เปิดอีกชุด-ผลสอบ “บอส” “วิชา” ซัดขบวนการล้มคดี จี้ฟัน “วินัย-อาญา” จนท.รัฐ อีกฝ่ายโต้-ถูกกลั่นแกล้ง

เข้าข่ายมหากาพย์คดีใหญ่อีกคดีหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับกรณีที่บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มหมื่นล้าน ขับเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตร.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555

ก่อนที่อัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ยุติคดี ตามด้วยการไม่คัดค้านของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่เมื่อสื่อต่างประเทศตีข่าว ทุกอย่างก็ต้องกลับมาทบทวน มีการตั้งกรรมการขึ้นมาทบทวนหลายต่อหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นชุดของอัยการที่ไม่พบว่าการใช้ดุลพินิจไม่สั่งฟ้องเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ให้ดำเนินคดีใหม่ได้เพราะมีหลักฐานเพิ่มเติมเรื่องความเร็วรถ และเรื่องยาเสพติด

ขณะที่กรรมการชุด ตร.ก็สรุปความผิดของนายตำรวจที่ทำสำนวน พร้อมเสนอให้สอบวินัยต่อไป

และในที่สุดกรรมการชุดที่นายกฯ ตั้ง ที่มีนายวิชา มหาคุณ ก็สรุปผลสอบ ระบุเชื่อได้ว่ามีความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาเป็นขบวนการ พร้อมอธิบายถึงพฤติกรรมที่เชื่อว่าไม่สุจริต

เสนอให้นายกฯ สั่งเอาผิดบุคคลถึง 8 กลุ่ม

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีข้อสังเกตในเรื่องรายละเอียดของคดี ที่เห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคำถามว่าเรื่องนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองไปหรือไม่

เป็นเรื่องที่ต้องคลี่คลายให้กระจ่าง

“วิชา” ซัดมีขบวนการช่วย “บอส”

หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญากรณีนายวรยุทธ ที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. เป็นประธานสรุปผลเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมเรียบร้อย

ช่วงสายวันที่ 1 กันยายน นายวิชาก็แถลงผลสอบที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าคดีนี้เป็นเรื่องที่น่าอับอายสำหรับบุคคลและองค์กรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่คนไทยเองก็ตามที่ต้องรู้เรื่องจากฝรั่งว่าคดีดังกล่าวถูกสั่งไม่ฟ้อง

เมื่อสอบสวนก็เห็นพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่ทำสำนวนบกพร่อง ตั้งข้อหา ด.ต.วิเชียรที่ถูกนายวรยุทธขับรถชนจนเสียชีวิต ถือว่าไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีสิทธิ์ต่อสู้คดี แม้ว่าเขาจะได้รับเงินเยียวยา แต่ก็ทำให้รูปคดีเสียหายอย่างหนัก

หากตำรวจตั้งรูปคดีแบบนี้ แสดงว่าไม่ได้จริงจังหรือจริงใจในการทำสำนวน ไม่ได้ทำอย่างมืออาชีพ บางข้อกล่าวหาไม่ได้ใส่ไว้ในสำนวน ไม่ได้จริงจัง และก็สั่งไม่ฟ้อง เช่น เรื่องเมาแล้วขับ

แถมยังใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 6 เดือน และไม่นำตัวมาส่งฟ้องศาล ตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่แรก

โดยคดีนี้มีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง โดยไม่ประสบความสำเร็จ 13 ครั้ง ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 14 รองอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบเรื่องนี้กลับหยิบยกพยานหลักฐานที่ถูกปฏิเสธไปแล้วมาถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่มั่นคง

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลงวันที่สอบสวนผิดจากความเป็นจริง โดยได้ความจาก พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น และ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เดิมบอกว่าวันสอบปากคำคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และ 2 มีนาคม 2559

แต่วันที่มีการสอบปากคำจริงๆ คือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อกันบุคคลบางคนออกจากเรื่องนี้ แต่เรามีหลักฐานยืนยันชัดเจน และเสนอให้ทั้งสองคนเข้าอยู่กระบวนการคุ้มครองพยานในทันที

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความเร็วรถ ที่มีการกดดันหรือใช้อิทธิพลบังคับให้ตำรวจเปลี่ยนเรื่องความเร็วรถของผู้ต้องหาในขณะที่ชนผู้ตาย จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการ

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอยกเลิกคำให้การเพราะพบข้อผิดพลาดจากการคำนวณความเร็ว กลับถูกอ้างว่าส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาแล้ว จึงพบว่าเป็นการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป

จึงเสนอให้

1. ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหายาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถชนในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

2. ต้องมีการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการ

ซึ่งมีทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังนี้

1. พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน

2. พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3. ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่

4. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่

5. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่

6. ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย

7. พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ

8. ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว

เป็นข้อสรุปจากกรรมการสอบข้อเท็จจริง

ตร.แจงสั่งสอบวินัย “เพิ่มพูน”

ในส่วนของตำรวจ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผช.ผบ.ตร. ระบุว่า ยอมรับผลการตรวจสอบของกรรมการชุดนายวิชา ซึ่งผลการดำเนินการของตำรวจก็สอดคล้องกับความเห็นของนายวิชา เช่น การตั้งสำนวนการสอบสวนใหม่จนมีการออกหมายจับ และส่งสำนวนคดีให้อัยการรับไปพิจารณา การเอาผิดทางวินัยกับตำรวจ 21 นาย ที่เสนอรายชื่อให้จเรตำรวจพิจารณาโทษไปแล้ว และในจำนวนนี้มีรายชื่อของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผช.ผบ.ตร. รวมอยู่ด้วย

ซึ่งในการพิจารณาความผิดทางวินัยจะพัวพันไปถึงความผิดอาญา เช่น ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับที่เคยพิจารณาโทษพนักงานสอบสวนชุดแรก 11 นาย ซึ่งได้ตั้งเรื่องเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว

ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. สั่งเอาผิด หากพบว่าตำรวจรายใดเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ก็จะเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งให้ช่วยราชการไว้ก่อน และยังระบุว่า การพิจารณาความผิดใคร ไม่สามารถดำเนินการตามใจกระแสสังคมได้ แต่ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่ช่วยเหลือหรือปกป้องตำรวจที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

ส่วนที่มีข้อมูลว่ามีอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแก้ไขข้อมูลเรื่องเวลาการเดินทาง และข้อเท็จจริงเรื่องที่อยู่ในขณะนั้น ในรายงานของนายวิชาไม่ได้ระบุชื่อชัดเจนว่าตำรวจระดับสูงเป็นใคร ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดโดยชุดคณะกรรมการสอบสวนวินัย สุดท้ายแล้วจเรตำรวจต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักเองว่า จะเชื่อคำให้การดังกล่าว หรือเชื่อพยานหลักฐานของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ การตามตัวนายวรยุทธกลับมาดำเนินคดีในไทย ต้องรอให้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องก่อน จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนขอหมายแดงจากองค์กรตำรวจสากล เพื่อประกาศหาตัวตามถิ่นที่อยู่ใน 150 ประเทศ เพื่อให้ส่งข้อมูลกลับมาให้ไทย ประสานขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

ที่ผ่านมาตำรวจยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของนายวรยุทธอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่สามารถเปิดเผยประเทศปลายทางได้ว่าขณะนี้อาศัยอยู่ที่ใด และชี้ชัดไม่ได้ว่าปัจจุบันนายวรยุทธถือหนังสือเดินทางของชาติใดอยู่

ส่วนเรื่องการแจ้งข้อหานั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลสอบสวนพยานหลักฐาน ส่วนที่จำเป็นต้องแจ้งข้อหา ด.ต.วิเชียร เป็นไปตามหลักการดำเนินคดีตามกระบวนการของพนักงานสอบสวน ซึ่งคู่กรณีในความผิดกฎหมายจราจร จะต้องถูกตั้งข้อหาทั้งสองฝ่าย

เป็นคำชี้แจงจากฝ่ายตำรวจ

เผยข้อสังเกตเรื่องความเร็วรถ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามจากอีกฝ่ายที่สงสัยในเนื้อหาของคดี เนื่องจากในสำนวนระบุว่า จากภาพวงจรปิดพบว่ารถจักรยานยนต์ขับขี่มาในช่องซ้ายสุด รถกระบะของนายจารุชาติ มาดทอง ขับมาในช่องทางที่ 2 ขณะที่เฟอร์รารี่ขับมาในช่องทางที่ 3 ด้านขวาสุด และจุดที่รถชนอยู่ในเลนที่ 3 ก่อนถึงจุดกลับรถปากซอยสุขุมวิท 49

ขณะที่สภาพเสียหายของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีการระบุไว้ในสำนวนว่าเป็นความเสียหายในระดับต่ำ ที่ขับมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อมูลในส่วนนี้กลับไม่ปรากฏในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น กมธ.กฎหมาย สภาผู้แทนฯ และกรรมการชุดของนายวิชา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเร็วรถ ที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ และ ดร.สายประสิทธิ์ก็ระบุว่า การตรวจสอบความเร็วรถเป็นการตรวจสอบผ่านจากวงจรปิดที่อยู่ก่อนจุดที่สันนิษฐานว่าเกิดการชน 80-100 เมตร ไม่ใช่ความเร็วของรถขณะชน

ที่ผ่านมาครอบครัวบอสขอขมาผู้เสียชีวิต และร่วมงานศพทุกคืน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายจัดงานศพ พร้อมมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือ โดยไม่รอผลคดีสิ้นสุด

เรื่องเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาและเสนอต่อสังคมมากเท่าที่ควร พร้อมกับประเด็นข้อสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้กลายเป็นกระแสที่ถูกจุดขึ้นมาในช่วงที่การเมืองร้อนแรง

นอกจากนี้ การเข้าไปก้าวก่ายการใช้ดุลพินิจขององค์กรอัยการนั้นถูกต้องชอบธรรมอย่างไร รวมทั้งการรื้อคดีใหม่ทั้งที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้ สามารถดำเนินการได้ตามหลักกฎหมายหรือไม่

เป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่

เป็นคำถามอีกมุมหนึ่ง ที่ต้องทำให้กระจ่างเช่นกัน

เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความน่าเชื่อถือ