จรัญ พงษ์จีน : คมเขี้ยวชื่อว่า “เหมืองทองอัครา” จ่อคอ “ประยุทธ์”

จรัญ พงษ์จีน

ต้องยอมรับว่า “คดีเหมืองทองอัครา” มีผลสะเทือนต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ค่อนข้างสูง “มาตรา 44” ดาบอาญาสิทธิ์ ตอนต้นทุนสูง ฟันเหล็กขาดกระจุยดุจฟันหยวกกล้วย

แต่ “อำนาจ” ไม่ได้หมายถึงความมั่นคง มีเสื่อมถอยตามกาลเวลา ดำเนินตามกฎ “อนิจจัง”

ศึก “เหมืองทองอัครา” ขอบอกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้สู้กับ “หมาบ้าน” ธรรมดาที่เอาแต่เห่า-คาบกระดูก แต่กำลังเผชิญหน้ากับ “หมาป่า”

ดังนั้น “บิ๊กตู่” จึงต้องมากด้วยความระมัดระวัง “อย่าประมาท”

การปิดเหมืองทองคำอัคราของบริษัท “อัครารีซอร์สเซส” โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว “สั่งปิด” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

“บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ต จำกัด” บริษัทแม่จากประเทศออสเตรเลีย มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พยายามยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาร่วมกัน แต่ตกลงกันไม่ได้

มือกฎหมายหลายคนท้วงติง “พล.อ.ประยุทธ์” และเสนอให้ใช้กฎหมายปกติดำเนินการแก้ปัญหา “เหมืองทองอัครา” แทนมาตรา 44 เพราะมองเห็นช่องทางว่าจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ได้ ประเทศชาติจะได้ไม่เสียหายภายหลัง “กันไว้ดีกว่าแก้”

เนื่องเพราะตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ “เอฟทีเอ” ไทย-ออสเตรเลีย ที่เป็นกันชนให้นักลงทุนของประเทศหนึ่งสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งได้

หากรัฐบาลประเทศนั้นดำเนินนโยบายให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน เช่น ยึดทรัพย์สิน ยึดการลงทุน หรือเวนคืนที่ดิน

“การฟ้องร้องภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ มาตรา 44 ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึง”

ตามกรอบข้อตกลงดังกล่าว นักวิชาการ-นักกฎหมายส่วนหนึ่งเสนอแนะด้วยความห่วงใย เพราะมองว่าโอกาสที่จะชนะคดีแทบไม่มีเลย และน่าจะจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ผิดข้อตกลงเอฟทีเอ

ตาม “ข้อตกลงการค้าเสรี” หรือ Free Trade Area อันเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยประเทศที่รวมกลุ่มกันหรือประเทศสมาชิกจะต้องยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งหมด เพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าระหว่างกลุ่มมีราคาลดลง เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกกลุ่ม และมีอำนาจต่อรองกับตลาดโลกได้

“บิ๊กตู่” ตอนนั้น แต้มอำนาจเอกอุเหลือจะกล่าว “หูดับ” ได้ยินเสียงนกเสียงการ้องทักเป็นเสียงสวด จึงใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” ของ คสช.สั่งปิดเหมืองทองอัครา ขณะที่พนักงานของเหมือง คนในครอบครัว และชาวบ้านที่สนับสนุนออกมาคัดค้าน เนื่องจากกระทบเศรษฐกิจและปากท้องชาวบ้าน รวมถึงนำผลการตรวจสุขภาพมาแสดงว่าไม่ได้เจ็บป่วยจากเหมือง

ในเวลาต่อมา จึงเป็นห้องเครื่องให้ “บริษัทคิงส์เกตฯ” ตัดสินใจยื่นเรื่องต่อ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

ระบุว่าการสั่งปิดเหมืองทองอัคราเป็นการละเมิด “ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย”

 

ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสแพ้คดีสูง หากมีคำวินิจฉัยออกมาว่า “ไทยแพ้” ต้องชดใช้ค่าเสียหาย และ “ใคร” เป็นผู้รับผิดชอบ

แต่เหมือนสวรรค์มีตา เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มี “เอกสารหลุด” พบว่าในงบประมาณปี 2564 รัฐบาลตั้งงบประมาณ 111 ล้านบาท สำหรับใช้ดำเนินการสู้คดี “เหมืองทองอัครา”

และเมื่อมีการตรวจสอบงบประมาณย้อนหลัง ก็พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลใช้เงินเพื่อสู้คดีปิดเหมืองไปแล้ว 60 ล้านบาท ปี 2563 อีก 218 ล้านบาท รวม 3 ปี สำรองงบฯ ไปแล้ว 389 ล้านบาท

“พล.อ.ประยุทธ์” ทัวร์ลงทันที “นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว” ขานรับเสียงเดียวกันว่า จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เพราะเป็นการใช้คำสั่ง คสช.ปิดเหมือง ซึ่งกระทำมิได้ เนื่องจากผิดข้อตกลงทางการค้า ต่างประเทศไม่ยอมรับมาตรา 44 โดยมองว่าเป็นกฎหมายเฉพาะกิจที่มีผลแค่ในประเทศไทย

เหนือสิ่งอื่นใด ช่วงที่ใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” ปิดเหมืองทองอัคราเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 ขณะนั้นอำนาจยังเฟื่องฟูสุดขีด “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศตอบโต้ผู้ท้วงติง เสียงกึกก้องกัมปนาทว่า “ผมรับผิดชอบเอง”

แต่การต่อสู้คดี 3 ปีที่ผ่านมา ค่าทนายและค่าใช้จ่ายของทีมงานสู้คดีเป็นการใช้เงินงบประมาณของประเทศรวม 389 ล้านบาท ยังไม่นับกรณีที่แพ้คดีในการวินิจฉัยของ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” วงเงิน 30,000 ล้านบาท

และที่ทำท่าจะปวดตับมากที่สุด คือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่ เพราะตอนปิดเหมืองทองอัครา ได้ประกาศว่า “ผมรับผิดชอบเอง”

ประจวบเหมาะกับเมื่อเดือนกันยายน 2562 “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ได้อ่านคำวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

“ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ “ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี”

โดยหัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากหัวหน้า คสช.เป็นผลมาจากการยึดอำนาจ -หัวหน้า คสช.ไม่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐ-หัวหน้า คสช.ไม่ได้แต่งตั้งโดยกฎหมาย-มีอำนาจเฉพาะชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ

โดยสรุป หัวหน้า คสช.จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 98 อนุ 15

“เอวัง” ก็มีด้วยประการฉะนี้แล หากยึดคำวินิจฉัย “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นมาตรฐาน เมื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

กรณีของคดี “เหมืองทองอัครา” ไม่ว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งทีมสู้คดี หรือหากเกิดพลาดท่าแพ้ในคดีนี้

“ใคร” จะเป็นคนจ่ายเงินก้อนโตจำนวน 30,000 ล้านบาท “ประเทศ” หรือ “พล.อ.ประยุทธ์”

นี่คือไฮไลต์ คาดว่าเป็นประเด็นที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” สะเทือนมากกว่า “เรือดำน้ำ-ปรีดี ดาวฉาย” ลาออก

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2