ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีสังฆะ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (14)
ทำไมไม่เริ่มต้นด้วยสังฆะ

ในการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในประเทศเอเชียนั้น ผู้ที่จะออกบวชจะมีความตระหนักว่า ควรจะรวมตัวกันให้ได้อย่างน้อย 4 รูป เมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว จะต้องประกอบสังฆกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ภิกษุณีเบื้องต้น 4 รูปเป็นอย่างน้อย

ในประเทศศรีลังกา เริ่มต้นชุดแรกเมื่อ พ.ศ.2541 พระเถระท่านช่วยคัดสรรให้จากทั้งเกาะ ได้ 20 รูป เพราะฉะนั้น เมื่อท่านกลับไปศรีลังกา จะประกอบสังฆกรรมใดๆ ท่านก็จะมีความพร้อมพอสมควร แม้ว่าท่านจะอยู่กระจายกันตามอารามของตัวเอง 2 รูปบ้าง 3 รูปบ้าง แต่ในชุดแรกนี้สังกัดกับพระมหาเถระศรีสุมังคโล ที่วัดพระทอง ดัมบุลละ เวลาที่ท่านจะลงปาติโมกข์ก็ยังคงเดินทางมาลงปาติโมกข์ด้วยกัน และหากจะมีสังฆกรรมอื่น ท่านก็จะอาศัยนิมนต์ภิกษุณีจากอารามอื่นมาช่วยกัน การประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาจึงเป็นไปได้รวดเร็ว

นับแต่ พ.ศ.2541 ที่เป็นจุดเริ่มต้น มาถึงตอนนี้ ศรีลังกาก็มีประชากรภิกษุณีเป็นพันรูปแล้ว

 

ประเทศถัดมาที่เริ่มมีภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาท คือประเทศอินโดนีเซีย

ท่านสันตินี ชาวอินโดนีเซีย ที่เริ่มต้นบวชแม่ชีจากวัดไทยที่นั่น ท่านก็รวบรวมสตรีที่สนใจไปอุปสมบทเป็นภิกษุณีพร้อมกันที่ไต้หวันใน พ.ศ.2543 รวม 4 รูป ด้วยความตั้งใจที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นสังฆะ

แต่น่าเสียดายที่ 2 รูปไม่ทานกับกระแสที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทต่อต้านภิกษุณี ก็เลยต้องลาสิกขาไปก่อน เหลือเพียง 2 รูป

ท่านสันตินีเคยจัดอุปสมบทภิกษุณีที่วัดของท่านที่มาริบายา ใกล้ๆ เมืองที่ชาวไทยรู้จักคือเมืองบันดุง เพราะตอนที่เปลี่ยนการปกครองนั้น เจ้านายไทยเคยลี้ภัยไปอยู่ที่นั่น จนได้เครื่องดนตรีอังกะลุงกลับมาเผยแพร่ในประเทศไทย

แต่การอุปสมบทครั้งนั้น เป็นการให้การอุปสมบทกับภิกษุณีต่างชาติ มีลูกศิษย์ของท่านเองที่เป็นชาวอินโดนีเซียเพียง 2 รูป

จนปัจจุบันนี้ 2563 ท่านก็ยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์

ที่อินโดนีเซียมีอีกนิกายหนึ่ง คือสังฆะอากุง ที่มีรั้งมหายาน วัชรยาน และเถรวาท ในฝ่ายของเถรวาทก็มีภิกษุณีรุ่นเด็กลงมา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก เช่น ท่านฐิตาจาริณีและธัมมจาริณี

แต่จำนวนน้อยมากยังไม่เป็นสังฆะเช่นกัน

 

ประเทศในเอเชียที่เริ่มต้นมีภิกษุณีสายเถรวาทประเทศที่ 3 คือเวียดนาม เช่นเดียวกัน ท่านหลิวฟับที่เป็นหัวหน้าท่านเริ่มต้นจากการออกไปอุปสมบทที่ศรีลังกาพร้อมกัน 4 รูป เพื่อให้เป็นสังฆะ พ.ศ.2545

แต่เวียดนามนั้นได้รับการสนับสนุนจากหลวงพ่อเวียงมินห์ พระเถระชาวเวียดนามที่มาอุปสมบทสายเถรวาทไปจากประเทศไทย

นอกจากนั้น เพื่อให้งานของพระภิกษุณีสงฆ์ราบรื่นไปได้ด้วยดี ท่านเมตตาจัดหาที่ดินให้สร้างเป็นวัดสองแห่ง ทั้งที่เขมารามที่ปัจจุบันภิกษุณีสุสันตาเป็นเจ้าอาวาส และสุญญตารามที่ภิกษุณี ดร.หลิวฟับเป็นเจ้าอาวาส

อารามของภิกษุณีทั้งสองแห่งในเวียดนามมีภิกษุณีสังฆะแล้ว โดยเฉพาะท่าน ดร.หลิวฟับ ดูเหมือนจะมีความชัดเจนในการสร้างภิกษุณีสงฆ์ให้มีคุณภาพ

ที่อารามของท่านมีชั้นเรียนสม่ำเสมอ ตัวท่านเองจบปริญญาเอกทางภาษาบาลีจากมหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย มีการส่งสามเณรีในสังกัดของท่านมาฝึกพระวินัยกับทางวัตรทรงธรรมกัลยาณี ประเทศไทยในช่วงพรรษาบ้าง 1 เดือนบ้าง

ตัวท่านเองก็มาร่วมในการฝึกในช่วงที่จะเป็นกรรมวาจาจารย์ ตลอดจนการจัดการอุปสมบทให้กับภิกษุณีที่เป็นลูกศิษย์ในสังกัดของท่านก็มักจะจัดร่วมกับท่านธัมมนันทา

ทั้งการอุปสมบทภิกษุณีครั้งแรกที่เวสาลี การอุปสมบทที่ศรีลังกา พ.ศ.2559 และที่อินเดีย พ.ศ.2561

 

สําหรับประเทศไทยนั้น ดร.ฉัตรสุมาลย์ออกบวช โดยเริ่มต้นบรรพชาเป็นสามเณรีต้นปี พ.ศ.2544 ที่วัดตโปทานรามยะ ในกรุงโคลอมโบ ศรีลังกา ท่านหลิวฟับและคณะจากเวียดนามก็มาอุปสมบทที่วัดเดียวกันในปีรุ่งขึ้นคือ พ.ศ.2545 ส่วน ดร.ฉัตรสุมาลย์ก็กลับมาอุปสมบทที่วัดเดียวกันในปีถัดมาคือ พ.ศ.2546

ในช่วงนั้น ภิกษุณีในสามประเทศที่กล่าวมานั้นคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ไม่รู้จักและไม่มีการติดต่อกันมาก่อน

ก่อนที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์จะออกบวช ก็พยายามชักชวนท่านอื่นออกบวชด้วยกัน เป็นเรื่องที่ยังไม่เคยบันทึกไว้ที่อื่น เช่น คุณแม่ชีศันสนีย์ และคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ แต่ท่านเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกับพระสงฆ์ไทย

ในที่สุด จึงกลายเป็นว่า ดร.ฉัตรสุมาลย์ออกไปบวชตามลำพังรูปเดียว

สำหรับคุณหญิงกนิษฐานั้น ผู้เขียนเคยเริ่มงานกับท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านทำงานที่ T.A.T.C.A. สมาคมไทย-อเมริกัน ก่อนที่ผู้เขียนจะไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา

ปี พ.ศ.2536 เมื่อผู้เขียนเป็นประธานองค์กรศากยะธิดาและไปจัดงานประชุมที่ประเทศศรีลังกา ช่วงนั้นคุณหญิงกนิษฐาท่านหันมาสนใจงานพระพุทธศาสนาแล้ว และขอเดินทางไปประชุมด้วยกัน

ที่นั่นเอง ที่ผู้เขียนเป็นผู้จัดการให้ท่านได้ปลงผมรับศีล 8 เป็นอุบาสิกา

ในงานประชุมนั้น มีภิกษุณีสายทิเบตมาร่วมทั้งท่านกรรมะเล็กเชโสโม (แพทริเซีย เซ็น) และท่านโชดรอน (คาโรล่า โรลอฟฟ์) ผู้เขียนลองทาบทามว่าท่านจะสามารถให้การบรรพชาสามเณรีแก่คุณหญิงได้หรือไม่ ปรากฏว่าท่านทั้งสองยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้เพราะภิกษุณีที่เป็นชาวตะวันตกที่ออกบวชนั้น ไม่ได้อยู่กันเป็นสังฆะ และไม่ได้รับการฝึกที่จะให้การบรรพชาที่จะสืบสายต่อไป

สายทิเบตที่ออกบวชเป็นภิกษุณี ล้วนเป็นชาวตะวันตกทั้งสิ้น และต่างคนต่างอยู่ จึงยังไม่เกิดสังฆะ

 

เมื่อพูดถึงภิกษุณีสายทิเบต หรือสายวัชรยานที่เป็นชาวตะวันตกเหล่านี้ อายุมากที่สุดคือท่านเท็นซิน พัลโม ที่เป็นที่รู้จักกันดีจากหนังสือชีวประวัติของท่านเรื่อง Cave in the Snow ที่เขียนโดยวิกกี้ แม็กเคนซี่ และมีฉบับแปลภาษาไทย ที่ท่านเองบอกว่าไม่เคยทราบมาก่อน ท่านเท็นซินปีนี้อายุ 77 แล้ว ส่วนท่านกรรมะเล็กเชโสโม ชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้จัดงานประชุมศากยะธิดาอยู่หลายปี ปีนี้ท่านจะเต็ม 76 ในเดือนกันยายนนี้ ท่านโชดรอน ชาวเยอรมัน เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก อายุเข้า 60 แล้วเหมือนกัน

สายการบวชของท่านทั้งสามที่กล่าวมานี้ แม้ว่าจะเป็นภิกษุณีแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากพระภิกษุสายวัชรยาน แม้ท่านทั้งสามจะใส่จีวรแบบทิเบต ใช้ชีวิตแบบพระทิเบตในบริบทต่างๆ กันคือ ท่านเท็นซินชาวอังกฤษอยู่ที่ประเทศอินเดีย ท่านเล็กเชชาวอเมริกัน สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในอเมริกา ท่านโชดรอนชาวเยอรมัน สอนที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนี แต่ท่านไม่มีสังฆะของตัวเอง ต่างคนต่างอยู่

การไม่มีสังฆะนี้เองที่จะทำให้ท่านเป็นตาลยอดด้วน ไม่มีการสืบทอด เมื่อหมดสมัยของท่าน สิ่งที่ท่านสอน สิ่งที่ท่านดำเนินชีวิตมาก็ไม่สามารถสืบต่อไปได้

ท่านเท็นซินท่านสร้างโรงเรียนเพื่อปลูกฝังสามเณรีชาวทิเบตให้สามารถยืนบนลำแข้งของตนเองให้ได้

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากสามเณรีเหล่านี้ไม่มั่นคง ในที่สุดโรงเรียนสามเณรีก็จะมีพระภิกษุชาวทิเบตเข้ามาดูแลและดำเนินกิจการไปตามแบบประเพณีของทิเบต ที่สามเณรีนั่งเรียนหลังห้อง และต้องรับใช้พระภิกษุสงฆ์ดังที่เป็นมานั่นเอง

ภิกษุณีสงฆ์ในสายวัชรยาน ที่พยายามอยู่กันเป็นสังฆะ มีอาจารย์ที่เป็นภิกษุณีนำทางและน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะสืบต่อ คือที่ท่านโชดรอนที่อเมริกา ท่านอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของอเมริกา แต่เนื่องจากไม่มีการอุปสมบทในสายทิเบตเอง ท่านก็มีเพียงสามเณรีเท่านั้น

การรักษาสังฆกรรมที่ต้องอยู่ในภิกษุณีสงฆ์ด้วยกันก็ยังไม่เกิดขึ้น

 

ท่านธัมมนันทาจึงเห็นความสำคัญอย่างมากว่าภิกษุณีที่จะสืบสายพระศาสนาได้ต้องมีสังฆะ จะต้องอยู่ในสังฆะ เพราะการทำสังฆกรรมต่างๆ ล้วนอาศัยสังฆะทั้งสิ้น ภิกษุณีที่อยู่ร่วมกันจะมีการอบรมสั่งสอนกัน ขัดสีฉวีวรรณซึ่งกันและกันด้วยธรรมและวินัยที่เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

ในประเทศไทยมีภิกษุณีสงฆ์อยู่หลายอาราม และหลายอารามอยู่กันด้วยธรรมวินัย และมีจำนวนสงฆ์มากพอที่จะอิงอาศัยกันตามธรรม

ปัจจัยสำคัญที่จะประคองภิกษุณีสงฆ์ไปได้ยั่งยืนคือ เหตุผลที่เข้ามาบวช ถ้าชัดเจนว่าเข้ามาสืบพระศาสนา ด้วยการปฏิบัติของท่าน จะเป็นการซักฟอกตนเอง ยินดีให้ตรวจสอบ ซักฟอก โดยมีเป้าหมายในพระนิพพานเป็นที่สุด เช่นนี้ ภิกษุณีสงฆ์ก็จะมีความมั่นคง และสามารถสืบสานพระศาสนาได้จริง

ชาวพุทธในโลกปัจจุบันมีสติปัญญา มีความสามารถ มีความกล้า ที่จะถาม ที่จะซักฟอก หากเห็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในภิกษุและภิกษุณีสงฆ์

เช่นนี้จึงเรียกว่า พุทธบริษัททั้ง 4 รักษาพระศาสนาอย่างพร้อมเพรียงกัน

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2