ศัลยา ประชาชาติ : โค้งแรกก็ถอยแล้ว ปรีดี ดาวฉาย ไขก๊อก รมว.คลัง คนนอกพ่ายคนการเมือง

การตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกของ “นายปรีดี ดาวฉาย” รมว.คลัง หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยอ้างถึงปัญหาด้านสุขภาพ สร้างความตื่นตะลึงให้กับบรรดาคอการเมือง รวมไปถึงผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจอย่างมาก

โดยนายปรีดีได้ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ลงนามอนุมัติทันที

เบ็ดเสร็จนายปรีดีอยู่ในตำแหน่งไม่ทันครบ 1 เดือน หากนับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 รวมแล้วเพียง 27 วันเท่านั้น

 

ปมปัญหาใหญ่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของนายปรีดี หลายฝ่ายมองว่าคือการถูก “การเมืองล้วงลูก” แทบจะทุกเรื่อง จนขยับตัวไม่ได้

ก่อนหน้าที่นายปรีดีจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เจ้าตัวเคยเอ่ย “ปฏิเสธ” มาหลายครั้ง

แต่สุดท้ายเมื่อตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งขุนคลังใน “โควต้านายกรัฐมนตรี” กลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ต่างไปจากที่ “แก๊ง 4 กุมาร” ลูกหาบของ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญก่อนหน้านี้ จนต้องยกทีมลาออกยกชุด

โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ราบรื่น ต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์เสนอที่ประชุม ครม. เป็นปมหนึ่งที่เป็นตัวเร่ง

ครั้งแรกนายปรีดีถือโผแต่งตั้ง “นายพชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นอธิบดีกรมศุลกากร และ “นายลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เสนอที่ประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม

แต่ปรากฏว่า “นายสันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง มีอีกโผในมือซึ่งแตกต่าง โดยเสนอชื่อ “นายประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสรรพสามิตแทน

ศึกแย่งโควต้าอธิบดีกรมภาษีบาป ตกลงกันไม่ได้ ต้องแก้โผใหม่ “ชักเข้าชักออก” ถึง 3 รอบ สุดท้ายก็ให้ถอนวาระออกไปตกลงกันก่อน

ซึ่งการงัดข้อกันดังกล่าวถูกมองว่า เป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” รมว.คลังอย่างรุนแรง เพราะฝ่ายการเมืองโชว์ความเขี้ยวลากดิน ทำให้ดูว่าขุนคลัง “ไม่มีอำนาจ-บารมี”

จากนั้น เมื่อกลับมาตกลงกันใหม่ก็ตกลงกันไม่ได้ เพราะนายปรีดียังยืนยันว่าต้องตอบแทนนายลวรณที่มีผลงานในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง ตั้งแต่มาตรการชิมช้อปใช้ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทั่งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

แต่ฟากนายสันติและผู้ใหญ่ในพรรค พปชร.ต้องการได้โควต้าเก้าอี้อธิบดีกรมสรรพสามิต เพราะอธิบดีกรมศุลกากรถูก “โควต้านายกรัฐมนตรี” ชิงไปแล้ว จึงผลักดันนายประภาศเต็มที่ และจะให้ย้ายนายลวรณไปเป็นผู้อำนวยการ สคร.แทน

สุดท้ายนายปรีดีจึงใช้วิธีตัดสินใจ “หักดิบ” เสนอโผแต่งตั้งโยกย้ายอธิบดีที่เป็น “โผเดิม” กลับเข้าไปในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยไปพิมพ์รายชื่อกันที่หน้าห้องประชุม สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมือง

จนทำให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. หารือเครียดกับนายสันติระหว่างพักเบรกประชุม ก่อนจะเรียกนายปรีดีถกปมโยกย้ายที่ยังไม่ลงตัวต่อที่มุมห้องประชุม ครม.อีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเรื่อง “โผการแต่งตั้งโยกย้าย” เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่มาให้เห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า นายปรีดีน่าจะอึดอัดจากการถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาวุ่นวายหลายเรื่อง นอกจากการแต่งตั้งอธิบดีแล้ว ยังมีเรื่องการตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ฝ่ายการเมืองจะจัดคนของตัวเองเข้ามา แต่ถูกนายปรีดีขวาง รวมถึงยังมีเรื่องตำแหน่งที่ปรึกษาต่างๆ

อย่างกรณีตำแหน่งเลขานุการ รมว.คลัง ที่ปกติเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มักจะส่งคนของพรรคการเมืองมานั่ง นายปรีดีก็เลือกแต่งตั้งเพื่อนสนิทอย่าง “เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล” อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาแทน

ขณะเดียวกันนายปรีดียังแต่งตั้งนายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ 2 อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ ปี 2521 เข้ามาเป็น “คณะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ รมว.คลัง” แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดด้านกฎหมายอย่างเต็มที่

บวกกับยังถูกขู่เล่นงานโดยจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการทั่วไป ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน ขณะที่การผลักดันงานนโยบายต่างๆ ที่ตั้งใจเข้ามาทำก็ไม่ได้รับความร่วมมือ

อย่างเช่น การเตรียมการแก้ปัญหาหนี้เสียที่จะพุ่ง หลังหมดมาตรการพักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น

เนื่องจากยุคนี้ รมว.คลังไม่ได้มีอำนาจเสนอเรื่องต่างๆ เข้า ครม.ได้แบบเบ็ดเสร็จเหมือนสมัยนายอุตตม สาวนายน ที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.อยู่ด้วย

 

ทั้งหมดนี้ทำให้นายปรีดีรู้สึกอึดอัดและเครียดอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ปฏิเสธเข้ามารับตำแหน่งมาโดยตลอด แต่พอตกลงใจเข้ามา เพราะตั้งใจมาทำงานแล้ว กลับต้องมาเจอเหลี่ยมการเมืองที่จ้องหาผลประโยชน์ ไม่สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายต่างๆ ได้อย่างที่ตั้งใจหรือตกลงกันไว้ก่อน ทำให้นายปรีดีถอดใจในที่สุด

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นายปรีดีเป็น รมว.คลังที่ทำงานมีประสิทธิภาพมาก เพราะเป็นคนที่มาทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า กว่าจะกลับบ้านก็ 3-4 ทุ่ม และในแต่ละวันก็พยายามเซ็นงานออกไป เพื่อไม่ให้มีงานค้าง ดังนั้น จึงถือได้ว่าประเทศต้องเสีย รมว.คลังที่ดีที่สุดคนหนึ่งไป

“เรื่องนี้ก็คือ คนดีอยู่ไม่ได้ เพราะการเมืองมีบทบาทเหนือกว่า ซึ่งอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีแบบนี้ ยังไงคนดูแลเศรษฐกิจก็ต้องได้รับการปกป้อง ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่ง แต่นายปรีดีเหมือนตัวคนเดียว แล้วไปขวางหลายเรื่อง”

แหล่งข่าวกล่าว

 

ส่วนเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนนั้น นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันภาคเอกชนต้องการเสถียรภาพ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เพราะเกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย เช่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น

“ก่อนหน้านี้ ที่มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ เราก็มองว่าไม่ใช่จังหวะ แต่พอวันนี้ก็กลายมาเป็นภาพนี้อีก เอกชนต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพราะเกี่ยวพันถึงการดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง จริงๆ จะเป็นใครมาก็ได้ แต่หากให้ตำแหน่งในการบริหารแล้ว ก็ต้องให้อำนาจในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะวันนี้ทุกคนรู้ว่าเราต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจากนี้น่าจะไม่มีนักธุรกิจที่อยากจะเปลืองตัวแล้ว เพราะเข้ามาแล้วก็จะเจอแรงกดดันลักษณะนี้อีก” นางสาวกัณญภัคกล่าว

เท่ากับว่าการลาออกของนายปรีดี สะท้อนภาพความไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารจัดการคน ตลอดจนอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถปกป้องคนที่ดึงเข้ามาช่วยงานได้ ซึ่งจะกระทบชิ่งไปถึงการดูแลแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อไป

นับเป็นอีก “วิกฤต” ที่น่าเป็นห่วง ไม่แพ้ “วิกฤตโควิด-19” และ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่ถาโถมอยู่เวลานี้

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2