คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “รบเถิดอรชุน” การเมือง ชีวิต ความขัดแย้ง กับภควัทคีตาในภาวการณ์ร่วมสมัย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้จำต้องหยิบจับเอา “ภควัทคีตา” คัมภีร์สำคัญของฮินดูมาอ่านอีกครา เนื่องจากผมเพิ่งเปิดชั้นเรียน “ภควัทคีตา บทเพลงในสมรภูมิแห่งใจ” ที่วัชรสิทธาขึ้นมาเป็นรอบที่สอง

คลาสเรียนครั้งนี้พาผมไปไกลแสนไกล เนื่องจากผู้เรียนจำนวนสิบนิดๆ นั้น มีทั้งพระภิกษุ คนหลากวัย และที่สำคัญมีน้องๆ นิสิต-นักศึกษาซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้มาเรียนด้วย

น้องบางคนบอกว่า มันช่างประจวบเหมาะที่คลาสเรียนเกิดขึ้นในช่วงที่เขาต้องการคำแนะนำ หรือต้องการพลังบางอย่างในช่วงเวลายากยิ่งนี้ของเขาเอง

นักเรียน-นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ทำงานสะดวกราบรื่นทุกคนดอกครับ

หลายคนต้องเผชิญความขัดแย้งกับพ่อแม่หรือคนในครอบครัว กับเพื่อน กับแฟน ทางหนึ่งก็เป็นความรู้สึกและสายใยสัมพันธ์ ทางหนึ่งก็เป็นหลักการและความถูกต้อง อีกทั้งทุกคนก็ต่างมีความกลัวกันทั้งนั้น การออกไปขึ้นเวทีปราศรัยหรือทำกิจกรรม ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

น้องบางคนถึงบอกว่า “กล้า” ไม่ได้แปลว่าไม่กลัว แต่ก็ทำไปทั้งๆ ที่กลัวนี่แหละ

 

คีตานั้นนำเสนอความสับสนในความขัดแย้งระหว่างหน้าที่กับความรู้สึกในสายใยสัมพันธ์ น้องๆ เหล่านี้จึงคิดว่า น่าสนใจที่จะมาลองเรียนรู้คัมภีร์เก่าแก่อันนี้ดู เผื่อจะมีอะไรที่พอใช้การได้บ้าง

ผมเองก็ไม่คิดไม่ฝันหรอกครับว่าช่วงเวลาของการเรียนภควัทคีตารอบนี้จะเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะวางตารางลงไปตั้งแต่ต้นปี

แถมวันแรกที่เรียนยังตรงกับวันแรกของเทศกาล “คเณศจตุรถี” ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีขึ้นไปอีก

ผมเคยพูดถึงเนื้อหาโดยรวมของภควัทคีตา และพูดถึงนัยยะทางการเมืองของคีตามาบ้างแล้ว อันที่จริงคราวนี้ผมได้ตระหนักถึงนัยทางการเมืองของคัมภีร์เล่มนี้ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

และเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดคีตาจึงเป็นคัมภีร์ที่สำคัญขนาดนั้น

 

เมื่อกล่าวถึงประเด็น “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” อันที่จริงภควัทคีตาอันแสนเก่าแก่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการฮินดูที่เพิ่งสร้างนั้นด้วย

นักชาตินิยมอินเดียในยุคเริ่มต้น เลือกเอาคีตาจากบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายมาแปลในภาษาอังกฤษ แล้วค่อยๆ แปลไปสู่ภาษาถิ่นอื่นๆ ของอินเดีย ทั้งนี้ก็เพื่อบอกว่าอินเดียมีแนวคิดทางศาสนาที่สูงส่งไม่ต่างจากคริสต์ศาสนาของชาวตะวันตก และในหมู่ชาวอินเดียเอง ดูเหมือนคีตาจะส่งสารบางอย่างไปด้วยพร้อมกัน

สารที่บอกให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม

มหาตมะ คานธี มักเทียบเคียงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขากับแนวคิด “กรรมโยคะ” การกระทำกรรมไปโดยถือเป็นหน้าที่ แต่ไม่ยึดติดในผลของกรรมนั้น ไม่เสียใจหากผิดหวัง ไม่ดีใจหากสำเร็จ

นั่นทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองกับคำสอนในศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน

อาจารย์วิโนพา ภาเว ศิษย์คนสำคัญของคานธี ในระหว่างที่ท่านถูกจำคุกในฐานะนักโทษการเมือง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1932 นักโทษทั้งหลายได้ขอให้ท่านสอนภควัทคีตาแก่พวกเขา

ท่านจึงใช้ทุกวันอาทิตย์ในการสอนคีตา

บทบันทึกการสอนครั้งนั้น ได้รับการตีพิมพ์ภายหลังในชื่อ Talks on Gita (Gita-Pravachane) ซึ่งตัวท่านวิโนพาเองกล่าวว่า แม้ท่านจะตายไป หนังสือเล่มนี้จะยังคงรับใช้มนุษยชาติแทนท่าน

มีผู้กล่าวว่า วิโนพาทำให้คุกกลายเป็นบุญยสถาน ซึ่งท่านได้สอนคีตาออกมาจากความเข้าใจและการตีความของท่านเอง และเมื่อท่านสอนจบ บรรดานักโทษได้พากันรวบรวมเงินที่เก็บรักษาไว้ เพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการพิมพ์

 

การศึกษาคัมภีร์ในอินเดียนั้นอัศจรรย์ เพราะไม่มีใครผูกขาดหน้าที่ในการตีความคัมภีร์ทางศาสนากับตัวไว้ได้เบ็ดเสร็จ คัมภีร์เล่มเดียวกันจะถูกตีความกันไปอย่างหลากหลาย สำนักทางศาสนาก็ตีความไปในทางของตัว แต่ไม่เพียงนักการศาสนา นักการเมืองหรือนักกิจกรรมก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการตีความคัมภีร์เหล่านี้ในแนวทางของตนได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียจึงสดใหม่อยู่เสมอ การตีความอย่างหลากหลายนี่แหละที่ทำให้หนังสือสดใหม่ ในขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดกลับเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้หนังสือเหล่านั้นหยุดนิ่งลงไป และห่างเหินกับชีวิตผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในชั้นเรียนครั้งนี้ ผู้เรียนของผมต่างเอาใจช่วยและอยู่ข้างอรชุน รู้สึกราวกับอรชุนเป็นเพื่อน

ทุกคนเข้าใจความรู้สึกที่อรชุนเผชิญ ไม่มีสักคนเดียวที่จะเห็นด้วยกับพระกฤษณะตั้งแต่ต้นแม้ทุกคนจะรู้ว่าพระกฤษณะนั้นคือพระเจ้า

ในขณะที่ก็พบว่า ตัวอรชุนเองก็ไม่ได้ยอมรับคำสอนของพระกฤษณะอย่างง่ายดายเหมือนกัน

 

มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งที่มีการอ้าง “เสียงของพระเจ้า” ในทางการเมือง ศาสนาหรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม เพื่อจะบอกว่าสิ่งที่ผู้อ้างพระเจ้าแนะนำสั่งสอนหรือบังคับขู่เข็ญนั้นเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้องที่สุด

แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านั่นไม่ใช่เสียงของพระเจ้าตัวปลอม อรชุนไม่รู้ว่ากฤษณะเป็นพระเจ้า จึงไม่แปลกที่เขาจะสงสัยและไม่เชื่อสิ่งที่กฤษณะพูด จนสุดท้ายกฤษณะต้องสำแดงสภาวะแห่งพระเจ้าให้เขาเห็น

แต่เราผู้อยู่ในโลกมนุษย์ขี้เหม็น ที่ใครต่อใครพากันอ้างเสียงของพระเจ้า แต่ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าเสียงของพระเจ้านั่นเป็นของจริงหรือไม่

การที่เราจะไม่เชื่อถ้อยคำสอนสั่งพวกนี้ยิ่งกว่าอรชุนนั้นก็ไม่แปลกอันใดเลย

ท่าทีของการไม่สยบยอมหรือเชื่ออะไรง่ายๆ จึงกลายเป็นพลังอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ เป็นจุดตั้งต้นที่น่าสนใจ

ผมคิดว่าเราควรเริ่มต้นจากความสงสัยหรือขบถ แล้วจึงออกแสวงหาความจริง

ศรัทธาจะมีขึ้นเมื่อได้เดินในหนทางมาสักระยะแล้ว

ส่วนการตั้งต้นจากศรัทธาแต่แรกโดยปราศจากความลังเลสงสัยหรือท่าทีขบถนั้น ดูออกจะอันตรายต่อการเติบโตในเส้นทางจิตวิญญาณอยู่มาก

 

“รบเถิดอรชุน” คำนี้จากคีตาถูกช่วงชิงไปให้ความหมายกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยหลายครั้ง บางครั้งก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย คำคำนี้จึงกลายเป็นคำที่ดูตลกสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นคำติดปากเอาไว้ล้อกันเล่น

ส่วนตัวผมเองรู้สึกเสียดายที่คำคำนี้ หรือแม้แต่ตัวคีตาเองที่ถูกมองว่าเร่อร่าในสายตาคนหนุ่มสาว ใจจริงผมอยากยุให้พวกเราที่สนใจมิติทางศาสนาหรือจิตวิญญาณช่วงชิงเอากลับมาใช้ในความหมายและในความเข้าใจจากฝั่งเราเองบ้าง ผมเองก็จะลองทำเท่าที่ทำได้

ในช่วงท้ายของชั้นเรียน มีประเด็นที่น่าสนใจว่า คีตาจะมีความหมายต่อชีวิตผู้คนทั่วๆ ไป โดยไม่เกี่ยงว่าต้องนับถือพระกฤษณะหรือนับถือศาสนาอย่างไรบ้าง

พวกเราเห็นตรงกันว่า ที่จริงบทสนทนาระหว่างอรชุนและกฤษณะนั้นคือ “เสียงสนทนาภายใน” (inner dialogue) ที่เราเองกำลังพยายามฟัง “เสียงจากภายใน” (inner voice) ของเราเอง

หากเราเชื่อว่าเรามีความดีงามพื้นฐาน สิ่งนั้นจะเรียกว่า พระเจ้า พุทธะภาวะ ศรีกฤษณะหรืออะไรก็ตามแต่ภายในตัวเรา เมื่อถึงช่วงเวลาลังเลสับสน บางครั้งเราอาจต้องลองฟังดูว่าเสียงจากภายในนั้นกำลังบอกให้เรา “รบเถิดอรชุน” ซึ่งมีความหมายว่า เราสามารถก้าวข้ามความลังเลสับสนนี้ไปสู่สิ่งที่เรามุ่งมั่นตั้งใจได้อย่างแน่นอน

กฤษณะอาจเป็นการสำแดงตัวตนแท้ (trueself) ของอรชุนก็เป็นได้ การยอมรับตัวตนแท้นั้นไม่ได้เป็นสิ่งง่ายดาย เพราะมันจะต้องตัดผ่านความสับสนและตัวตนเดิมๆ ของเราไป ซึ่งเรารักและหวงแหนอย่างยิ่ง

นี่คือสงครามแห่งกุรุเกษตรที่แท้จริง ไม่ใช่สงครามภายนอก สงครามระหว่างความเชื่อมั่นในภาวะดีงามที่เรามีอยู่แล้วหรือเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกของเรา ที่กำลังต่อสู้ความลังเลสงสัยอันเกิดจาก “อัตตา” อัตตาที่เหนี่ยวนำให้เรามองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาแห่งผลประโยชน์ส่วนตน ด้วยสายตาที่มองสิ่งต่างๆ จากความคิดอันตายตัวที่เรากอดไว้ในฐานะเครื่องประดับตัวตน

 

แม้น้ำเสียงผมดูปลุกเร้า แต่ผมไม่ได้มีความตั้งใจเช่นนั้นนะครับ ผมคิดว่า ผมแค่สะท้อนสิ่งที่คีตาพูด แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วคุณจะต้องลองฟังเสียงภายในของตนเองดูว่ามันจะบอกสิ่งใด และเราตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเราเอง

รถม้าศึกของอรชุนอันมีกฤษณะเป็นสารถีนั้น ยังคงขับเคลื่อนมาจนถึงปัจจุบัน สงครามกุรุเกษตรยังไม่ได้สิ้นสุดลง

จนกว่าเราจะค้นพบเสียงอันแท้จริง

ในสมรภูมิแห่งใจของเรา