จรัญ มะลูลีม : ศาสนาในตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) ตอน 1 “เอกเทวนิยมก่อนพระคริสต์”

จรัญ มะลูลีม

ดินแดนตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกสมัยอดีตนั้นเป็นทั้งอู่แห่งอารยธรรมและแหล่งกำเนิดศาสนาสำคัญของโลกถึงสามศาสนาคือ ศาสนายิว (จูดาห์) คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม

ศาสนาในสมัยโบราณนั้นแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ระบบความเชื่อทางศาสนาแรกเริ่มที่สุดนั้นคือบูชาเทพเจ้าหลายองค์ รวมทั้งพลังทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งมีผลต่อชีวิตมนุษย์

ในอียิปต์โบราณ เทพเจ้าถูกแบ่งออกเป็นลำดับ เช่นเร (Re) คืออาทิตย์เทพ เป็นเทพเจ้าสูงสุด โอสิริส (Osiris) เทพเจ้าแห่งคนตาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดเทพเจ้า ไอซิส (Isis) ภริยาของเทพเจ้าโอสิริสเป็นราชินีของเทพเจ้าทั้งหลาย ฮอรัส โอรสของเทพเจ้าเรและเทพโอสิริสถูกถือว่าจุติมาอยู่ในร่างของกษัตริย์อียิปต์

เทพเจ้าต่างๆ ได้รับการสักการบูชาในโบสถ์ที่บรรจุภาพของเทพเจ้าในรูปแบบของมนุษย์หรือสัตว์ โดยพิธีกรรมที่พวกพระเป็นผู้ประกอบ ความเชื่อในชีวิตหลังความตายนำไปสู่การสร้างที่ฝังศพใหญ่ๆ โตๆ ของบรรดากษัตริย์และคนใหญ่คนโต

ศพถูกรักษาไว้ในรูปแบบของมัมมี่ ถูกล้อมรอบด้วยสมบัติต่างๆ สำหรับใช้ในโลกหน้า นอกจากศาสนาประจำรัฐแล้วยังมีความเชื่อของประชาชนซึ่งถือว่าอำนาจทางไสยศาสตร์สามารถมีผลต่อระบบธรรมชาติได้

ในซีเรียและปาเลสไตน์ยังไม่มีระบบการเมืองที่มั่นคง ซึ่งสามารถจะให้ความเป็นเอกภาพต่อการรวมเทพเจ้าประจำถิ่นได้ ฉะนั้นแต่ละเมืองจึงมีเทพเจ้าของตนเอง แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ระหว่างเทพเจ้าเหล่านั้นบ้าง

เทพเจ้าบางองค์ถูกถือว่ามีความสำคัญมากกว่าองค์อื่นๆ เช่น เอล (EI) เป็นผู้สร้างสากลจักรวาล บาอัล-ฮะดาด (Baal-Hadad) เป็นเทพเจ้าแห่งพายุ ดากัน (Dagan) เป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

พิธีกรรมในการสักการบูชามีการบวงสรวงสัตว์ในโบสถ์ แต่ก็มีสักการสถานตามชนบท น้ำพุศักดิ์สิทธิ์หรือก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือว่าเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าด้วย

ศาสนาท้องถิ่นที่รู้จักกันดีคือศาสนาของพวกคะนาอันซึ่งผู้สืบเชื้อสายได้ถือต่อๆ กันมาในหมู่ชาวโฟนิเซีย (Phoenician) ไปยังแอฟริกาเหนือในอาระเบียโบราณ เท่าที่ทราบความเชื่อก็มิได้แตกต่างไปจากที่ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนัก

ในเยเมน ทางแถบตะวันตกเฉียงใต้มีเทพเจ้าเป็นหมู่ หมู่ละสามองค์ มีเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ซึ่งมีฐานะสูงส่งที่สุด ได้รับการสักการบูชาจากพระในโบสถ์วิหาร ไกลออกไปทางเหนือมากขึ้น การบูชาเทพเจ้าเอลและเทพเจ้าอื่นๆ กระทำกันในสักการสถานโดยมีการบวงสรวงและการแสวงบุญด้วย

ในเมโสโปเตเมียจากสมัยของชาวสุเมอเรียเรื่อยมามีลำดับเทพเจ้าซึ่งแสดงถึงพลังอำนาจของธรรมชาติ เช่น แอน (An) เป็นเทพเจ้าแห่งสวรรค์ เอนลิล (Enlil) เป็นเทพเจ้าหัวหน้าแห่งที่อยู่ของเทพเจ้าและอื่นๆ

แต่ละเมืองจะได้รับการอุปถัมภ์จากเทพเจ้าใหญ่ ซึ่งได้รับการสักการบูชาในโบสถ์ขนาดใหญ่ มีการทำนายถึงความประสงค์ของเทพเจ้าด้วยการตรวจดูไส้ของสัตว์และศึกษาถึงความเคลื่อนไหวและการประกอบกันของเทหวัตถุต่างๆ ในฟากฟ้า

ในอิหร่านก็เช่นเดียวกัน ผู้สอนและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาคือพวกพระหรือมากี (Magi) เทพเจ้าต่างๆ มีลำดับความสำคัญต่างๆ กันไป

 

ศาสนาจูดาห์ (Judaism)
และมาซดา (Mazda) (โซโรแอสเตอร์)

ในระหว่างพันปีแรกก่อน ค.ศ. ในที่มากกว่าหนึ่งแห่งของอาณาบริเวณนี้ การบูชาเทพเจ้าหลายองค์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของการบูชาเทพเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว

ในปาเลสไตน์ ชนชาติหนึ่งซึ่งอยู่ที่นั่นคือชาวยิวหรือฮิบรูได้บูชาพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งเรียกว่ายะฮ์เวฮ์ (Yahweh) พระผู้สร้างสากลจักรวาล ซึ่งได้แสดงความจำนงของพระองค์ผ่านมาทางศาสดาโมเสส (มูซาในอิสลาม)

พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าบรรจุอยู่ในพระคัมภีร์ที่มีชื่อว่าโตราห์ (เตาเราะฮ์ในอิสลาม) สักการสถานสำคัญของพวกเขาคือโบสถ์ในกรุงเยรูซาเลม แต่ต่อมาในระยะพันปีนี้เองได้มีกลุ่มหนึ่งแยกออกไปและสักการบูชาอย่างอื่น พวกนี้คือชาวสะมาริตัน (Samaritan)

จูดาห์ (Judaism) เป็นศาสนาแรกที่ถือว่าพระผู้เป็นเจ้ามีพระองค์เดียว เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้สร้างโลกและทรงประทานความดีงามและยุติธรรม

คัมภีร์ของชาวยิวเหล่านี้เรียกว่าคัมภีร์โตราห์ (Torah) รู้จักกันในนามคัมภีร์เก่า (Old Testament) (คัมภีร์เก่าของศาสนาจูดาห์และคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์มีอยู่ 39 ตอน ส่วนของโรมัน คาทอลิกและออร์ธอดอกซ์ มีเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย) ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานลงมาให้แก่ศาสดาโมเสสบนภูเขาซีนาย โดยจารึกอยู่บนแผ่นศิลาสองแผ่นซึ่งบัดนี้เก็บไว้ในวิหารที่กรุงเยรูซาเลม

ศาสดาโมเสสเป็นผู้นำชาวยิวที่มีชื่อเสียงและชาวยิวที่เป็นทาสของชาวอียิปต์หนีจากฟาโรห์องค์หนึ่งคือ กษัตริย์ราเมเสสที่ 2 (The New Universal Library Encyclopedia, Vol 18 London : The Caxton Publishing Co., 1967, pp.39-41) ข้ามทะเลไปเพื่อก่อตั้งประเทศใหม่ในดินแดนปาเลสไตน์

แต่ศาสดาโมเสสเองสิ้นชีวิตก่อนเข้าตั้งภูมิลำเนาในปาเลสไตน์

หลังจากศาสดาโมเสสสิ้นชีวิตก็ได้มีคำสอนของบรรดาผู้นำและครูบาอาจารย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นคำสอนที่ใช้กันต่อๆ มาจนทุกวันนี้

ตามหลักการของศาสนาจูดาห์นั้น พระผู้เป็นเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว มนุษย์คือพี่น้องกัน มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิอย่างเดียวกันและมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสวรรค์ในโลกหน้าโดยการใช้ชีวิตในโลกนี้อย่างเที่ยงธรรมและมีเมตตาธรรม

ศาสนาจูดาห์เชื่อในโลกหน้า

ในอิหร่านก็เช่นเดียวกัน ได้มีการบูชาพระเจ้าองค์เดียวเกิดขึ้น คืออะฮูรามาซดา (Ahura Mazda) หรือ “พระผู้ทรงพระปรีชา” ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแล “ดวงจิตบริสุทธิ์กับดวงจิตชั่วร้าย” ไว้ พระ(มากี) เป็นผู้กระทำพิธีกรรมสักการบูชา มีคัมภีร์หลายเล่ม เล่มหนึ่งคือคัมภีร์อเวสตา (Avesta) ปัจจุบันนี้เรียกศาสนานี้ว่าโซโรแอสเตอร์ ตามชื่อครูผู้สอนคนหนึ่งคือโซโรแอสตรา เริ่มเผยแผ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 6

ในระยะพันปีนี้เอง ส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนากรีก เนื่องจากชัยชนะของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชและการสร้างเมืองต่างๆ ของกรีก จึงได้มีการผสมผสานเทพเจ้าของกรีกเข้ากับเทพเจ้าของท้องถิ่น

โดยเฉพาะในอิหร่านการนับถือเทพเจ้าโบราณกับคำสอนทางศาสนาโซโรแอสเตอร์ได้มีการผสมผสานกันชั่วคราว ท่ามกลางบรรดาผู้ที่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมกรีกก็ได้มีการแพร่ขยายความคิดทางศาสนาของนักปราชญ์ต่างๆ ออกไป

 

คริสต์ศาสนาเกิด

หลังจากโลกแถบเมดิเตอร์เรเนียนมารวมกันในจักรวรรดิโรมันแล้วก็ได้มีแนวโน้มสู่การนับถือพระเจ้าองค์เดียวในรูปของคริสต์ศาสนา ศาสนานี้ได้รับการรับมาเป็นศาสนาทางการของจักรวรรดินี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 4

ศาสนาโบราณก็ค่อยๆ หายไป แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงอยู่ในรูปแบบต่างๆ โบสถ์คริสเตียนถูกสร้างขึ้นในท่ามกลางโบสถ์อียิปต์ คริสต์ศาสนากลายเป็นพลังแบ่งแยกด้วยและเป็นพลังรวมด้วย

มีพระคัมภีร์เพิ่มเติมจากคัมภีร์ของยิว (ซึ่งเรียกว่าพระคัมภีร์เก่า เรียกคัมภีร์ไบเบิลว่าคัมภีร์ใหม่) ซึ่งบันทึกชีวิตและคำสอนของศาสดาเยซูคริสต์และบรรดาสาวกของท่านไว้

ความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องลักษณะของเยซูคริสต์ซึ่งเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ซึ่งรวมกันอย่างสมบูรณ์อยู่ในคนคนเดียว สาวกที่มีความเชื่อเช่นนี้เรียกกันในประเทศต่างๆ ของตะวันออกกลางว่าพวกเมลก์ (Melkite) มาจากคำว่า “กษัตริย์ในภาษาเซมิติกกลุ่มต่างๆ

ส่วนพวกเนสตอเรีย (Nestorian) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกจักรวรรดิโรมันนั้นถือว่าพระเจ้ามีพระองค์เดียวซึ่งประกอบด้วยสองลักษณะ