“ความป่วยไข้” ที่ยากรักษา

สังคมประชาธิปไตย หากมองผ่านความเป็นไปในประเทศอื่นๆ การชุมนุมของประชาชนเพื่อเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างส่วนใหญ่จะถูกมองเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นธรรมดาที่คนเราจะมีความคิดที่แตกต่างกันมาแสดงออก

อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งการชุมนุมประท้วงกลายเป็นความวุ่นวายในสังคม เพราะผู้มีอำนาจมักจะรักษาอำนาจของพวกตัวเองไว้ด้วยการใช้กฎหมายและกำลังเข้าปราบปราม

ความแตกต่างของประเทศที่ถือว่าการแสดงออกเป็นความปกติ กับเป็นสิ่งที่ต้องปราบปรามส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจมีความพร้อมที่จะรับฟังหรือไม่ ถ้าไม่พร้อม การขัดขวางและปราบปรามจะเกิดขึ้น

ภาพของประเทศที่เลือกใช้วิธีปราบปรามผู้มีความเห็นต่าง และนำความขัดแย้งสู่ความรุนแรง จะถูกสังคมนานาชาติมองว่าเป็นผู้นิยมเผด็จการ มุ่งรักษาอำนาจของตัวเองไว้โดยอ้างความสงบ

ประเทศไทยมองความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องที่จะต้องปราบปราม

สังเกตได้จากท่าทีของประชาชนในประเทศนั้นเมื่อมีการแสดงความเห็นต่างเกิดขึ้น

หากเป็นประเทศที่ไม่ได้รู้สึกอะไร เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ย่อมนับเป็นประเทศเสรีนิยม

แต่หากประชาชนทั่วไป หรือที่มีบทบาทในการชี้นำสังคมออกมาพูดถึงความขัดแย้งจะรุนแรง จนทำให้กระแสทั่วไปตั้งคำถามในทางที่จะเกิดการปะทะกันรุนแรงหรือไม่

นั่นย่อมสะท้อนว่าเป็น “การไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่างของประชาชน และพร้อมจะใช้กำลังเข้าจัดการ” กลายเป็นความปกติของการอยู่ร่วมกันในสังคมของประเทศนั้น

ประเทศไทยเราเป็นอย่างไร เห็นความคิดที่แตกต่างเป็นความปกติ หรือจะต้องควบคุมไม่ให้เกิด โดยเหตุผลว่าจะทำให้ประเทศไม่สงบ

การตั้งคำถามและผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดดูจะเป็นคำตอบได้

สถานการณ์การเมืองที่เยาวชนออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดที่แตกต่างในช่วงนี้

“นิด้าโพล” ซึ่งเป็นสถาบันทางความคิด เลือกที่จะตั้งคำถามว่า “จากการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ท่านมีความกังวลหรือไม่ว่าจะเกิดการบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม”

ฟังเผินๆ ดูจะเป็นคำถามธรรมดา และเข้าจริงก็คือคำถามแทนใจของคนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ

แต่หากมองลึกลงไปว่า “ทำไมไม่ถามความคิดที่แตกต่างนั้นเป็นความคิดที่ผิดหรือถูก” ซึ่งจะเป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งให้ผู้รับผิดชอบได้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ทำไมจึงไปย้ำที่ “ความรุนแรง” แถมยังดูเป็นการแทนใจคนส่วนใหญ่ ย่อมหมายความว่า คนในสังคมเรามองความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องน่ากังวลที่เกิดขึ้น ความปกติของสังคมเราคือความกังวลว่าจะรุนแรงหรือไม่ แทนที่จะอยู่ที่การรับฟังแล้วประเมินว่าเป็นความคิดที่ “ถูกหรือไม่ถูก”

ยิ่งชัดขึ้นเมื่อคำตอบร้อยละ 26.37 ตอบว่ากังวลมาก และร้อยละ 34.76 ค่อนข้างกังวล นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับความเห็นแตกต่างว่าผิดหรือถูก แต่เอาความรู้สึกหวาดกลัวนำความเห็น

มีแค่ร้อยละ 14.18 ที่ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 24.16 ที่ตอบว่าไม่กังวลเลย เพราะมองว่าการแสดงความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ

สังคมประชาธิปไตย ที่มีความคิด “เสรีนิยม” เป็นแรงขับเคลื่อน ย่อมเห็นความคิดที่แตกต่างเป็นความปกติ อยู่ได้อย่างสงบในความแตกต่าง

และเห็นความพยายามที่จะขจัดความแตกต่างเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นความป่วยไข้ของสังคม

จากผล “นิด้าโพล” ดังกล่าวนี้ หากจะตีความว่า “ประชาธิปไตยไทยป่วยไข้” เพราะเต็มไปด้วยความกังวลกับการแสดงออกที่ต่างความคิด ย่อมได้

และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ “คนที่ป่วยไข้” หากคิดว่า “ตัวปกติ” ย่อมคือ “คนไข้ที่มีแนวโน้มจะป่วยหนักมากขึ้นเรื่อยๆ”

เนื่องจากการ “ไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย” นั้น คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “รักษาไม่หาย”