มุกดา สุวรรณชาติ : ปัญญาชนนักสู้… จากเตียง ศิริขันธ์ ผ่าน 6 ตุลา ถึงเยาวชนปลดแอก

มุกดา สุวรรณชาติ

วันๆ ก็ต้องคอยฟังข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลจะจับเยาวชนฝ่ายต่อต้านไปกี่คน แล้วศาลจะให้ประกันหรือไม่

แต่ดูแล้วระยะหลังฝ่ายสืบทอดอำนาจใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือได้ แต่ศาลก็ยอมให้ประกันตัว จึงมาสู้ต่อได้

จากอดีตถึงปัจจุบัน การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ถ้าไม่เจอปืน ก็เจอกฎหมายของเผด็จการ และต้องต่อสู้ให้ชนะ มิฉะนั้นก็จะต้องตกอยู่ใต้อำนาจและความหวาดกลัวไปตลอด… เป็นอย่างนี้มานมนาน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลุ่มหัวก้าวหน้าก็ถูกต่อต้านด้วยกฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งบัญญัติขึ้นในปี 2476 (กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่สมัย ร.7 ปี พ.ศ.2470 แต่ไม่มีคำว่าคอมมิวนิสต์) ผลจากร่างเค้าโครงเศรษฐกิจทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดนกล่าวหาและต้องหลบไปฝรั่งเศส 6 เดือนกว่าจะกลับเข้ามาทำงานได้จริงๆ ก็หลังปราบกบฏบวรเดชแล้ว

กฎหมายคอมมิวนิสต์กลายเป็นเครื่องมือของพวกอนุรักษนิยมและเผด็จการ ทุกยุคทุกสมัย แนวคิดสังคมนิยม ถูกสร้างภาพให้เป็นที่หวาดกลัว มีการจับกุมกวาดล้างปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด

นายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นนักสู้รุ่นแรกๆ ปี 2477 ก็ถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์แล้ว

 

นายเตียง ศิริขันธ์
ขุนพลภูพาน เสรีไทย
จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เขาเกิดในครอบครัวคหบดี จังหวัดสกลนคร เป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง เรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกุล จนจบมัธยมต้น จากนั้นไปต่อที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล มาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศในกรุงเทพฯ ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม คือเมื่ออายุได้ 18 ปี เทียบเท่ากับ ม.8 ในสมัยนั้น

ต่อจากนั้น นายเตียงได้สมัครเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกสายอักษรศาสตร์เป็นวิชาเอกและเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะจบปีที่ 3 ได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม เข้าเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมหอวัง

พ.ศ.2477 ได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล สอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์

ขณะที่รับราชการเป็นครู ถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ.2477 ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ต่อมาศาลยกฟ้องให้นายเตียงพ้นข้อหาไป

ภายหลังจากศาลยกฟ้องก็มาสมัคร ส.ส. ซึ่งมีการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2478 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สกลนคร และใน พ.ศ.2480 ซึ่งมีการเลือกตั้งโดยตรงก็ได้รับเลือกตั้งเข้าไปอีกครั้ง

และมีความสนิทสนมกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส.อุบลราชธานี) นายถวิล อุดล (ส.ส.ร้อยเอ็ด) และนายจำลอง ดาวเรือง (ส.ส.มหาสารคาม) พวกเขาอยู่ในกลุ่ม ดร.ปรีดี พนมยงค์

 

กลายเป็นแกนนำเสรีไทย
และพรรคการเมือง

เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม 2484 ก็มีการตั้งขบวนการเสรีไทย นายเตียงก็เป็นหนึ่งในบุคคลชุดแรกที่ร่วมก่อตั้งมาแต่ต้น

เขาเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสานและสกลนครโดยมีศูนย์บัญชาการอยู่บนเทือกเขาภูพาน

รับหน้าที่ในการจัดตั้งกองกำลังเสรีไทยในภาคอีสาน มีบทบาทในการรับ-ส่งอาวุธและสิ่งของกับฝ่ายสัมพันธมิตร การฝึกประชาชนให้เป็นกองกำลังของเสรีไทย

สมัยนั้นยังไม่มีพรรคการเมือง คงมีแต่กลุ่มการเมืองที่รวมตัวกันของ ส.ส.ที่มีอุดมการณ์ในทางเดียวกัน

ต่อมาเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ก็มีพรรคการเมืองเกิดขึ้น กลุ่มของนายเตียงได้ตั้งพรรคสหชีพขึ้น และสนับสนุนแนวทางของปรีดี พนมยงค์ เขาได้เป็นรัฐมนตรี 3 สมัย

เมษายน 2490 นายเตียงได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อต้องเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นรองตัวแทนการเจรจาประนีประนอมระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส

หลังการรัฐประหาร 2490 นายเตียงและคณะของเขาถูกเล่นงานจากรัฐบาล นายเตียงหนีไปหลบซ่อนที่ภูพาน ถิ่นปฏิบัติงานเสรีไทยเก่า แม้ทหารและตำรวจจะพยายามล่าตัวเขา แต่ก็ล้มเหลว

ต่อมาเขาออกมามอบตัว แล้วถูกฟ้องในข้อหาแบ่งแยกดินแดนและกบฏภายในราชอาณาจักร แต่เขาก็ยังได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในปี 2492 เพราะรัฐธรรมนูญให้สมัคร ส.ส.ได้

แต่ในปีเดียวกันนั้นเองเพื่อนรัฐมนตรี 4 คนของเขา คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ก็ถูกจับและยิงทิ้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโหดร้าย

เดือนพฤศจิกายน 2495 รัฐบาลลงมือกวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากข้อหากบฏที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ”

12 ธันวาคม 2495 พล.ต.อ.เผ่าให้ตำรวจเชิญตัวนายเตียงเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนิติบัญญัติพิเศษที่บ้านมนังคศิลา พร้อมกับนายเล็ก บุนนาค นายผ่อง เขียววิจิตร นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค

หลังจากนั้นกลุ่มของนายเตียงก็หายตัวไป

การอุ้มฆ่าครั้งนั้น ถูกฟื้นคดีขึ้นมาจึงพบว่า พวกเขาถูกฆ่าหลังถูกควบคุมตัวไป 2 วัน แล้วนำศพไปเผาทิ้งเชิงเขาโล้น ต.แก่งเสี้ยน จ.กาญจนบุรี

นายเตียง ศิริขันธ์ ปิดฉากชีวิตที่ทรงคุณค่าด้วยวัยเพียง 43 ปี

 

สืบทอดการต่อสู้รุ่นต่อรุ่น

หลังปี 2495 ก็มีการกวาดจับฝ่ายก้าวหน้ามาโดยตลอด ทั้งในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงจอมพลสฤษดิ์ จนพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธ ในปี 2508 ปัญญาชนแบบจิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายๆ คนก็ต้องติดคุก สุดท้ายก็ต้องเข้าป่า จับปืนสู้ ข้อหาคอมมิวนิสต์ จึงกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการ ที่ใช้กดหัวประชาชน ต่อเนื่องมาถึง 20 ปี

ในที่สุดถึงยุคจอมพลถนอม-ประภาส การต่อสู้ของนักศึกษา-ประชาชน จึงสามารถโค่นล้มเผด็จการลงได้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็มีการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนก้าวหน้าทั้งหลายถูกกวาดล้าง เข่นฆ่า จับกุมด้วยข้อหาเดิม คือข้อหาคอมมิวนิสต์

คนที่รอดตายจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องหนีเข้าป่า จับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

นับจากปีที่นายเตียง ศิริขันธ์ ถูกจับ พ.ศ.2477 ถึง 2519 ก็เป็นเวลา 42 ปี

คนหนุ่มคนสาวยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่มีช่วงเวลาหาประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานพอที่จะสร้างผลงาน แต่ก็สร้างความตื่นตัวทางการเมืองได้ทั่วประเทศ เด็กหนุ่ม-สาวบางคนเพิ่งเข้าสู่สนามการต่อสู้ทางการเมืองได้ไม่ถึงปี คนที่อยู่มาก่อนๆ ก็มีประสบการณ์เพียง 2-3 ปี อายุเฉลี่ย 17-24 ปี

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้เสียชีวิต ถูกเรียกว่า วีรชน แม้จะมีการเผาอาคารราชการไปหลายแห่ง วีรชน 14 ตุลาเป็นประชาชน 38 คน เป็นนักเรียน 15 เป็นนักศึกษา 5 คน

แต่การล้อมปราบและสังหารหมู่เพื่อทำการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในธรรมศาสตร์ไม่ได้ถูกเรียกว่าวีรชน แต่เป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏและคอมมิวนิสต์ และข้อหาอื่นๆ สารพัด จะมาถูกเรียกว่าวีรชนก็หลังจากนั้นอีกหลายปี จนมีคำกล่าวว่า

…เหมือนฆ่าลูกตัวเอง เพราะเกรงจะแย่งอำนาจ

ส่วนพวกที่ก่อกรรมทำเข็ญครั้งนั้นก็แอบหลบหน้าหนีไปหมด จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครกล้าอ้างว่าตัวเองเป็นวีรบุรุษในการเข้าโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตในวันนั้น 40 คน ถูกจับประมาณ 3,100 คน

 

รายชื่อผู้เสียชีวิต

1.ยุทธนา บูรศิริรักษ์ อายุ 22 ปี คณะนิติศาสตร์ ปี 4 ม.รามคำแหง

2. พงษ์พันธ์ เพรามธุรส อายุ 20 ปี คณะนิติศาสตร์ ปี 2 ม.รามคำแหง

3. ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง อายุ 21 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 3 ม.รามคำแหง

4. วิสุทธิ์ พงษ์พานิช อายุ 20 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 3 ม.รามคำแหง

5. มนู วิทยาภรณ์ อายุ 22 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 4 ม.รามคำแหง

6. บุนนาค สมัครสมาน อายุ 22 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 4 ม.รามคำแหง

7. วสันต์ บุญรักษ์ อายุ 19 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 1 ม.รามคำแหง

8. อภิสิทธิ์ ไทยนิยม อายุ 21 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ ปี 3 ม.รามคำแหง

9. วัชรี เพชรสุ่น อายุ 20 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ปี 3 ม.รามคำแหง

10. ศิริพงษ์ มัณตะเสถียร อายุ 21 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ปี 4 ม.รามคำแหง

11. ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย อายุ 22 ปี คณะบริหารธุรกิจ ปี 3 ม.รามคำแหง

12. เนาวรัตน์ ศิริรังษี อายุ 23 ปี คณะบริหารธุรกิจ ปี 3 ม.รามคำแหง

13. อรุณี ขำบุญเกิด อายุ 19 ปี คณะบริหารธุรกิจ ปี 2 ม.รามคำแหง อรุณีเสียชีวิตวันที่ 7 ธันวาคม 2519

14. อับดุลรอเฮง สาตา อายุ 23 ปี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2 ม.มหิดล

15. สุรสิทธิ์ สุภาภา อายุ 24 ปี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ปี 3 ม.มหิดล

16. สัมพันธ์ เจริญสุข อายุ 20 ปี คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล

17. วีระพล โอภาสวิไล อายุ 19 ปี คณะเทคนิคการแพทย์ ปี 1 ม.มหิดล

18. วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ อายุ 20 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ ปี 3 ม.มหิดล ถูกยิงขณะหลบหนีในแม่น้ำเจ้าพระยา

19. อัจฉริยะ ศรีสวาท อายุ 23 ปี ม.กรุงเทพ ตายในน้ำ ศพถูกพบในวันที่ 7 ตุลาคม 2519

20. มนัส เศียรสิงห์ อายุ 22 ปี วิทยาลัยเพาะช่าง สมาชิกกลุ่มศิลปินแห่งประเทศไทย

21. วิชิตชัย อมรกุล อายุ 19 ปี คณะรัฐศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

22. อนุวัตร อ่างแก้ว อายุ 22 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ ปี 3 ม.ธรรมศาสตร์

23. จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อายุ 19 ปี คณะศิลปศาสตร์ ปี 3 ม.ธรรมศาสตร์

24. ภรณี จุลละครินทร์ อายุ 19 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี 2 ม.ธรรมศาสตร์

25. ไพบูลย์ เลาหจิระพันธ์ อายุ 22 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ ปี 4 ม.ธรรมศาสตร์

26. ชัยพร อมรโรจนาวงศ์ อายุ 43 ปี

27. สงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง อายุ 23 ปี

28. สุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์ อายุ 22 ปี

29. สุวิทย์ ทองประหลาด อายุ 23 ปี

30. กมล แก้วไกรไทย อายุ 19 ปี

31. สมชาย ปิยะสกุลศักดิ์ อายุ 22 ปี

32. สุพล พาน อายุ 25 ปี

33. ปรีชา แซ่เฮีย อายุ 25 ปี

34. วันชาติ ศรีจันทร์สุข อายุ 25 ปี 22 มกราคม 2520 (เสียชีวิตในที่คุมขัง)

35. ชายไทยไม่ทราบชื่อ 3 คน

36. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ 4 คน

**หมายเหตุ รวม 41 คน เป็นนักศึกษารามคำแหง 13 คนหรืออาจมากกว่า : ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม โปรดแจ้งด้วย จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

 

บัดนี้เวลาผ่านมาอีก 44 ปี มีการลุกขึ้นสู้ของประชาชน 2 ครั้งใหญ่ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 การสืบทอดการต่อสู้ของเยาวชน ก้าวหน้า คล้ายเงียบไปหลายปี แต่แล้วก็มาปรากฏชัดในปี 2563 ในชื่อกลุ่มต่างๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทุกภาค และขยายตัวไปสู่นักเรียนอย่างรวดเร็ว การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอกเมื่อ 16 สิงหาคม 2563 ที่มีคนหนุ่มสาวมาร่วมหลายหมื่นคน ทำให้มองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จริงในรอบสิบกว่าปีมานี้

แต่การจะได้ประชาธิปไตยของแท้ไม่ได้มาง่ายๆ สู้กันมาตั้งแต่ปู่ทวดถึงหลาน วันนี้ต้องวัดกันว่า แนวทางใครถูกต้องและใครจะอดทนกว่ากัน อย่ากะพริบตา!