ทราย เจริญปุระ | หนังสือกอง และดอง

เพิ่งเห็นไอเดียล่าสุดในการโปรโมตงานหนังสือที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการชวนมาอ่านโดย “No กองดอง”

-ซื้อไป ไม่กอง ไม่ดอง ต้องอ่าน-

เห็นประโยคนี้แล้วก็รู้สึกพิลึกใจเป็นกำลัง เพราะฉันเชื่อว่าเหล่าหนอนหนังสือทั้งหลายล้วนมีกองดองกันทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ากองเหล่านี้ไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญ การซื้อหนังสือมากักเก็บไว้ก่อนก็คงเหมือนการกักตุนอาหารไว้หน้าหนาว หรือยามแล้งไร้หนังสือออกใหม่

ยิ่งถ้าเป็นคนที่เคยผ่านช่วงของการไม่มีหนังสือปกใหม่ๆ ออกมาเลยในช่วงเดือนสองเดือนก่อนจะถึงงานใหญ่แบบที่เคยเป็นมาเมื่อซัก 10 ปีก่อนเช่นฉัน

ก่อนที่การสั่งซื้อหนังสือออนไลน์จะทำได้ง่ายขึ้น กองดองเหล่านี้แหละ คือตาน้ำที่เอาไว้ต่อชีวิต

ฉันเลยออกจะประหลาดที่กับเรื่องแค่นี้ ทีมงานหรือคนทำโปรโมตยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของคนอ่านหนังสือ (ดักไว้ก่อนแล้วกันว่าอาจจะไม่ทั้งหมด แต่เป็นธรรมชาติของคนอ่านหนังสือ “ส่วนมาก”) กลับมาพูดแนวตำหนิ เหมือนเป็นพ่อเป็นแม่ไปอีก ว่าซื้อมาต้องอ่าน อ่านไม่หมดไม่ต้องซื้อใหม่

เกิดคนอ่านเห็นงามไปกับแคมเปญนี้ก็พอดีไม่ต้องจัดงานกัน

ก็จะไปซื้อทำไม ในเมื่อคนจัดเขายังพูดอยู่ลั่นๆ ว่าไม่เอากองดอง

งั้นก็นอนอยู่บ้านกันนี่แหละ ไล่อ่านไอ้ที่ดองๆ ไว้ให้หมด งานหนังสือที่จัดไว้ก็ไม่ต้องไป เพราะซื้อใหม่มาสมทบกองเก่า คนจัดงานเขาไม่มีความสุข

พูดอย่างบ้านๆ ก็ต้องบอกว่าสาระแนกับชีวิตและการบริหารจัดการของคนซื้อเสียจริง

ยิ่งนานวัน ไอ้การบริหารจัดการแนวคุณพ่อรู้ดี ทำไมมันถึงเฟื่องฟูนักก็ไม่รู้

ทำเหมือนคนอื่นเขาไม่มีสมองที่จะประมวลผลวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ทำเหมือนวิธีใช้ชีวิตของคนอื่นเป็นบาปหรือข้อผิดพลาดที่ต้องประณามหรือเข้าไปแก้ไข

ทั้งที่มันก็ชีวิตของเขาแท้ๆ เขาจะผิดจะพลาด จะเก็บจะตุน จะดื่มจะกิน จะดองจะอ่านมันก็เรื่องของเขา

ลองคิดว่าเกิดมีคนหมั่นไส้กับแคมเปญนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กันสัก 30% ของคนที่ไปงานหนังสือทุกปี คนที่หน้าแห้งที่สุดก็จะเป็นบรรดาสำนักพิมพ์กับคนจัดงานนั่นแหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน

แล้วก็ไม่ต้องมาแก้เกี้ยวว่าเดี๋ยวนี้เขาก็มีให้อ่านให้สั่งแบบออนไลน์กัน

ไม่ใช่ทุกที่จะสะดวกทำแบบนี้ การสั่งและส่งแบบออนไลน์มีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การทำหน้าเว็บไปจนค่าแพ็กของลงบรรจุภัณฑ์ เป็นคำแนะนำและแก้เกี้ยวที่ตื้นเขินพอๆ กับที่ไปบอกชาวสวนผลไม้ว่า ถ้าผลผลิตเหลือก็แปรรูปสิ

พูดอย่างกับมันทำได้ง่ายๆ หรือคิดว่าคนปลูกเขาไม่เคยคิดมาก่อน

ปลูกนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่แปรรูปก็เป็นอีกเรื่องไปโดยสิ้นเชิง เรียกว่าแทบจะต้องลงทุนตั้งต้นกันใหม่อีกรอบ

ถ้าไม่เป็นเศรษฐีเงินถุงเงินถัง ที่ปลูกเล่นๆ กลัวรวย แล้วเอามาคั้นแจกเพื่อนนี่ การแปรรูปไม่ใช่ทำง่ายขนาดนั้น

เหมือนหนังสือนี่ละ มันมีความเฉพาะตัวของการได้เห็น ได้จับ ได้พลิก ได้เลือก ซึ่งการซื้อแบบออนไลน์แม้จะสะดวกขนาดไหนก็ทดแทนกันไม่ได้

ดังนั้น เมื่อเห็นออกแคมเปญมาโปรโมตให้ปฏิเสธการกักตุนหนังสือในยามที่ทุกคนอยากอ่านอะไรใหม่ๆ และสำนักพิมพ์ก็อยากจะขายแบบนี้ จึงไม่รู้จะพูดอะไรได้มากไปกว่าคำว่าสิ้นคิด และทำให้ฉันเริ่มจริงจังกับการเทงานหนังสือที่จะเกิดขึ้นในตุลาคมนี้เอาดื้อๆ ตามประสาคนขี้หมั่นไส้

หมั่นไส้เสร็จแล้วก็ต้องหยิบเอาหนังสือจากในกองดองมาคุยกันให้รู้ว่า กองดองนั้นมีประโยชน์ และการดองหนังสือก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวันหยิบมาอ่าน

แต่จะหยิบมาอ่านเมื่อถึงเวลาของมัน

BadBlood เป็นหนังสือที่ออกมาเมื่อต้นปี และเหมือนๆ จะถูกกระแสความแตกตื่นของโควิดถล่มเสียจนพื้นที่ในการพูดถึงน้อยลงไปเสียเฉยๆ ทั้งที่ตัวหนังสือนั้นสนุกมากๆ

“ปี 2008 เอลิซาเบธ โฮมส์ วัย 19 ปี ลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มาก่อตั้งบริษัทที่จะเป็นเพชรน้ำเอกเม็ดใหม่แห่งวงการเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยอุปกรณ์ไฮเทคซึ่งเป็นดังแล็บเคลื่อนที่ตรวจวิเคราะห์เลือดคนไข้ได้ในบ้านโดยใช้เลือดตัวอย่างเพียงหยดจิ๋ว ภาพฝันนี้รวบรวมทุนให้เอลิซาเบธได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ ดึงคนสำคัญๆ ในวงการมาร่วมงานกับเธอได้นับไม่ถ้วน บริษัทเติบโตไม่หยุดยั้ง จน 10 ปีต่อมา เธอได้ชื่อว่าเป็นสตีฟ จอบส์ หญิง ตอนนี้เองที่การขุดคุ้ยเริ่มต้นขึ้น แล้วทุกสิ่งที่ซุกซ่อนไว้ก็ถูกเปิดเผย…”*

หนังสือสนุกแบบสนุก เรื่องบางเรื่องก็ชวนให้คิดว่า ถ้ามันเกิดขึ้นต่อหน้าเรา ณ เวลานั้น เราจะเอะใจ หรือสงสัยบ้างไหม ว่าความคิดที่ขายๆ ให้เพื่อเรียกเงินจากกระเป๋าเรา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายขึ้น จะทำได้จริงแค่ไหน

จนเมื่อเรียงตามเวลาอย่างที่หนังสือทำนั้น แน่นอนว่าเราเห็นร่องรอยผิดประหลาด ไม่สมจริง ไม่สมเหตุสมผลมากมาย

แต่ก็นั่นแหละ ถ้าเป็นเราที่อยู่ตรงนั้น ในเวลานั้น กับความฝันอันงดงาม

เราจะต้านมันได้สักแค่ไหนกัน

อะไรที่ดูดีในตอนแรก ดูดีเกินจริง ดูดีแบบโดนตีจนเฟื่องฟูลอยนั้น โดยส่วนตัวฉันถือเป็นเหตุเพียงพอแก่การสงสัย

ว่าอะไรมันจะดีหมดจด ไร้รอยด่างพร้อยขนาดนั้น

ไม่เฉพาะเทราโนสของเอลิซาเบธหรอก

แต่หมายถึงอะไรต่อมิอะไรที่เราเห็นในช่วงชีวิตของเรานี่แหละ

สงสัยไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย ถ้าเขาดีหมดจดได้ขนาดที่คุยจริงก็ไม่ได้เป็นการเสียหน้าเสียเหลี่ยมอะไรที่จะสงสัยไว้ก่อน

เพราะสำหรับมนุษย์ การสิ้นสงสัยนั้นน่ากลัวที่สุด

มันหมายถึงเรายอมโดนลากไปลากมาตามแต่ที่จะมีคนต้องการ โดยไม่เคยถามตัวเองเลยว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร หรือเขาลากเราไปเพื่ออะไรกันแน่

“เลือดชั่ว” (Bad Blood) เขียนโดย John Carreyrou แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ Salt, กุมภาพันธ์ 2563

*ข้อความจากในหนังสือ