มนัส สัตยารักษ์ | เพนกวิน 2558

ภาพของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ในปี 2558 เป็นภาพเด็กนักเรียนชั้นมัธยมที่น่ารักมาก ภาพของเขาในหน้า น.ส.พ.บางกอกโพสต์ จากเหตุการณ์ “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ประจำปี 2558” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานกิจกรรม Active Citizen ภายใต้แนวคิดปลุกสำนึกไทยป้องกันคอร์รัปชั่น

เป็นภาพเพนกวินในชุดนักเรียนเตรียมอุดมฯ กางเกงขาสั้นสีดำ กำลังถูก “เจ้าหน้าที่” ฉุดหิ้วตัวออกจากที่ประชุมของการกล่าวปาฐกถา

ผมสนใจปัญหาคอร์รัปชั่น ด้วยความเชื่อว่า คอร์รัปชั่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไม่ก้าวหน้าและสังคมเสื่อมทราม

แม้จะไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับการจัดกิจกรรม “Active Citizen ภายใต้แนวคิดปลุกสำนึกไทยป้องกันคอร์รัปชั่น” ครั้งนี้

แต่อดประหลาดใจไม่ได้ว่าทำไมคณะกรรมการผู้จัดงานถึงต้องเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ

และถึงกับตกใจเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์จบปาฐกถา ได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังสอบถามข้อสงสัย เพนกวินยกมือพร้อมกับชูป้ายจะถาม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่หิ้วปีกออกจากห้องประชุม

ในปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์คือนายกรัฐมนตรีผู้มาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้านั้นเป็น ผบ.ทบ. และอยู่ในทีม “3 ป.” ที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ เครื่องตรวจระเบิด GT 200 หรือไม้ล้างป่าช้า และเรือเหาะตรวจการณ์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “เรือเหาะปลดประจำการ”

เฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ มีข่าวหลานตัวเองเอาบ้านหลวงไปจดทะเบียนบริษัท เพื่อประมูลงานราชการ ถูกตีความว่าไม่ผิดกฎหมาย ตามมาด้วยปัญหาอื้อฉาวเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของรุ่นพี่ จนประเทศไทยได้เอกลักษณ์ “วัฒนธรรมลอยนวล” จากสื่อต่างประเทศแพร่ไปทั่วโลก

แม้เฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่มีข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นโดยตรง แต่ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการชี้พฤติกรรมทุจริตว่า “ไม่ผิดกฎหมาย” ตกเป็นที่ถากถางของสื่อมวลชนว่า “พูดอย่างทำอย่าง” จนหมดเครดิตทางด้านนี้

พล.อ.ประยุทธ์ไม่เพียงแต่ “ไม่เหมาะสม” ที่จะไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การต่อต้านคอร์รัปชั่น” เท่านั้น แต่ไม่ควรจะเฉียดกรายไปแถวโรงแรมเซนทาราแกรนด์ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 เลยด้วยซ้ำ

เพนกวินในปี 2558 อายุเพียง 17 ปี แม้จะยังนุ่งกางเกงขาสั้น แต่ก็เป็นกางเกงขาสั้นสีดำของนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ความเป็นนักเรียนเตรียมอุดมฯ บวกกับบทบาทของ “เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย” ผู้ที่จะปะทะสังสรรค์ควรรู้ว่าเขาไม่ใช่เด็กนักเรียนมัธยมปลายธรรมดา

เพนกวินพบเห็น “ภาพการเมือง” มาตั้งแต่เด็ก อายุแค่ 7-8 ขวบก็ได้เห็น “ภาพการเมือง” เห็นม็อบเสื้อเหลืองเดินผ่านหน้าโรงเรียน เห็นทหารออกมาและมีรัฐประหาร ถัดจากนั้นมีม็อบเสื้อแดง และในช่วงที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลาย เขาได้เห็นการชุมนุมของ กปปส. นอกจากเห็นภาพแล้ว เท่ากับเพนกวินได้รับ “บรรยากาศของการเมือง” อีกด้วย

คนที่มีมันสมองส่วนใดส่วนหนึ่งโตหรือมีคุณภาพกว่าปกติ ย่อมจะคิดอะไรที่ใหญ่และล้ำหน้ากว่าปกติเสมอ เชื่อว่าเพนกวินในวัย 17 ก็อยู่ในฐานะนี้ใน “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ 2558”

พอ พล.อ.ประยุทธ์ให้โอกาสผู้ฟังปาฐกถา เพนกวินถือป้ายเดินไปหน้าเวที เรียกร้องให้ลดการเรียนการสอนเรื่องหน้าที่พลเมืองลง และขอให้เพิ่มการสอนวิชาปรัชญาแนวคิด รวมถึงเสนอให้สอนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ไม่เน้นชาตินิยม

เจ้าหน้าที่ (ไม่ทราบว่าของคณะกรรมการจัดงานหรือของนายกรัฐมนตรี) ได้หิ้วปีกเพนกวินออกจากที่ประชุม

น.ส.พ.บางกอกโพสต์ถ่ายภาพช่วงนี้และตีพิมพ์ประกอบข่าวในวันรุ่งขึ้น ในภาพเห็นเพนกวินถือป้าย อ่านข้อความบางตอนได้ชัดเจน

“ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม ดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง…จากใจนักเรียนถึงลุงตู่”

ในฐานะที่เคยต่อต้าน “การท่องจำ” มาก่อนถึงขนาดตัดสินใจยอมสอบตกในบางวิชาที่ต้องใช้วิธีท่องจำ แต่ผมก็ไม่กล้าหาญเท่าเพนกวินที่แสดงการต่อต้านอย่างเผชิญหน้า จึงรู้สึกชื่นชมเพนกวินในวัยรุ่นอย่างมาก

ในป้ายที่เขาถือโชว์ในห้องประชุมไม่มีข้อความใด “คุกคาม” หรือก้าวร้าวนายกรัฐมนตรี และเชื่อได้ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่หิ้วปีกใครออกไปจากที่ประชุม น่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่อยากแสดงความรับผิดชอบให้เป็นที่ประจักษ์ หรือต้องการเชลียร์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลที่ได้คงจะเป็นที่พึงพอใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จนกลายเป็นบุคลิกประจำตัวที่ใครคุกคามไม่ได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การหิ้วปีกกีดกันและควบคุมเพนกวินไว้ไม่ให้เขาพูดในเดือนกันยายน ปี 2558 ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่อาจจะคิดว่าเหมือนกับได้จับยักษ์กลับลงขวดอย่างในนิทาน

แต่ผลที่แท้จริงกลับตรงกันข้าม กลายเป็นว่าได้เพิ่มพลังความคิดและเพิ่มความร้อนแรงให้แก่เพนกวินเหมือนยักษ์ที่ถูกปล่อยออกจากขวดในวาระต่างๆ รวมทั้งในวาระของม็อบเดือนสิงหาคม 2563

ทุกม็อบในเดือนสิงหาคม 2563 ทำให้หวนระลึกถึงบรรยากาศในเดือนตุลาคม 2516 เห็นชัดถึงความแตกต่างกันระหว่างปี 2516 กับปี 2563 ตรงที่ “เป้าหมายหลัก” ที่ไม่สับสนกับสับสน ทั้งๆ ที่จำนวนคนในม็อบปี 2516 มากกว่า ใช้เวลาชุมนุมนานและต่อเนื่องกว่า รวมทั้งต้องออกแรงมากกว่า จนต้องหนีเข้าไปอาศัยพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว

ม็อบในปี 2516 แม้จะกระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมของประเทศ การสื่อสารยังเป็นแบบอะนาล็อก แต่ความคิดและเป้าหมายหลักไม่กระจัดกระจายแต่อย่างใด

ต่างกับม็อบในปี 2563 แม้จะอยู่ด้วยกันหรือใกล้กัน แต่ความคิดและเป้าหมายแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน เยาวชนปลดแอก นักศึกษา ประชาชน นักการเมืองอาชีพ พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ถอดด้าม ต่างมีความคิดและวิธีการของตนเอง แม้จะมีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “อาชีวะ” ออกมาขู่เพื่อสร้างความแตกแยกให้เหมือนในปี 2519 ก็ต้องสลายตัวไปในที่สุด

จรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่จนจบการชุมนุมและร่วมร้องเพลง do you hear the people sing โพสต์ข้อความชื่นชมที่ทุกคนกล้าหาญ ดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมา ดูจากคำพูดทุกคนเป็นนักอ่านทั้งนั้น การอ่านทรงอานุภาพจริงๆ

ข้อสรุปของจรัญทำให้หวนนึกถึงคำให้สัมภาษณ์ของเพนกวินที่พูดคุยกับนักเขียนคอลัมน์คนหนึ่งในปี 2558 ผมค่อนข้างทึ่งที่เขาพูดได้ดี น่ารับฟัง และน่าเชื่อถือกว่า ส.ส.ในสภา

การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งการให้ตำรวจจับกุมใคร และล่าสุดกล่าวโยนบาปให้นักศึกษาที่ชุมนุมว่าเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังพัง คำพูดทำนองนี้น่าเชื่อถือเพียงใด? นายกรัฐมนตรีควรสรรหาคำพูดที่ฉลาดทัดเทียมกับเยาวชนบ้าง

ที่สำคัญ ต้องให้คนรอบข้างและ “เจ้าหน้าที่” อย่าสร้างกระแสหรือตกเป็นเหยื่อของกระแส และต้องอ่านหนังสือให้มากกว่านี้สักหน่อย