วาทกรรมปิดอ่าว ? ข้อพิจารณาทางยุทธศาสตร์ : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

แม้ในกระบวนการด้านงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยจะตกไปแล้วจากวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการต่อสู้กับกระแสสังคมของกองทัพเรือยังไม่จบ และมีพยายามอย่างมากที่จะต่อสู้ในเวทีสาธารณะ ด้วยการประกอบสร้างคำอธิบายในแบบต่างๆ และหนึ่งในคำอธิบายล่าสุดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องของ “ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์” ที่เชื่อมโยงกับประเด็นของการ “ปิดอ่าวสยาม” ในประวัติศาสตร์

ความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในเชิงข้อถกแถลงทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และการนำเสนอเช่นนี้สะท้อนให้เห็นชุดวิธีคิดของกองทัพเรือในการมองปัญหาความมั่นคงทางทะเลของไทยได้อย่างดีอีกด้วย (ผู้ที่สนใจอาจอ่านรายละเอียดได้จาก “บิ๊กทัพเรือ” แพร่บทความ มีเรือดำน้ำไปทำไม อ้างไทยเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ ในมติชนออนไลน์, 6 กันยายน 2563)

ประวัติศาสตร์ยุคอยุธยา?

โดยทั่วไปแล้ว สังคมไทยถูกสร้างให้เกิด “วาทกรรมด้านความมั่นคง” จากบริบทที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและสงครามทางบก ซึ่งหากย้อนกลับไปดูแบบเรียนของวิชาประวัติศาสตร์ไทย เราจะพบ “สองแผลเก่า” ที่ขบวนการชาตินิยมปีกขวามักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเสมอก็คือ เหตุการณ์ “การเสียกรุง” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และ “การเสียดินแดน” ในสมัยรัชกาลที่ 5

ประเด็นทั้งสองเรื่องนี้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของกลุ่มชาตินิยมไทย ที่ถูกนำมาใช้ด้วยการ “ผลิตซ้ำทางความคิด” หลายต่อหลายครั้งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่วันนี้กองทัพเรือได้นำเสนอมุมมองแบบชาตินิยมใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปจนถึงยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอยู่ในช่วงยุคกลางอยุธยาว่า เรือรบของฮอลันดา ได้เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อ “ปิดทางออกสู่ทะเลของไทย” ซึ่งความพยายามที่ต้องการนำเสนอถึงการปิดทางออกสู่ทะเลของกรุงศรีอยุธยา อาจจะดูเร้าใจบรรดานักชาตินิยมไม่ต่างจากประเด็นเรื่องเสียกรุงและเสียดินแดน แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ฝรั่งเศสเองได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่แถบนี้ และอาจตอบจากการต่อสู้ของรัฐยุโรปว่า ฝรั่งเศสซึ่งกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นในอยุธยา คงไม่ปล่อยให้เรือรบฮอลันดาทำเช่นนั้นได้จนกระทบกับผลประโยชน์ของฝรั่งเศสเอง

แม้จะเห็นได้ชัดว่า กรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่ได้มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งแต่อย่างใด และไม่อาจจะเทียบเคียงกับอำนาจทางทะเลของรัฐยุโรปในขณะนั้นได้เลย แต่ก็ไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ให้เห็นถึง ผลกระทบที่เกิดจากการเรือรบฮอลันดาเข้ามาปิดเส้นทางทางน้ำของอยุธยา จนเกิดความขาดแคลนขึ้นในพระนครแต่อย่างใด และที่สำคัญก็มิได้มีนัยที่ชี้ว่า ราชสำนักอยุธยาต้องพ่ายแพ้จากเหตุการณ์นี้

อย่างไรก็ตามบทเรียนที่สำคัญ กลับเห็นถึงความพยายามที่จะใช้งานการทูตของราชสำนักอยุธยาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และความสำเร็จทางการทูตเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้เกียรติภูมิของสมเด็จพระนารายณ์สูงเด่นในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชสำนักฝรั่งเศส จนถือเป็นประเด็นของความสำเร็จของพระองค์ในยุคดังกล่าว และพระองค์ไม่ได้มีความสำเร็จจากการมีกำลังทหารที่เข้มแข็ง

ประเด็นเช่นนี้มีข้อคิดที่อาจจะไม่ถูกใจบรรดา “นักซื้ออาวุธ” ก็คือ แม้ราชสำนักอยุธยาจะมิได้มีอำนาจทางทหารที่เทียบในเชิงกำลังได้กับรัฐยุโรป (ทั้งฝรั่งเศสหรือฮอลันดา) แต่อยุธยาก็สามารถพาตัวเองอยู่รอดได้ในยุคของการแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลันดา ความอยู่รอดจึงมิได้มีคำตอบเดียวว่า อยุธยาจะต้องเข้มแข็งทางทหาร แล้วรัฐยุโรปจะ “เกรงใจ” เรา จนเราสามารถอยู่รอดได้… ถ้าคิดได้เพียงแค่นี้ก็อาจจะต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การทูตกันใหม่

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การต่างประเทศของ “รัฐท้องถิ่น” ในยามที่ต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของโลกตะวันตกในยุคอาณานิคม หรืออาจกล่าวได้ว่า การวางยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดของรัฐเล็ก ต้องคิดให้ได้มากกว่าการใช้กำลังแก้ปัญหา

การคุกคามของเจ้าอาณานิคม

ในยุคที่สยามต้องเผชิญกับการขยายตัวของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทำให้การปะทะในเชิงอิทธิพลระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี “วิกฤตการณ์พระยอดเมืองขวาง” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ (มิถุนายน 2436) และขยายตัวเป็นวิกฤตการณ์ปากน้ำใน รศ. 112 (กรกฎาคม 2436) การรบที่ปากน้ำจึงถูกสร้างและผลิตซ้ำเป็นชุดความเชื่อด้านความมั่นคงอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์สยามว่า เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาปิดอ่าวสยาม จนนำไปสู่การเสียดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆในแม่น้ำนี้

หากมองในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น จะเห็นอีกด้านว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนอย่างมาก และวิกฤตการณ์ปากน้ำนี้มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ที่มีสยามเป็นฉากหลังของเรื่อง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า การประกาศปิดอ่าวของฝรั่งเศสทำให้ “การค้า[ของอังกฤษ]ในสิงคโปร์จะต้องเดือดร้อนมากพอสมควร … [และ]มีผลกระทบต่ออังกฤษยิ่งกว่าประเทศอื่นใด” (ข้อความนี้ปรากฎในหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ) เพราะอังกฤษในขณะนั้นเป็นประเทศตะวันตกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในสยาม

แต่ในด้านหนึ่งของมิติทางทหาร สยามไม่ได้มีแสนยานุภาพที่จะเปิดสงครามกับฝรั่งเศสได้เลย ไม่ว่าจะโดยเงื่อนไขของสงครามทางบกหรือทางทะเลก็ตาม และอังกฤษเองก็พยายามประนีประนอมกับฝรั่งเศสเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เยอรมนีก็ไม่พร้อมที่จะมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในปัญหาสยาม จนสุดท้ายราชสำนักสยามจึงจำเป็นต้องรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสที่จะยอมสละอำนาจในการปกครองราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด (ซึ่งเป็นดินแดนที่สยามเข้ามาควบคุมในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และไม่ใช่ดินแดนของสยามแต่เดิม)

เห็นได้ชัดอีกครั้งว่า สุดท้ายแล้วราชสำนักสยามมีความชัดเจนที่จะไม่ทำสงครามแตกหักกับฝรั่งเศส และบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของ “สงครามยุคอาณานิคม” พบว่า แทบไม่มีรัฐท้องถิ่นใดเลยที่จะสามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้ในทางทหาร และสำหรับการเมืองในเอเชียแล้ว สงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของราชสำนักมัณฑะเลย์ หรือสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีนก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของราชสำนักที่ปักกิ่ง และสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับญวนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเจ้ากรุงญวนเช่นกัน

ผู้นำสยามตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 และ 4 ต่อเนื่องเข้ายุครัชกาลที่ 5 ตระหนักดีว่า อำนาจกำลังรบของชาติตะวันตกเหนือกว่าอำนาจของรัฐท้องถิ่นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงเรือรบ และอาวุธปืนเท่านั้น หากยังรวมถึงยุทธวิธีการรบอีกด้วย ความอยู่รอดของสยามจึงถูกสร้างจากเงื่อนไขทางทหารที่เป็นจริงว่า การใช้อำนาจทางทหารเป็นเครื่องในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์ความอยู่รอดนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ขีดความสามารถทางการทูตที่ผู้นำสยามมีเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา เพราะหากสยามดำเนินการต่อสู้ด้วยเครื่องมือทางทหารด้วยการตัดสินใจเปิดสงครามกับฝรั่งเศสแล้ว ไม่เพียงสยามจะไม่มีโอกาสชนะเท่านั้น แต่สงครามจะจบลงด้วยการที่สยามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในปี 2436 อย่างแน่นอน อีกทั้งฝรั่งเศสประเมินแล้วว่า อังกฤษอาจจะช่วยเหลือสยามไม่ได้ เพราะยุ่งอยู่กับปัญหาในอียิปต์ และอังกฤษก็ไม่ต้องการแตกหักกับฝรั่งเศสในปัญหาสยาม

อย่างไรก็ตาม แม้สยามอาจจะเทียบกำลังรบทางทะเลกับฝรั่งเศสในขณะนั้นไม่ได้ แต่ก็จะต้องไม่ละเลยอำนาจทางทหารของสยามประการหนึ่งว่า จำนวนป้อมบนสองฟากของปากน้ำเจ้าพระยาในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น มีจำนวนถึง 21 ป้อม แต่ก็เป็นข้อถกเถียงทางยุทธศาสตร์อย่างมากในพัฒนาการของยุคเรือกลไฟว่า ป้อมเหล่านี้จะสามารถรับมือกับเรือรบข้าศึกและปืนประจำเรือสมัยใหม่ได้เพียงใด

จนบางทีอดคิดในด้านกลับไม่ได้ว่า ความ “โชคดีทางการทูต” ในวันที่เกิดเหตุวิกฤตปากน้ำก็คือ ป้อมปืนชายฝั่งของไทยที่แม้จะจมเรือนำร่องของฝรั่งเศสที่พยายามผ่านแนวป้องกันของสยามที่ปากน้ำได้ แต่เรือรบหลักสองลำไม่ได้ถูกยิงจมลงแต่อย่างใด เพราะหาก “เรือแองกงสตองและเรือโกแมต” ทั้งสองถูกยิงจมแล้ว โอกาสของการเจรจาทางการทูตระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ คงจะเกิดไม่ได้ และฝรั่งเศสคงตัดสินใจยึดสยามตามที่ “กลุ่มอาณานิคมนิยม” ในปารีสต้องการ

ด้วยความสามารถทางการทูตของผู้นำสยาม ทำให้วิกฤตการณ์ที่แขวงคำมวนที่เริ่มต้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2436 อันนำไปสู่การปะทะที่ปากน้ำในวันที่ 13 กรกฎาคม และฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดในวันที่ 20 กรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม ได้มีพระราชสาสน์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงยอมรับคำขาดดังกล่าว อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์นี้ น่าสนใจเป็นบทเรียนในยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างมากว่า ราชสำนักที่กรุงเทพฯ ตัดสินใจชัดเจนที่จะไม่ลากวิกฤตนี้ให้ยาวออกไป เพราะจะทำให้ฝรั่งเศสกดดันมากขึ้น และตัดสินใจจบปัญหาด้วยการเจรจาทางการทูต ไม่ใช่ด้วยการพาสยามเข้าสู่สงคราม… ถ้าในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินใจเหมือนเช่นเมื่อครั้งพระเจ้ากรุงจีนคิดรบกับอังกฤษในสงครามฝิ่นในปี 2382-2385 แล้ว ประวัติศาสตร์สยามจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตอบรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่คำนึงถึงประโยชน์ในอนาคตว่า “… เพื่อความสงบสุขของเหล่าพสกนิกร เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์การค้าขาย เพื่อผูกสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศสกันอีกวาระหนึ่งที่กรุงเทพซึ่งหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย เพื่อกลับมายึดถือประเพณีเพื่อนบ้านที่มีน้ำใจต่อกัน และเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองชาติ…”

คำอธิบายของการตัดสินใจที่สยามจะยอมอยู่กับฝรั่งเศสต่อไปจึงเป็นดังข้อเตือนใจว่า ในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านความมั่นคง ผู้นำประเทศให้ต้องคิดถึงผลประโยชน์ระยะยาวของรัฐ มากกว่าการตัดสินใจด้วยคำตอบในระยะสั้นที่เป็นเรื่องของการใช้กำลังอาวุธในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานะที่เป็นจริงของไทยเป็นรัฐเล็ก ไม่ใช่รัฐมหาอำนาจใหญ่ ไทยจะคิดใช้กำลังในแบบรัฐมหาอำนาจใหญ่ไม่ได้ เพราะการคิดใช้กำลังเช่นนั้นอาจจะไม่ให้ผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์อย่างที่ต้องการได้

อะไรคือความเหนือกว่า!

ถ้าเหตุการณ์การปิดแม่น้ำเจ้าพระยาของเรือรบฮอลันดาในยุคสมเด็จพระนารายณ์เป็นจริงแล้ว เราก็เห็นคำตอบสุดท้ายว่า ราชสำนักอยุธยาในขณะนั้นไม่ได้ตัดสินใจใช้เครื่องมือทางทหาร “รบกับฝรั่ง” แต่กลับใช้เครื่องมือทางการทูตเพื่อประสานผลประโยชน์ จนทำให้เวลาเรานึกถึงพระนารายณ์ เราจะนึกถึงความสำเร็จทางการทูตในยุคของพระองค์

เช่นเดียวกับความสำเร็จของในหลวงรัชกาลที่ 5 กับวิกฤตการณ์ปากน้ำ ที่สุดท้ายแล้วเครื่องมือทางการทูตคือคำตอบของความอยู่รอดของสยาม เพราะต่อให้สยามมี “เรือดำน้ำ” ในปี 2436 และจมเรือปืนของฝรั่งเศสทั้งสองลำได้ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สยามอาจจะชนะเพียงในทางยุทธวิธี และดีใจว่าเราสามารถจมเรือฝรั่งเศสได้ แต่ผลร้ายในทางยุทธศาสตร์ที่ตามมาคือ การที่ประเทศจะถูกยึดครอง และตกเป็นอาณานิคมอย่างแน่นอน… วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของชนชั้นนำสยามที่พาประเทศเข้าสู่โต๊ะเจรจา มากกว่าตัดสินใจพาประเทศเข้าสู่สนามรบ จึงเป็นประเด็นที่นักการทหารรุ่นหลังต้องตระหนักเสมอ การเจรจาทางการเมืองด้วยวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่างหากที่ทำให้สยามอยู่รอดได้จริง

เพราะสุดท้ายแล้วสงครามเป็นเรื่องทางการเมือง และการเมืองคือจุดชี้ขาดชัยชนะในสงคราม… นักการทหารจะต้องตระหนักเสมอว่า ชัยชนะในการรบจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ชัยชนะในสงครามเสมอไป ฉะนั้นอาวุธที่เพิ่มมากขึ้นก็มิได้มีนัยถึงความเหนือกว่าทางการเมืองของรัฐแต่อย่างใด ความเหนือกว่าทางการเมืองขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้นำ และศักยภาพของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศ

ความเหนือกว่าทางการเมืองต่างหากที่มีอำนาจมากกว่ากำลังรบ… กำลังรบในตัวเองอาจจะไม่มีค่าอะไรเลย เมื่อสถานะของประเทศตกต่ำ และผู้นำไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศ ฉะนั้นอาวุธใหม่หนึ่งหรือสองอย่างจะมีคุณค่าอันใดเล่า หากสถานะของประเทศและตัวผู้นำไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งว่า กองทัพจะเข้มแข็งได้อย่างไร หากสถานะของประเทศอ่อนแอ … และนี่คือกฎเกณฑ์ทางยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจปฎิเสธได้!