ในประเทศ / รุก…? ในถอย

ในประเทศ

 

รุก…?

ในถอย

 

จุดเด่นหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวสู่อำนาจจากการรัฐประหาร และดำรงในอำนาจต่อเนื่องผ่านรัฐธรรมนูญ ปี 2560

นั่นคือ ไม่แข็งทื่อ นำไปสู่การแตกหัก เหมือนผู้นำที่ก้าวมาจากทหารอื่นๆ

ตรงกันข้าม มีความพยายามยืดหยุ่นตามสถานการณ์

บางเรื่องสามารถกลับลำ ถอนกลับดื้อๆ โดยมีชุด “เหตุผลหนึ่ง” อธิบาย ฟังขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง

แต่ก็ยอมเสียหน้าด้วยการถอย

และใช้การถอยนั้น เป็นช่องทำให้สามารถเอาตัวรอดจาก “วิกฤต” และ “ปัญหา” ที่รุมเร้าได้

ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถ “รุก” กลับได้

จนถือเป็นยุทธวิธีรุกในถอย ที่น่าสนใจ และต้อง “รู้ทันประยุทธ์”

 

อย่างประเด็นร้อน หลังจากที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำจากรัฐบาลจีน ซึ่งกองทัพเรือได้เสนอตั้งงบประมาณ 3,925 ล้านบาท

ซึ่งแม้กองทัพเรือ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” จะออกมาชี้แจงถึงความจำเป็นที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ

แต่ก็ไม่อาจหยุดกระแสคัดค้านได้

ตรงข้าม กลับทำท่าว่าเรื่องเรือดำน้ำจะเป็นดังฟืนสุมไฟการเมือง ทั้งในสภาและนอกสภา ให้ลุกโพลงขึ้นและมีทีท่าจะลามไปยังส่วนอื่นๆ ของรัฐนาวา

แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะหักหาญเอาตามที่ต้องการ

เพราะสามารถใช้เสียงข้างมากทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ ปี 2564 ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดันให้เรื่องเรือดำน้ำผ่านออกไปได้

แต่ พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่า แม้จะชนะเสียงในสภาได้ แต่ไม่อาจชนะในทางการเมืองได้

ตรงกันข้าม อาจบานปลายเป็นปัญหาใหญ่โตได้ เมื่อประเด็นนี้ถูกนำไปขยายบนเวทีต่อต้านรัฐบาล ซึ่งนับวันจะขยายใหญ่ขึ้น

ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ตัดสินใจถอย

โดยให้กองทัพเรือไปเจรจากับจีนเพื่อขอยืดเวลาการชำระค่างวดออกไป 1 ปี

ทำให้ความร้อนแรงลดลงทันที

 

กระนั้นถามว่า นี่เป็นการถอยกรูดๆ เลยหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่

พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท ยังคงอยู่

“จะไปหยุดได้อย่างไร เพราะเป็นแผนการพัฒนาของกองทัพ”

ท่าทีและจุดยืนดังกล่าว ย้ำให้เห็นว่า โครงการเรือดำน้ำยังอยู่ และเดินหน้าต่อไป

เพียงแต่ยอม “เสียฟอร์ม” หลบคลื่นลม เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปในปีหน้า

ซึ่งถ้าหากคลื่นลมการเมืองอาจจะสงบลง ทำให้สามารถ “ลุ้น” เดินหน้าเรือดำน้ำต่อไปได้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมถอย

นั่นก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรู้ดีว่าการแก้ไขดังกล่าว จะลิดรอนอำนาจและความได้เปรียบของฝ่ายตนเอง

แต่เมื่อเผชิญกระแสกดดันทั้งจากในและนอกสภาอย่างหนักหน่วง

ก็ยอมถอย

เริ่มจาก ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ขึ้นมา

แน่นอน ด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามซื้อเวลา

ด้วยเป็นเพียงการศึกษา

และเมื่อศึกษาแล้วก็ไม่ผูกพันว่าจะต้องทำตามนั้น

ซึ่งต่อมาก็พบว่าการเปิดช่อง “เล็ก-เล็ก” เพียงแค่นี้ ไม่อาจสยบกระแสการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้

แถมยังเป็นเงื่อนไขที่ปลุกเร้ากระแสมวลชนคนรุ่นใหม่ออกมากดดันอย่างหนัก

กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ “จุดติด” และส่อแนวโน้มที่จะขยายออกไปเรื่อยๆ

พล.อ.ประยุทธ์ก็ถอยอีกก้าว นั่นคือ ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ยืนยันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ควรแก้ไข ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ซึ่ง กมธ.ต้องหารือร่วมกัน หลังจาก กมธ.หารือร่วมกันแล้ว ก็ต้องรับฟังเขาว่าอย่างไร ต่อมาก็ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับร่างเพื่อเสนอควบคู่ไป ยืนยันอย่างนี้ นี่คือกลไกที่ถูกต้อง เข้าใจหรือไม่ ขอร้องว่าอย่าให้มันเกิดความวุ่นวายขึ้นมานักเลยในเวลานี้ เรากำลังแก้ปัญหาอยู่ หลายอย่างไปด้วยกัน”

 

แต่กระนั้น หากพิจารณาตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ข้างต้น

จะเห็นว่าแฝงเงื่อนไขสำคัญหนึ่งเอาไว้

นั่นคือ แม้ฟากรัฐบาลจะยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ก็เป็นการยื่นของพรรคร่วม มิใช่ยืนในนาม “รัฐบาล”

ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร นอกจากเป็นความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะไม่เอารัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยว ปล่อยให้เป็นเรื่องพรรคร่วม

หากรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ก็ต้องยืนกรานให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลก็ย่อมไม่ต้องการ “ผูกมัด” ตนเอง

เพราะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีแนวโน้มจะต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น แล้วส่อเค้ารัฐธรรมนูญใหม่มีแนวโน้มจะ “ทะลุเพดาน” จำเป็นต้องคว่ำ โดยอาจต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา

รัฐบาลก็สามารถลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ โยนให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมไป

พล.อ.ประยุทธ์ถึงจะถอย ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็วาง “ปม” ที่จะลอยตัวหรือรุกกลับได้ตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ หากไปพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรครัฐบาล เสนอแม้จะยอมให้มี ส.ส.ร.

แต่ก็ได้ชิงกำหนดสเป๊ก

(1) สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวน 150 คน

(2) สมาชิกซึ่งรัฐสภาคัดเลือกจำนวน 20 คน

(3) สมาชิกซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวน 20 คน โดยคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวนสิบคน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน

(4) สมาชิกซึ่งคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา จำนวน 10 คน

รวม 200 คน

โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว จะมีเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน

เมื่อเสร็จส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ หากไม่ผ่านความเห็นชอบ จะต้องเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติต่อไป

จะเห็นว่า ระยะเวลาดำเนินการเพื่อจะได้ ส.ส.ร.และร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยคือ 90+240 วัน ยังไม่รวมจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ และระยะเวลาลงประชามติในกรณีไม่เห็นชอบ ไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ซึ่งถือว่ายาวนาน โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์ตรงนี้ย่อมไม่ใช่ผู้ที่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลมากกว่า

คือนอกจากสามารถ “ยื้อเวลา” ออกไปได้ยาวนานแล้ว

ยังดึง “เงื่อนไข” นอกสภา เข้ามาอยู่ใน “สภา” ที่สามารถควบคุมและกำกับได้มากกว่า

นี่ก็ถือเป็นการรุกในถอย อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลจะตกในภาวะ “ถอย”

แต่เราก็เห็นความพยายามที่จะหายุทธวิธี “รุกในถอย”

เพื่อไม่ให้อยู่ในสถานการณ์ถอยกรูดๆ หรือถูกกระทำฝ่ายเดียว

ดังที่เราเห็นในเกมซื้อเรือดำน้ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รวมอาจถึงกรณี “บอส อยู่วิทยา” ที่พัวพันกลไกในยุค คสช.

ไม่ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นช่องทางสำคัญในการกรุยทาง “สั่งไม่ฟ้อง”

และลากโยงไปถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

สร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมอย่างรุนแรง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ไปโต้แย้ง คัดง้าง ยอมถอยด้วยการใช้อำนาจนายกฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ที่ผลการสอบสวนออกมาแล้วค่อนข้างตรงใจประชาชน

จน พล.อ.ประยุทธ์น่าจะใช้เป็นเกมรุกคืน โดยสามารถเคลมว่านี่คือความพยายามฟื้นความยุติธรรมกลับมาได้อย่างสบายๆ

แต่กระนั้นดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์มีดาวเคราะห์ “ร้าย” เล็งอยู่ตลอดเวลา

ทำให้มีเรื่องต้องหาทางถอย เข้ามาต่อเนื่อง จนแทบโงหัวไม่ขึ้น

ไม่ว่ากรณีการอาจเสียค่าโง่เหมืองทองอัครานับหมื่นล้าน

และสดๆ ร้อนๆ คือการถอยของนายปรีดี ดาวฉาย จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งที่เข้ามาทำงานไม่ถึงเดือน

ย่อมจะดึงให้ พล.อ.ประยุทธ์ถดถอยทางการเมืองไปด้วย

        โดยไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีแรง “รุก” ในถอย จากนานากรณีเหล่านี้อย่างไร!!

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2