คุยกับทูต : ซาราห์ เทย์เลอร์ ไทย-แคนาดา เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ตอน 1

อดีตนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดี ปัจจุบันคือเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำราชอาณาจักรไทย ที่มีเขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ท่านทูต ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor) เปิดทำเนียบในซอยนางลิ้นจี่อันเงียบสงบ แวดล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่เขียวชอุ่มสดชื่นงามตา ออกมาต้อนรับคณะเรา พร้อมด้วยนายโม (Mo) เจ้าแมวตัวอ้วนกลมนักเดินทางคู่ใจซึ่งตามติดท่านทูตไปด้วยหลายประเทศแล้ว

“ดิฉันมารับหน้าที่ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมนี้เอง แล้วก็เผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 อย่างไม่คาดฝันพอดี ภารกิจที่ตั้งเป้าไว้หลายอย่างจึงล่าช้า หรือต้องพลอยหยุดชะงักไปด้วย” ท่านทูตเล่า

อันที่จริง ในช่วงเดือนแรกๆ ที่กรุงเทพฯ ท่านทูตได้ขึ้นกล่าวในการประชุม Women in Leadership ของหอการค้าไทย-แคนาดา (CanCham Thailand) และงานต่อมาคือการเป็นเจ้าภาพจัดงานบาร์บีคิวของแคนาดาประจำปี (The Great Canadian BBQ) ที่ทำเนียบท่านทูต

อีกทั้งเป็นผู้ร่วมอภิปรายในงานสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เรื่องอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อต้านผู้หญิง (CEDAW)

 

ท่านทูตเทย์เลอร์มีความคุ้นเคยกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี จึงมีบุคลิกและมารยาทที่สุภาพเรียบร้อยคล้ายคนไทย

“ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่มาประเทศไทย จากที่เคยมาในฐานะนักท่องเที่ยว แล้วก็ยังมาในฐานะนักศึกษาโบราณคดีด้วย เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้วซึ่งได้ไปที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี”

มูลเหตุที่ทำให้ท่านทูตมีความสนใจในด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา

“ดิฉันสนใจประวัติศาสตร์มาโดยตลอด ตอนเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต ดิฉันจึงเลือกเรียนหลักสูตรเบื้องต้นทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา แล้วก็เกิดติดใจตั้งแต่นั้นมา ดิฉันชอบวิธีการที่โบราณคดีมาผสมผสานกับสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ รวมทั้งงานทางทฤษฎีและงานภาคสนามจริง นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นยังมีนิทรรศการที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการค้นพบทางโบราณคดีใหม่ของจีนซึ่งทำให้ดิฉันให้ความสนใจในโบราณคดีของจีนเป็นพิเศษ”

แม้อาจดูว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่การศึกษาโบราณคดีจะช่วยทำให้เกิดความคิดในการทำหน้าที่ทูต เพราะเราจะไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหากเราไม่มีความรู้ก็จะทำให้ไม่เข้าใจอดีต เพราะอดีตก็มักจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเองก็พยายามจะใช้ประโยชน์จากอดีตได้เหมือนกัน ก่อนการตัดสินใจใดๆ ที่จะกระทบกับความสัมพันธ์

มุมมองของอดีตนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาอย่างท่านทูตเทย์เลอร์ จะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อจุดยืนในปัจจุบัน

 

ประเทศไทยและแคนาดามีความสัมพันธ์อันราบรื่นและเป็นมิตร ได้มีการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีซึ่งดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อกัน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 และจะครบรอบความสัมพันธ์ 60 ปี ในปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้

แคนาดาเป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือติดกับสหรัฐอเมริกา โดยมีที่ตั้งอยู่ทางเหนือมากที่สุดของโลกและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

นอกจากจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีขวัญใจชาวโลก แคนาดายังมีเรื่องอีกมากมายที่เราอยากค้นหา

ปัจจุบันแคนาดาใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นกษัตริย์ (พระองค์เดียวกับของสหราชอาณาจักร แต่โดยรัฐธรรมนูญแล้วถือว่าเป็นคนละตำแหน่ง แม้จะเป็นบุคคลเดียวกัน โดยมงกุฎและบัลลังก์นั้นใช้คนละแบบ ไม่ได้ใช้ร่วมกัน)

แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเรื่องคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยมติดอันดับโลก

อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสูงและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของนักศึกษาต่างชาติ แต่ละปีจึงมีนักเรียน-นักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลไปศึกษาต่อที่แคนาดาเป็นจำนวนมาก

 

“เมื่อก่อนแคนาดาไม่เคยมีผู้หญิงเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ดิฉันนับว่าเป็นคนที่สองที่มารับหน้าที่สืบต่อจากเอกอัครราชทูตโดนิกา พอตตี (Her Excellency Mrs. Donica Pottie) ดังนั้น สถานทูตแคนาดาในกรุงเทพฯ ยุคใหม่นี้ จึงมีเอกอัครราชทูตผู้หญิงสองคนแล้ว” ท่านทูตกล่าว

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ เติบโตมาในครอบครัวนักการทูต ประวัติการศึกษาเล่าเรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ก้าวสู่เส้นทางแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาจนทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีความชำนาญทางด้านภาษา เพราะนอกจากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว ท่านทูตยังเจรจาได้อย่างแคล่วคล่องไม่เป็นรองใคร ทั้งจีนแมนดาริน และญี่ปุ่น

ท่านทูตเทย์เลอร์เกิดที่เมืองออตตาวา (Ottawa) เมืองหลวงของประเทศแคนาดาและเป็นเมืองหลวงที่สวยงามที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ครอบครัวของท่านทูตมักต้องเคลื่อนย้ายไปยังต่างประเทศอย่างน้อยทุกๆ สามปี เนื่องจากบิดาเป็นนักการทูตที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ และตำแหน่งสุดท้ายของบิดาก่อนเกษียณอายุราชการ คือเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศญี่ปุ่น

“มีหลายอย่างมากที่ดิฉันตั้งใจจะทำ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนสองประเทศ สนับสนุนการร่วมมือทางการค้า หรือแม้แต่การวิจัยทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้เห็นโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างไทยและแคนาดา แต่ก็ถูกระงับไว้เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”

“เรามีทั้งลูกสาวและลูกชาย ลูกสาวใกล้เรียนจบที่โรงเรียนในออตตาวา ลูกชายซึ่งอายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอินเตอร์ในกรุงเทพฯ ส่วนสามีเป็นนักเขียนอาชีพ มีนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์และบางเรื่องได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ช่วงระหว่างเติบโตในเมืองหนึ่ง”

 

สําหรับหอการค้าไทย-แคนาดาประจำประเทศไทย (The Thai-Canadian Chamber of Commerce : CanCham) ได้ร่วมงานกับท่านทูตเทย์เลอร์ และทีมงานสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและไทย และเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมค่านิยมของแคนาดา

สังคมของแคนาดาเป็นสังคมที่มีส่วนผสมของชนชาติต่างๆ มากมาย โดยชนชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุดคือคนจากเอเชีย ( จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59.5 ของคนเข้าเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานในแคนาดา

ค่านิยมหลักของสังคมแคนาดาที่ฝังลึกในทุกคน คือการส่งเสริมและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสังคมแคนาดา จะให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในประเทศที่มีระบอบการปกครองที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ประวัติ :

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์

เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

การศึกษา

1982 : ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต

1984 : (MPhil) หลักสูตรปริญญาโทควบปริญญาเอก โบราณคดี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

1990 : ปริญญาเอก โบราณคดี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

1990 : ร่วมงานในกิจการภายนอกและการค้าระหว่างประเทศของแคนาดา

กระทรวงต่างประเทศ

1996-1998 : เจ้าหน้าที่แผนกประสานงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

1998-2000 : รองผู้อำนวยการส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2005-2006 : ผู้อำนวยการกองนโยบายและสถาบันการพัฒนา

2006-2008 : เจ้าหน้าที่ประเมินระหว่างประเทศของสำนักงานองคมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองเอเชีย

2008-2010 : รองผู้อำนวยการบริหาร

2010-2011 : ผู้อำนวยการบริหาร

2016-2019 : อธิบดีกรมเอเชียเหนือและโอเชียเนีย

ในต่างประเทศ

1992-1995 : ในปักกิ่ง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเมือง-เศรษฐกิจ

2000-2003 : ในจาการ์ตา ตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเมือง

2011-2015 : ในปักกิ่ง ตำแหน่งอุปทูต สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำปักกิ่ง