ต่างประเทศอินโดจีน : เหมืองหยกที่ผากั้น

เหมืองหยก เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของเมียนมา

เหมืองหยกที่สำคัญที่สุด ใหญ่ที่สุดของเมียนมาอยู่ที่เมืองผากั้น (Hpakhant) รัฐกะฉิ่น รัฐตอนเหนือสุดของประเทศ พื้นที่บางส่วนต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัย

หยกจากเหมืองที่นี่ เป็นองค์ประกอบเกือบทั้งหมดที่ทำให้เมียนมากลายเป็นแหล่งที่มาของหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อมูลของ “โอเพ่น ดาต้า” ประเมินเอาไว้ว่า ในแต่ละปีการส่งออกหยกทำรายได้ให้พม่ามากถึง 6,000 ล้านดอลลาร์

แต่โกลบอล วิตเนสส์ เคยระบุเอาไว้ว่า ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่ผลผลิตหยกมีน้อย ทำให้มีราคาสูง เมียนมาเคยทำรายได้จากการส่งออกหยกได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 30,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การประเมินรายได้จริงจากการส่งออกหยกทำได้ยากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเนื่องจากหยกกะฉิ่นเกือบทั้งหมดถูกขายให้กับจีนแบบ “ผิดกฎหมาย”

ส่วนที่ส่งออกถูกต้องตามกฎหมายก็มี แต่ในรายงานการส่งออกแบบนี้นั้นจะตบแต่งราคาให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อประโยชน์ในการหลบเลี่ยงภาษี

 

เหมืองหยกเคยเป็นขุมทองของรัฐกะฉิ่น และชนกลุ่มน้อยกะฉิ่น ที่รวมตัวกันขึ้นเป็นองค์การกะฉิ่นอิสระ (เคไอโอ) แต่การค้าหยกทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของทัตมะด่อ หรือกองทัพมาตั้งแต่ยุคเผด็จการทหาร

สภาพดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเมื่อราวทศวรรษ 1990 เมื่อกองทัพเมียนมาเข้ายึดครองพื้นที่เหมืองหยกทั้งหมดในรัฐกะฉิ่น แล้วเปิดประทานบัตรให้กับบริษัทที่มีเส้นสายอยู่กับกองทัพ เข้าไปยึดครอง ขับไล่บรรดาคนในท้องถิ่นที่ทำมาหากินกับเหมืองขนาดเล็กๆ ออกจากพื้นที่

ทำให้คนท้องถิ่นไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะรับจ้างทำเหมืองกับบริษัทไปวันๆ หรือไม่ก็ออกไปหา “เศษหยก” จากเศษดินเศษหินที่ขุดออกมาทิ้งนอกเหมืองเท่านั้น

สัมปทานเหมืองหยกที่พม่า อายุอยู่ระหว่าง 3-5 ปี ผลก็คือ บริษัทที่จ่ายสัมปทาน (และอื่นๆ) ไปแล้ว ต้องเร่งรีบขุดหยกออกมาให้มากที่สุดในเวลาสั้นที่สุด เท่าที่จะทำได้

อุบัติเหตุเหมืองหยกจึงกลายเป็นเรื่องสามัญที่ผากั้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชาวกะฉิ่นเมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่คร่าชีวิตคนไปร่วม 200 คน

แล้วถูกท่านรัฐมนตรีเหมืองแร่ออกปากว่า คนที่ตายเป็นพวก “โลภมาก” ทั้งสิ้น

 

เหมืองหยกในเมียนมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่พัวพันอย่างแนบแน่นถึงการเมืองและความมั่นคง รวมถึงอิสรเสรีและการให้ความเคารพต่อชนกลุ่มน้อยไปอย่างช่วยไม่ได้

อุบัติเหตุเมื่อ 2 กรกฎาคม ยิ่งตอกย้ำให้ชาวกะฉิ่นผิดหวัง คับแค้นต่อรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของออง ซาน ซูจี มากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อปี 2015 เอ็นแอลดีหาเสียงในกะฉิ่นด้วยการสัญญาว่าจะ “ปฏิรูประบบเหมือง” ใหม่ทั้งหมด

เคไอโอคาดหวังอย่างมากกับเอ็นแอลดี ว่าจะช่วยให้อย่างน้อยที่สุด ส่วนแบ่งจากรายได้เหมืองหยกจะตกมาถึงรัฐกะฉิ่นมากขึ้น ระบบการให้สัมปทานเป็นธรรมขึ้น

ความคาดหวังดังกล่าวทำให้เคไอโอตกลงทำสัญญาสันติภาพกับกองทัพเมียนมา

แต่นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงบัดนี้ รัฐบาลเอ็นแอลดีกำลังหมดวาระลง การเลือกตั้งใหม่จะวนมาอีกรอบในวันที่ 8 พฤศจิกายนปีนี้

เหมืองหยกที่ผากั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อุบัติเหตุเมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

เคไอโอล้มสัญญาสันติภาพไปแล้ว เอ็มแอลดีที่เคยพยายามสร้างพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองกะฉิ่นก็เลิกล้มการเป็นพันธมิตรกันไปแล้ว เตรียมส่งผู้สมัครลงแข่งขันในทุกเขตที่นี่

ถึงตอนนี้ ชาวผากั้น ชาวกะฉิ่น ไม่มีใครที่จะให้พึ่งพาอีกแล้ว

จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองเต็มที่อีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2