ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“นายทหารที่เป็นปีกซ้ายเป็นคนกลุ่มน้อย [ในกองทัพ] คล้ายกับนักเล่นหุ้นกลุ่มน้อยเท่านั้นที่จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย [ดังนั้น] ผลของการแทรกแซงของทหารก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลทหารปีกขวา”
Robert Pinkney
Right-Wing Military Government (1990)
นักศึกษาการเมืองภายในของไทยมักจะไม่ให้ความสำคัญของผลกระทบของปัจจัยภายนอก จนมองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ของสองปัจจัยนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของสงคราม
แต่หากย้อนพิจารณาการเมืองไทยในแต่ละช่วงเวลาจะเห็นปัจจัยสงครามในแต่ละยุค
เช่น จอมพล ป. พิบูลสงครามยุคแรกเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.ยุคหลังเจอกับสงครามเกาหลีและสงครามเดียนเบียนฟู จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องพบกับสงครามในลาว แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือจอมพลถนอม กิตติขจร กับสงครามเวียดนาม
ปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศในยุคจอมพลถนอม มีผลอย่างมากกับความเป็นไปกับการเมืองภายในของไทย ซึ่งไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง 4 ประเด็นใหญ่ในเอเชีย ได้แก่
การเข้าสู่สงครามของสหรัฐในเวียดนามในปี 2507
การรุกในเทศกาลตรุษญวนในปี 2511
การถอนตัวของสหรัฐจากสงครามเวียดนามในปี 2512
และการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐ-จีนในปี 2515
ทั้งสี่เรื่องใหญ่นี้ล้วนมีผลต่ออนาคตของรัฐบาลทหารกรุงเทพฯ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
สงครามของสหรัฐในเวียดนาม
นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกำเนิดของสงครามเย็นในเอเชียที่สอดรับกับการขยายตัวของกลุ่มการเมืองปีกซ้ายในไทย จะเห็นได้ชัดว่าผู้นำปีกขวาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำปีกขวาจัดล้วนตกอยู่ใน “วังวนแห่งความกลัว” ของภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอก
ฉะนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างมากกับอนาคตของการเมืองไทยเป็นปัญหาด้านความมั่นคง
ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์กลายเป็นโจทย์การเมืองใหญ่ในยุคสงครามเย็น และกลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีที่ถูกใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมของระบอบทหารทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งในไทยด้วย
ฉะนั้น เมื่อปัจจัยความมั่นคงเป็นตัวกำหนดสำคัญต่ออนาคตของการเมืองภายใน ก็เท่ากับชี้ให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า ปัจจัยนี้เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารแทรกแซงการเมืองได้โดยตรง
กล่าวคือ ปัจจัยนี้จะกลายเป็น “ข้ออ้างทางการเมือง” ที่ทำให้กองทัพสามารถขยายบทบาทในสังคมได้อย่างกว้างขวาง
หากพิจารณาภูมิทัศน์ความมั่นคงไทยอย่างตัดตอนเวลาแล้ว เราอาจจะเริ่มจากยุคของรัฐบาลจอมพลถนอม ที่เข้ามาบริหารประเทศจริงในปี 2507
ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้ สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อเรือพิฆาต Maddox ของกองทัพเรือสหรัฐลาดตระเวนเพื่อเก็บข่าวกรองในอ่าวตังเกี๋ย ถูกโจมตีจากเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2507 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตอ่าวตังเกี๋ย” ตามมาด้วยการที่ทำเนียบขาวขออนุมัติรัฐสภาอเมริกันในการเปิดการโจมตีเวียดนามเหนือ…
สงครามเวียดนามยุคที่ 2 เริ่มขึ้นแล้ว
การโจมตีนี้คือจุดกำเนิดของสงครามเวียดนามที่มีสหรัฐเป็นคู่ขัดแย้ง และตามมาด้วยการขยายสงครามของสหรัฐ
ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อสิ้นปี 2507 นั้น สหรัฐมีกำลังพลอยู่ในเวียดนามมากถึง 23,000 นาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาด้วยการขยายกำลังรบทางอากาศทั้งในและนอกเวียดนามด้วย
ในอีกด้านการแสดงออกด้วยมาตรการทางทหารอย่างเข้มแข็งในการตอบโต้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เช่นนี้ ทำให้ผู้นำสหรัฐได้รับเสียงสนับสนุนทางการเมืองภายในอย่างมาก
นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธะของสหรัฐในการปกป้องชาติพันธมิตรให้พ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ในต้นเดือนมีนาคม 2508 สหรัฐได้เปิดการยกพลขึ้นบกที่ดานัง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของอำนาจกำลังรบในการทำสงครามเพื่อคุ้มครองเวียดนามใต้
และนำไปสู่การขยายกำลังรบ และการยกระดับกิจกรรมทางทหารของสหรัฐอย่างมากในเวียดนามและไทยในปี 2508
การตัดสินใจที่กรุงเทพฯ
ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐขยายสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคม 2507 จนถึงปลายปี 2508
การขยายสงครามของสหรัฐเช่นนี้กลายเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างมากต่อรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ
ผู้นำไทยจะตัดสินใจอย่างไรกับปัญหาสงครามเวียดนามของสหรัฐ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลทหารไทยไม่เคยตั้งคำถามกับวิกฤตอ่าวตังเกี๋ยที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
แต่ความผูกพันทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐที่เป็นผลจากสงครามเกาหลี และสงครามเดียนเบียนฟู (ความตกลงซีโต้ 2497) ทำให้ผู้นำทหารไทยไม่อาจตัดสินใจเป็นอื่นได้
และในต้นปี 2510 รัฐบาลจอมพลถนอมได้ตัดสินใจส่งกำลังรบทางบกเข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม
รัฐบาลไทยเข้าร่วมสงครามกับสหรัฐด้วยเหตุผลของ “ความกลัวคอมมิวนิสต์” และเชื่อเสมอด้วยความมั่นใจในพลังอำนาจทางทหารของ “สงครามตามแบบ” ว่า สหรัฐจะเป็นผู้ชนะในสงครามนี้
ในอีกด้านของมุมมองทางทหารแล้ว ก็แทบไม่มีเหตุผลเลยที่สหรัฐจะไม่เป็นผู้ชนะ
กำลังรบของเวียดนามเหนือและรวมถึงพวกเวียดกงนั้น ไม่ได้มีขีดความสามารถทางทหารมากพอที่จะรับมือกับการโจมตีของสหรัฐได้เลย และยิ่งในบริบททางเทคโนโลยีทหารแล้ว เวียดนามเหนือและเวียดกงไม่อาจเทียบเคียงได้กับเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูงที่สหรัฐมีในสนามรบได้เลย
ถ้าสหรัฐชนะสงครามในเวียดนาม ผู้นำทหารไทยเชื่อมั่นว่า ไทยจะปลอดภัยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์
และเชื่อมั่นในทางทหารว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐจะกลายเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำในการสงคราม
หากพิจารณาด้วยตรรกของสงครามตามแบบแล้ว เมื่อสหรัฐชนะในหลายการรบ การแพ้สงครามจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
ยิ่งมองจากมุมของสงครามทางอากาศที่เห็นจากยุทธการ “Rolling Thunder” ที่จนถึงปี 2513 นั้น สหรัฐทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายในเวียดนามมากกว่าการที่ชาติต่างๆ ทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2
และระเบิดหลายแบบที่ทิ้งเป็นระเบิดแรงสูง และระเบิดนาปามที่มีขีดความสามารถในการทำลายอย่างมาก
ในขณะที่พวกเวียดกงขนส่งสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ในทางทหารด้วยรถจักรยาน หรือใช้การแบกขนด้วยแรงงานคน…
เป็นไปไม่ได้เลยที่มหาอำนาจผู้ทรงพลังอำนาจทางทหารอย่างสหรัฐจะเป็น “ผู้แพ้” ในสนามรบนี้
แม้ทิศทางของการสงครามมีสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง เมื่อกองกำลังของเวียดกงเปิดการรุกใหญ่ในเทศกาลตรุษญวนในเดือนมกราคม 2511 (The Tet Offensive, 1968)
การโจมตีครั้งนี้เกิดมากกว่า 100 จุดที่เป็นเป้าหมายในเมืองของเวียดนามใต้และฐานทัพสหรัฐ
ปฏิบัติการของเวียดกงเกิดขึ้นพร้อมกัน และเกิดแม้กระทั่งที่ไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวง รวมถึงสถานทูตอเมริกันด้วย
การรุกใหญ่ครั้งนี้เป็นคำตอบในทางทหารว่า “สหรัฐไม่อาจเอาชนะสงครามในเวียดนามได้”
แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าผู้นำทหารไทยตระหนักถึงข้อสรุปนี้เพียงใด และมองเห็นทิศทางสงครามที่เปลี่ยนไปหรือไม่
แต่ท่าทีที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลทหารไทยยังเชื่อมั่นในอำนาจกำลังรบของสหรัฐว่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดสงครามในเวียดนาม และทหารไทยยังคงรบอยู่ในเวียดนาม
ยุทธศาสตร์ใหม่หลัง 2512
เมื่อทิศทางสงครามเป็นไปในแบบที่สหรัฐอาจจะไม่เป็นผู้ชนะในเวียดนาม ทำเนียบขาวจึงพยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ในปี 2512 ด้วยนโยบาย “ให้คนเวียดนามรบในสงครามเวียดนาม” หรือมักจะถูกเรียกว่านโยบาย “ทำให้เป็นเวียดนาม” (The Vietnamization Policy)
และในเดือนมิถุนายน 2512 กำลังพลชุดแรกของสหรัฐก็ถอนตัวออกจากเวียดนาม และการลดกำลังพลอเมริกันดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2515 รัฐบาลเวียดนามเหนือจึงยอมเปิดการเจรจาสันติภาพ และกำลังพลอเมริกันชุดสุดท้ายเดินทางออกจากเวียดนามในสิ้นเดือนมีนาคม 2516
รัฐบาลทหารไทยในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะพอเห็นถึงทิศทางดังกล่าว แต่การปรับยุทธศาสตร์ของไทยเองก็มีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยตั้งประเด็นมาก่อนว่า ถ้าสุดท้าย ทำเนียบขาวตัดสินใจถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามแล้ว ไทยจะรับมือกับภูมิทัศน์ความมั่นคงใหม่หลังการถอนตัวของสหรัฐอย่างไร เพราะผู้นำทหารไทยเชื่อมาโดยตลอดว่า “สหรัฐจะเป็นผู้ชนะ” ในสงครามนี้
นอกจากการปรับทิศทางยุทธศาสตร์ของสงครามเวียดนามแล้ว สหรัฐยังปรับยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกชุดด้วยการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มด้วยการยอมรับให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นผู้แทนของจีนในสหประชาชาติในเดือนตุลาคม 2514 และตามมาด้วยการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีอเมริกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2515…
การเปิดการทูตใหม่ของความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนถือเป็นภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองโลกอีกชุด ซึ่งในอีกมุมหนึ่งการทูตชุดนี้ทั้งการเจรจาสันติภาพในสงครามเวียดนามและการเปิดความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ช่วยทำให้ระดับความเข้มข้นของสงครามเย็นในเอเชียลดลงอย่างมาก
ในอีกมุมของสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-โซเวียตก็ลดความรุนแรงลงเช่นกัน
การเริ่มเปิด “การเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์” (SALT) ในเดือนพฤศจิกายน 2512 และการเจรจานี้ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2515
แม้สงครามเย็นจะไม่ได้ปิดฉากลง แต่ก็ลดความตึงเครียดลงอย่างมาก และโลกก้าวสู่ยุคของ “การผ่อนคลายความตึงเครียด” (Detente)… สงครามเริ่ม “ไม่เย็นมาก”
ดังนั้น การเมืองโลกในช่วงจากการปรับนโยบายของทำเนียบขาวในปี 2512 จนถึงปี 2515 นั้น ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมือง-ความมั่นคงของโลกอย่างมาก ระดับความตึงเครียดของรัฐมหาอำนาจลดลง และระดับของสงครามในเวียดนามก็ลดลงในทิศทางเดียวกัน
ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ จะปรับตัวอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการทูตของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับในทางความมั่นคง
เมื่อผู้นำสหรัฐตัดสินใจเยือนจีนแล้ว เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองให้กับชาติในเอเชีย และรวมทั้งไทยว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ รัฐบาลทหารไทยไม่อาจดำเนินนโยบาย “ต่อต้านจีน” ในแบบเดิมได้อีกต่อไป
ถ้าเช่นนั้นไทยจะทำอย่างไรกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในบ้าน
รัฐประหารคือจุดจบ!
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้นำทหารไทยตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีการเก่า… รัฐประหารตัวเองในปี 2514 เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้นำทหารยังสามารถควบคุมการเมืองไทยได้
ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ารัฐบาลทหารจะเป็นเครื่องมือในการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ของไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในความเป็นจริงดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐประหารนี้คือจุดเริ่มต้นของการถดถอยครั้งสำคัญของรัฐบาลจอมพลถนอม
และเป็นจุดที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในเวลาต่อมาด้วย!