ในประเทศ : อะนา “ล็อก” คอ สื่อ

มติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ด้วยมติ 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม

แถมไม่ยินยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษเพื่อปรับปรุงเนื้อหา ด้วยมติ 88 ต่อ 67 งดออกเสียง 8

แต่ให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน พิจารณาปรับปรุง แล้วส่งให้ประธาน สปท. เพื่อส่งให้ ครม. ออกเป็นกฎหมายต่อไป

สะท้อนให้เห็นว่า 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ประสงค์ที่จะให้มีกฎหมายควบคุมสื่อขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง

เป็นไปตามความประสงค์ของ “แป๊ะ” เจ้าของเรือที่แสดงเจตจำนงมาตั้งแต่รัฐประหาร

รัฐประหารที่ชื่นชอบแนวทาง “อำนาจนิยม” อันเป็นยุคเก่าแบบอะนาล็อก ไม่นำสมัยดังยุคดิจิตอล

การย้อนยุคนี้เอง นำไปสู่เสียงคัดค้านจากสื่อมวลชนอย่างหนัก

เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้สื่อมวลชนมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่ออกโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ ใครขัดขืนมีโทษปรับและโทษจำคุก 3 ปี

ขณะที่สภาวิชาชีพฯ ถูกกำหนดให้มีคณะกรรมการ 15 คน โดยมีโควต้าที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ 2 คน

ที่อาจจะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายรัฐเข้ามาแทรกแซง

และทำให้การตรวจสอบภาครัฐเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ เพราะมีตัวแทนของรัฐอยู่

องค์กรสื่อ 30 องค์กรจึงร่วมกันต่อต้านอย่างหนัก

จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายรัฐ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทำให้ พล.อ.อ.คณิต ต้องพยายามลดความขัดแย้ง

โดยขอพบกันตรงกลาง ด้วยการตัดเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ไปเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับ

แต่ยังยืนยันให้มีตัวแทนคณะกรรมการจากภาครัฐ 2 คน

และหลังจากใช้เวลาอภิปรายกันกว่า 8 ชั่วโมง ที่สุด ที่ประชุมก็มีมติ 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17 ให้มีการออกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ

มติอันท่วมท้นดังกล่าว ตอกย้ำว่า สปท. มีธงมาตั้งแต่ต้นแล้ว ที่จะต้องมีกฎหมายออกมาคุมสื่ออีกฉบับ

ทั้งที่ปัจจุบันสื่อถูกควบคุมทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ทั้งกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและเด็ก เป็นต้น รวมทั้งยังสามารถถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย

การมีกฎหมายอีกฉบับ เท่ากับเป็นการเพิ่มโซ่ล่ามอีกเส้น

ด้วยเหตุนี้การเดินหน้าของ สปท. ภายใต้ข้ออ้างว่า “พบกันครึ่งทาง”

ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผล คือ

1. นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

มีความหมายกว้างขวางมาก

กินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป

โดยครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท

เฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้

ส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 34 และ 35

2. ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท. ที่ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน

ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส

3. การจัดทำกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

จะต้องมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ

 

และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน

และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ”

นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อมวลชน

ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจ

หรือการกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพ

ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อมวลชน

และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน

เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมาก

ขณะที่บีบีซีระบุว่า องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศสีแดง ซึ่งสื่อตกอยู่ใน “สถานะที่ยากลำบาก”

เช่นเดียวกับประเทศจีน รัสเซีย อัฟกานิสถาน อิรัก ตุรกี ปากีสถาน เม็กซิโก และกลุ่มประเทศในแอฟริกา

ขณะที่ในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดงทั้งหมด ยกเว้นเวียดนาม ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่สื่อตกอยู่ในสถานะที่มีความตึงเครียดสูง

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าสื่อไทย “ถูกปิดปากด้วยคำว่าความสงบเรียบร้อย” โดยในยุคที่ประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช.

สื่อมวลชน และสื่อภาคพลเมือง ถูกตรวจตราโดยรัฐ ถูกเรียกตัวไปสอบถาม ถูกควบคุมตัวโดยพลการ ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช. จะถูกตอบโต้ด้วยมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องและเซ็นเซอร์สื่อ

เช่นเดียวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือในการป้องปรามสื่อมวลชน บล๊อกเกอร์ และนักกิจกรรม

หากมีร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อีกฉบับ อันดับสื่อของไทยคงร่วงลงไปอีก

องค์กรสื่อ นำโดย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้แสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีรับฟัง

โดยระบุว่า กฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีก

จึงมอบให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปรับฟังความคิดเห็น

ผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลจะพิจารณาอีกครั้ง

และยังมีขั้นตอนให้ สนช. พิจารณาอีก 3 วาระ

จึงไม่อยากให้ทุกคนมาทะเลาะเบาะแว้งกันในเวลานี้

“ผมยึดหลักการว่ารัฐบาลไม่ต้องการไปปิดสื่อหรือก้าวล่วงต่างๆ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนการทำงานของสื่อ สื่อก็มีหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม การประนีประนอมดังกล่าว เกิดขึ้นขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลเผชิญวิกฤตศรัทธามากขึ้น

ดังนั้น การที่ปล่อยให้ “สื่อมวลชน” ผละออกไปยืนเป็นฝ่ายตรงข้าม

เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

เพราะจะทำให้เสียแนวร่วมสำคัญไป จำเป็นต้องรอมชอม และยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

แต่ถึงขนาดจะให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ออกไปตามการเรียกร้องของ 30 องค์กรสื่อ คงเป็นเรื่องยาก

ต้องไม่ลืมว่า มติ 141 เสียงให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ นี้ถือเป็นทิศทางอันชัดเจนของแม่น้ำ 5 สาย ที่จะต้อง “ควบคุมสื่อ”

ควบคุมเหมือนที่สามารถผลักดัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมาจนสำเร็จ

เมื่อสื่อ “ออนไลน์” ถูกจัดระเบียบไปส่วนหนึ่งแล้ว สื่อมวลชนอื่นก็ต้องถูกจัดระเบียบด้วยตามแนวทาง “ปฏิรูป” ก่อน “เลือกตั้ง”

แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะถูกกล่าวหาสวนกระแส

ด้วยการดัน “อะนาล็อก” เหนือ “ดิจิตอล” นั่นก็คือ ต้องการ “ควบคุม” และ “จัดระเบียบ” สื่อให้เป็นเด็กดีของรัฐบาล

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคนในรัฐบาล จะมีคำว่าประเทศไทย ยุค 4.0 ติดปาก

แต่ก็ยังชื่นชอบแนวทาง “อะนาล็อก”

ที่เน้นการกำกับดูแล “สื่อ” โดยใกล้ชิด โดยเฉพาะในยามที่จะต้องมีการแข่งขันในสนามเลือกตั้งอย่างเข้มข้น

ดังนั้น แม้จะมีคำยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังสื่อ และยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ

แต่ “สื่อมวลชน” คงไว้วางใจอะไรไม่ได้

เพราะเผลอเมื่อไหร่ เจอ อะนา “ล็อก” คอ สื่อ เมื่อนั้น