เพ็ญสุภา สุขคตะ “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้)” ทำไมต้องหล่อแยกชิ้นส่วน?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“แสนแซว่” หรือ “แสนแส้”?

คําว่า “พระเจ้าแสนแซว่” หรือบางครั้งพบว่าเขียนอีกอย่างเป็น “แสนแส้” ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ตาม ที่เราเคยเข้าใจกันนั้นกลายเป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียก “พระพักตร์ของพระพุทธรูปล้านนา” อายุประมาณ 500-600 ปีที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย 2-3 องค์ กับอีกหนึ่งองค์ใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

องค์ที่นำมาใช้เป็นภาพประกอบสององค์นี้ ที่เห็นด้านข้างได้มาจากวัดพระยืน ลำพูน กับองค์ด้านตรงไม่มีเม็ดพระศกทำด้วยนากผสมทองแดง ได้มาจาก “หอพระนาก” หรือจุดที่เป็นหอระฆังกังสดาลในวัดพระธาตุหริภุญชัยปัจจุบัน

โดยผู้รู้อธิบายว่า “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้)” หมายถึง พระพุทธรูปที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้เวลาหล่อต้องแยกทำทีละส่วน จากนั้นมีการใช้เดือยหรือหมุดเชื่อมหลายชิ้น ซึ่งภาษาล้านนา อะไรที่ต้องการสื่อถึงปริมาณมากๆ มักใช้หน่วยนับ ไม่ร้อย ก็หมื่น แสน ล้าน เข้าไปจับ ในกรณีนี้ใช้ “แสน”

ส่วนคำว่า “แซว่” กับ “แส้” ทำไมดิฉันต้องใส่วงเล็บ สองคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คุณอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการรุ่นใหม่ชาวเชียงราย ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาศึกษาได้ให้ความกระจ่างว่า

ทั้งสองคำนี้หมายถึงสิ่งที่ใช้เชื่อมชิ้นส่วนของพระพุทธรูปให้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งคู่ กรณีของ “หมุดแท่ง” (เช่น หมุดรูปนาฬิกาทราย เดือยหรือสลักรูปตัว I ทำด้วยเหล็ก) ภาษาล้านนาจะเรียกว่า “แซว่” ออกเสียง ว. เบาๆ ต่อท้าย

ส่วน “แส้” นั้นแปลตรงตัวว่า เส้นยาวๆ คล้ายแส้หางม้า แส้จามรี มีลักษณะเป็นแถบหรือเส้นตะเข็บ ใช้เชื่อมชิ้นส่วนพระพุทธรูปเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงใช้คำว่า “แซว่” กับ “แส้” ควบคู่กันไปทุกจุด

คำถามถัดมาคือ จำเป็นเสมอไปหรือไม่ที่พระเจ้าแสนแซว่ (แส้) ต้องใช้เรียกเฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหญ่?

 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ขนาด
หรือเทคนิคการหล่อ

เมื่อถามปราชญ์ล้านนาหลายท่านว่า ทำไมจึงต้องหล่อพระพุทธรูปแบบแยกส่วนหลายชิ้น ได้รับคำตอบว่า เป็นเพราะส่วนผสมของพระพุทธรูปล้านนานั้นเน้นหนักไปที่ทองเหลืองมากกว่าทองแดง ธรรมชาติของทองเหลืองค่อนข้างแข็งตัวเร็วมาก หล่อส่วนนี้ยังไม่ทันเสร็จส่วนนั้นก็แข็งตัวไปก่อนเสียแล้ว

ทำให้ช่างต้องแก้ปัญหาด้วยการหล่อแบบแยกชิ้นส่วน แล้วค่อยนำมาเชื่อมต่อประกอบให้เป็นเนื้อเดียวกันภายหลัง

หากเป็นเช่นนี้ ไฉนจึงมี “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้) ทองคำ” องค์จิ๋ว ที่วัดเจดีย์ซาวหลัง เมืองลำปางด้วยเล่า นอกจากจะมีขนาดเล็กมากแล้ว ยังไม่ได้ใช้เทคนิคการหล่ออีกด้วย แต่เป็นการรีดแผ่นทองคำหลายชิ้นให้บาง แล้วนำมาบุประกอบกันเป็นองค์พระแบบกลวงด้านใน

ถ้าเช่นนั้น คำว่า “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้)” ก็ไม่น่าจะจำกัดเฉพาะใช้เรียกกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่านั้นละสิ ในเมื่อองค์เล็กจิ๋วที่เป็นพระบุทองคำก็ยังเรียกว่า “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้)” ได้

เมื่อค้นหา “จุดเหมือนที่ร่วมกัน” ไม่ว่าพระพุทธรูปหล่อสำริด (ที่เน้นทองเหลือง) องค์ใหญ่ก็ดี หรือพระบุทองคำองค์จิ๋วก็ดี พบว่าทั้งสองประเภทมีอะไรที่เหมือนกันอยู่สิ่งหนึ่ง นั่นคือ “ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นพระพุทธรูปต่างก็แยกเป็น 9 ชิ้น” ดังนี้

1.พระพักตร์ด้านหน้า 2.พระเศียรด้านหลัง 3.พระเกตุมาลาและพระรัศมี (ภาษาล้านนาเรียก “จิกโมลี) บางองค์แยกพระรัศมี ส่วนพระเกตุมาลาหล่อรวมกับพระพักตร์ บางองค์แยกตั้งแต่พระเกตุมาลาเลย 4.พระวรกาย (ลำตัว) ด้านหน้า 5.พระวรกายด้านหลัง 6.พระพาหา (แขน) จนถึงพระกร (มือ) ด้านซ้าย 7.พระพาหาจนถึงพระกรด้านขวา 8.บั้นพระโสณิ (สะโพก) พระชงฆ์ (เข่า) ถึงพระบาทด้านหน้า 9.บั้นพระโสณิ พระชงฆ์ ถึงพระบาทด้านหลัง

นอกจากนี้แล้วยังพบว่า การหล่อแยกส่วน 9 ชิ้น แบบพระแสนแซว่ (แส้) นั้นยังปรากฏในพระพุทธรูปองค์สำคัญองค์อื่นๆ อีกมากมายในล้านนา ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะกันอยู่แล้ว

ดังเช่น พระเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก ก็ระบุชัดในตำนานประวัติว่ามีการหล่อแยกส่วน 9 ชิ้น

 

ถอดรหัสโลกุตรธรรม 9

ชิ้นส่วนทั้ง 9 นี้ เห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กับพระพุทธรูปอีกประเภทหนึ่งคือ “พระบัวเข็ม” ก็มีการฝังเข็มทั้งหมด 9 จุดเช่นเดียวกัน

ทั้ง 9 จุดที่ปักหมุดของพระบัวเข็มก็ดี หรือ 9 จุดที่ฝังแท่งเดือยเชื่อมองค์พระเจ้าแสนแซว่ (แส้) ก็ดี เป็นจุดที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันพอดี คำถามมีอยู่ว่าจุดต่างๆ เหล่านี้สะท้อนถึงอะไร

ไม่ใช่จุดจักระ 7 ฐานที่นักปฏิบัติธรรม (โดยเฉพาะสายธรรมกายของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ) รู้จักกันดี เพราะฐานทั้ง 7 นั้นจะเป็นแนวดิ่ง ตั้งแต่ 1.โพรงช่องจมูก 2.หน้าผากหว่างกลุ่มขนคิ้ว 3.ยอดกลางกระหม่อมศีรษะ 4.ปากช่องลำคอ 5.หทัยธาตุ 6.สะดือ 7.เหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้วมือ ศูนย์กลางกาย

ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานกันว่า รหัสของเลข 9 น่าจะหมายถึงธรรมอันเป็นมงคลขั้นสูงสุดหรือเปล่า นั่นคือ “โลกุตรธรรม 9 ประการ” ประกอบด้วย มรรค 4 (โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค) ผล 4 (โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล) และนิพพาน 1

รหัสดังกล่าวนี้ เป็นความเชื่อของพุทธเถรวาท (หินยาน) หรือมหายาน?

พุทธมหายานในล้านนา

หนังสือชื่อ “พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระนิกายวัชรยาน” เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ เสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของการรับอิทธิพลการหล่อพระพุทธรูปตามอย่างนิกายมหายานจากทิเบตเนปาล ผ่านเข้ามาทางพุกาม จนเข้าสู่ล้านนาไว้อย่างน่าคิด ดิฉันขอสรุปใจความของหนังสือที่ความหนาถึง 338 หน้า โดยย่อให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า

การหล่อแยก 9 ชิ้นของพระพุทธรูปล้านนาที่เรียกว่าพระเจ้าแสนแซว่ (แส้) ก็ดี การหล่อพระพุทธรูปทั้งองค์แต่แยกชิ้นส่วนเฉพาะพระเกตุโมลี (อุษณีษะ) ให้สามารถเปิดพระเศียรได้ก็ดี รวมถึงคติความเชื่อเรื่อง “พระเจ้ามีชีวิต” เช่น การหล่อองค์พระแบบกลวงเพื่อให้สามารถบรรจุเครื่องอวัยวะภายใน ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ใส่ในพระพุทธรูปด้วยนั้นก็ดี

ล้วนแล้วแต่เป็นแนวคิดที่ล้านนาได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาสายทิเบตเนปาล นิกายมหายาน หรือนิกายย่อยที่เรียกว่าวัชรยาน (ตันตระ) ทั้งสิ้น

วิถีพุทธล้านนามีความซับซ้อน ในภาพลักษณ์ที่ปรากฏตามประวัติการสถาปนาพระพุทธศาสนาในล้านนา พบว่าเป็นพุทธเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ที่ถูกส่งขึ้นมา 2 สาย สายแรกจากรามัญ (เมืองพัน เมาะตะมะ) ผ่านสุโขทัยคือนิกายสวนดอก กับอีกสายจากลังกาโดยตรงคือนิกายป่าแดง ก็ตามที

แต่ในทางงานช่างศิลปกรรม เวลาจะสร้างองค์พระปฏิมา ไม่ว่าจะสายสวนดอก ป่าแดง หรือแม้แต่นิกายเชื้อเก่าหริภุญไชยที่ตกค้างในล้านนา กลับมีกลิ่นอายแนวคิดการฝังคาถาศักดิ์สิทธิ์หรือบรรจุพระธาตุตามจุดต่างๆ ในองค์พระปฏิมาตามอย่างสายมหายาน ผสมผสานคลุกเคล้ากับลัทธิลังกาวงศ์อย่างแยบยล

หลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธในดินแดนล้านนากับทิเบตเนปาล มีให้เห็นในบันทึกหลักฐานที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ได้นำมาเสนออย่างละเอียด สรุปใจความว่า

ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 มีพระภิกษุชาวทิเบตชื่อ “ตารนาถ” (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2118-2177) ได้เดินทางระหว่างอินเดียมายังสุวรรณภูมิ โดยอาจารย์ของท่านชื่อว่า “พุทธคุปต์” ได้บุกเบิกมาก่อนแล้ว ท่านตารนาถได้อ้างถึงสิ่งที่ท่านพุทธคุปต์ได้กล่าวถึงเมืองหริภุญไชยว่า

ที่เมืองหริภัญจะ (Haribhanja) มีชุมชนสงฆ์ขนาดใหญ่ มีการสั่งสอนพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง ท่านพุทธคุปต์มีโอกาสได้ยินได้ฟังตำราจากชั้นเรียนพระสูตรและพระธรรมของมันตระที่ลึกลับจากบัณฑิตธัมมากัษโฆษแห่งเจดีย์หลวงในวัดพระธาตุหริภัญจะ ทำนองเดียวกับการสวดมนต์ของฆราวาสบัณฑิตปรเหตนันทโฆษะในดินแดนบัลคุ ทั้งสองท่านเป็นลูกศิษย์ของมหาสิทธะศาสนติปาทะ

ข้อความตอนบนอาจฟังดูยาก สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ บันทึกนี้กล่าวถึงนักบวชนิกายตันตระมหายาน 2 รูป รูปแรกชื่อธัมมากัษโฆษ อยู่ที่นครหริภุญไชย (ยุคนั้นอาณาจักรหริภุญไชยของราชวงศ์จามเทวีล่มสลายแล้ว ลำพูนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ห้วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงพระเมืองแก้ว)

กับอีกท่านคือ ฆราวาสบัณฑิตปรเหตนันทโฆษะในดินแดนบัลคุ (จนทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่า “บัลคุ” นั้นอยู่ที่ไหน หมายถึงเมืองอะไร) ทั้งสองต่างก็เป็นศิษย์สำนักเดียวกันโดยมีอาจารย์ชื่อ “มหาสิทธะศาสนติปาทะ” ผู้เป็นนักบวชนิกายวัชรยาน

ในขณะที่เชียงใหม่มีนิกายสวนดอกกับป่าแดง แต่ที่ลำพูนในวัดพระธาตุหริภุญไชย (หรืออาจแค่เฉพาะคณะเชียงยันคณะเดียวในวัดนี้ก็เป็นได้) กลับมีพระธัมมากัษโฆษผู้นำ “การสวดพระสูตรและพระธรรมของมันตระที่ลึกลับ” ปรากฏอยู่

 

พระเจ้าแสนแซว่ (แส้) มีในสุโขทัยหรือไม่

มาสู่ปริศนาสุดท้ายที่ว่า “พระเจ้าแสนแซว่ (แส้)” เป็นลักษณะเฉพาะของพุทธศิลป์ล้านนาเท่านั้นหรือ?

จากการศึกษาเรื่องนี้พบคำตอบว่า “ไม่ใช่” เหตุที่เราได้พบพระพุทธรูปทองคำสมัยสุโขทัยอย่างน้อย 3 องค์ที่มีการหล่อแบบแยกส่วน 9 ชิ้น

องค์แรกคือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือพระสุโขทัยไตรมิตร แห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม องค์ที่สองคือ “พระร่วงทองคำ” ที่วัดมหรรณพาราม ใกล้สี่แยกคอกวัว และอีกองค์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ฝั่งธนบุรี

ทั้งสามองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยแบบกลุ่มพระพักตร์เรียวยาวคล้ายอยุธยา ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กำหนดอายุว่าแม้จะทำขึ้นในกรุงสุโขทัย แต่ก็เป็นศิลปะสุโขทัยที่ร่วมสมัยและรับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว คืออยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20

น่าสงสัยว่า โดยปกติพระพุทธรูปสุโขทัย ช่างสามารถพัฒนาฝีมือการหล่อได้ผิวบางแบบเปลือกไข่ไม่หนาเทอะทะ ซ้ำมักหล่อให้จบในพิมพ์เดียวแถมได้เนื้อเนียน โดยไม่จำเป็นต้องหล่อแยกพิมพ์ เหตุไฉนพระพุทธรูปสามองค์นี้จึงหล่อแบบแยก 9 ชิ้น เหมือนพระเจ้าแสนแซว่ (แส้) ของทางล้านนา

โดยเฉพาะภาพประกอบที่นำมาแสดงนี้ เป็นพระร่วงทองคำวัดมหรรณพ์ ใช้ “แส้” เป็นเส้นตะเข็บยาวๆ เชื่อมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเด่นชัด

หรือเป็นเพราะการใช้วัสดุ “ทองคำ” อันมีราคาแพงเป็นวัสดุหลัก จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการเทพิมพ์ หากช่างไม่แม่นยำพอ อาจประสบปัญหาเดียวกันกับการหล่อทองเหลืองของทางล้านนา กล่าวคือ กรณีที่องค์พระปฏิมาใหญ่มากๆ วัสดุที่ใช้หล่อบางส่วนย่อมแข็งตัวเร็ว บางส่วนแข็งตัวช้า เมื่อถอดพิมพ์มาแล้วเนื้อองค์พระจะไม่สม่ำเสมอ

หรือจะมองว่า กลุ่มพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยสามองค์นี้ ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสายมหายานนิกายวัชรยานมาด้วยอีกเช่นกัน เรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษาเจาะลึก

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2