮัตตัน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ด้วยการสืบค้นแบบเร็วผ่านสกายสแกนเนอร์ ให้ผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่า ฮ่องกง เอกซ์เพรส, คาเธ่ย์แปซิฟิก และคาเธ่ย์ ดรากอน ประกาศเปิดบริการบินตรงสู่ภูเก็ตแล้วตลอดทั้งเดือนตุลาคมที่จะถึง ในสนนราคาราว 4,300 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 17,300 บาท)”

นอกเหนือจากนั้น ยังมีรายงานข่าวที่ว่า การบินไทยเตรียมเปิดบริการ “บินตรง” สู่ภูเก็ตแบบเดียวกันนี้จากหลายประเทศ ตั้งแต่เดนมาร์ก, เยอรมนี, อังกฤษ, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และฮ่องกง เพียงแต่ว่ากำหนดเวลาเริ่มให้บริการ ไม่ใช่ต้นเดือนตุลาคม หากแต่ไม่เร็วกว่าราวปลายเดือนพฤศจิกายน รองรับช่วง “พีกซีซั่น” พอดิบพอดี

ข้อสังเกตของฮัตตันก็คือ ใครก็ตามที่ตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวแบบ “เซฟ แอนด์ ซีลด์” ในประเทศไทย จะมีเวลามาท่องเที่ยวแบบประเดี๋ยวประด๋าวเหมือนก่อนหน้านี้ไม่ได้ แถมยังต้องเป็นคนมี “เงิน” ไม่น้อยเลยอีกด้วย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป มีหวังไม่รอด “แฟนซีควอรันทีน” แน่นอน

นักท่องเที่ยวที่ “อดอยากปากแห้ง” ชนิดถึงกับยอมรับ “สิบเบี้ยใกล้มือ” ขอให้ได้เที่ยว และต้องการ “สายลม แสงแดด” เอามากๆ เท่านั้น ถึงจะตัดสินใจเดินทางมาร่วมท่องเที่ยวแนวปลอดภัยจากโควิดนี้ในประเทศไทย

อย่าได้หวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวแบบ “แมสส์” เหมือนที่เคยเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยปีละหลายล้าน เพราะโครงการ “เซฟ แอนด์ ซีลด์” นี้เด็ดขาดครับ