วันนี้คนเสื้อแดงรู้สึกอย่างไร? ธิดา ถาวรเศรษฐ มีคำตอบ พร้อมมองปรากฏการณ์ “ม็อบคนรุ่นใหม่”

ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. มองปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนิสิต-นักศึกษาที่เริ่มมีการพูดถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดง รวมถึงบางส่วนมีป้ายขอโทษคนเสื้อแดงปรากฏอยู่ในม็อบ ว่า “เมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้ลงสู่ปฏิบัติการจริงบนท้องถนน เขาก็เข้าใจชัดเจนทันทีเลยว่า สิ่งที่คนเสื้อแดงในอดีตได้ต่อสู้มานั้น ก็คือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เขาสู้อยู่ ในทุกวันนี้ ทำให้ภาพในด้านบวกมันชัดเจนขึ้น”

“ขณะที่อาจเคยเป็นภาพจำของคนอีกฝั่งที่กล่าวหาคนเสื้อแดง เช่น การใช้ Hate Speech และพยายามที่จะดิสเครดิต โดยฟากอนุรักษนิยม จารีตนิยม ว่า คนเสื้อแดงทำเพื่อคนคนเดียว อย่างที่ผู้ที่เป็นถึงระดับรองโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ออกมาพูดว่าสู้เพื่อคนคนเดียว หรือหมายถึงการสู้เพื่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่ทำให้ถูกมองว่าสู้เพื่อพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่าการต่อสู้เชิงอุดมการณ์นั้นมันถูกกลบด้วยวาทกรรมของความเกลียดชังซึ่งมุ่งหวังจะดิสเครดิตคนเสื้อแดง”

“กลายเป็นว่าเรื่องของบุคคลกับเรื่องของอุดมการณ์มารวมกันโดยไปเอาเรื่องของบุคคลมาเป็นหลัก โดยไม่ได้คิดว่าเขาต่อสู้มานานกว่า 10 ปี คุณทักษิณเองก็ไม่ได้อยู่ในประเทศมากกว่า 10 ปี มันจะกลายเป็นไปสู้เพื่อบุคคลได้อย่างไร มันต้องเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์”

“เมื่อมาถึงในเวลานี้เยาวชนในปัจจุบันเขาก็เริ่มเข้าใจแล้ว เขา realize ชัดเจนแล้วว่า อุดมการณ์ของคนเสื้อแดง กับอุดมการณ์ของเยาวชน ที่แท้แล้วก็คือเรื่องเดียวกัน มันก็คือถนนของการต่อสู้สายเดียวกัน”

“ที่ผ่านมาปัญญาชนส่วนหนึ่งมักจะนับเหตุการณ์ 2475 แล้วก็ตามมาด้วย 14 ตุลาคม เหตุการณ์ 6 ตุลาคม แล้วกระโดดมาพฤษภาคม 2535 แล้วพวกเขากระโดดข้ามเหตุการณ์ของคนเสื้อแดงไป เพราะว่าปัญญาชนจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปัญญาชนซึ่งผลิตวาทกรรมว่าคนเสื้อแดงทำเพื่อคนคนเดียว คือสิ่งที่เราเห็น”

“กลายเป็นว่าปัญญาชนจำนวนมากออกหน้าไปสนับสนุนการรัฐประหาร สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม ตรงนี้เองคือทศวรรษที่สูญหาย สำหรับปัญญาชนไทย คือแทนที่ต้องชูธงการต่อสู้ให้ได้มาเพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่กลับไปชูธงสนับสนุนรัฐประหาร แล้วมวลชนกับปัญญาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย กลายเป็นเสียงเบากว่าในช่วงนั้น การออกมาต่อต้านรัฐประหาร ก็ถูกเหยียบย่ำ อุดมการณ์ต่อต้านการยึดอำนาจกลายเป็นว่าถูกเหยียบย่ำ ไม่ให้ค่า ดิสเครดิตเหมาว่าทำเพื่อคนคนเดียว”

“ปัจจุบันนี้เยาวชนและนักศึกษาเมื่อเขาได้เข้ามาสู่ถนนการต่อสู้จริงเขาก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่มวลชนพื้นฐานของคนเสื้อแดงได้ทำมาตลอดในอุดมการณ์นั้นคือเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ หลายคนที่เป็นคนเสื้อแดงเขาเองก็รู้สึกดีใจ”

“มวลชนพื้นฐานบางส่วนของเราหลายคนเขารู้สึกว่าเขาถูกเหยียบย่ำ แล้วคนอื่นอาจจะมองไม่เห็นค่าของเขา แต่อาจารย์เองไม่ได้รู้สึกว่าเราถูกเหยียบย่ำ เพราะเรายึดมั่นในสิ่งที่กระทำมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ทำให้เกิดความคิดที่ดีต่อกัน คือจริงๆ แล้วไม่ว่าเยาวชนจะเข้าใจเราหรือไม่ แต่อาจารย์เชื่อว่าคนเสื้อแดงทั้งหลายยังยินดีที่จะสนับสนุน ไม่ว่าเด็กจะเห็นหัวคนเสื้อแดงหรือไม่ คนเสื้อแดงที่สู้ด้วยอุดมการณ์ เขาไม่ได้หวั่นไหว หรือรู้สึกเสียใจกับการที่ถูกดิสเครดิตหรือถูกมองข้าม”

“เพราะฉะนั้น ขอให้เยาวชนทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะเห็นค่าของเราหรือไม่ แต่โดยรวมการที่คนเสื้อแดงทั้งหมดต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่เพราะเรายืนอยู่บนถนนสายเดียวกัน เราเดินไปเส้นทางเดียวกัน เป้าหมายเราคือเป้าหมายเดียวกัน”

“อาจารย์สามารถพูดแทนคนเสื้อแดงได้อย่างที่รู้ใจพวกเขาว่า เขาพร้อมที่จะสนับสนุนน้องๆ ยิ่งการที่มีป้ายปรากฏในการชุมนุมประชาชนปลดแอกที่ผ่านมา อาจจะพอทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนยิ้มได้บ้าง ไม่ว่าเขาจะมองเห็นหรือไม่ แต่มันคือภารกิจหนึ่งที่พวกเราจะต้องสนับสนุนเยาวชน เพราะเป้าหมายเดียวกัน มันต่างแค่เพียงเจเนอเรชั่น อาจจะมีวิธีการและท่วงทำนองที่แตกต่างกัน ฉะนั้น คนเสื้อแดงทุกคนควรสนับสนุนเต็มที่” ธิดาระบุ

และว่า จากการที่ได้สังเกตการณ์ดูแล้วก็มีการแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่ม

“เราจะเห็นได้ว่าเยาวชนหรือนักศึกษาที่เขาไม่เคยเข้าใจ เขาจะมีความรู้สึกมาก เขาจะรู้สึกผิดอย่างมาก ว่าที่แล้วมาเขาไม่ได้ให้เครดิตคนเสื้อแดงเลย ถึงแม้กระทั่งดูถูกเหยียดหยาม แม้แต่ขนาดคนเสื้อแดงด้วยกันบางส่วนซึ่งยังขาดความเชื่อมั่นในตัวเองหรือไม่แน่ใจว่าเยาวชนจะให้เกียรติหรือต้อนรับหรือไม่ แต่อย่างไรเสียเราก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป้าหมายบรรลุให้จงได้”

“มองมาที่วาทกรรมคนเสื้อแดง “ไม่ได้ก้าวข้ามทักษิณ” ก็ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วนิยามสำหรับคุณทักษิณ คือหุ้นส่วนสำคัญ ก่อนหน้านี้ก็จะพยายามใช้คำนี้มาตลอด เพราะว่าคนเสื้อแดงบางส่วนเขาก็รักคุณทักษิณ เมื่อมามองดูจริงๆ จะเห็นเลยว่าคนที่เฉยๆ กับคุณทักษิณก็มี หรือชอบน้อยมากๆ ก็มี ถึงขนาดไม่ชอบเลยก็มี เพราะว่านิยามคนเสื้อแดงมันกลายเป็นความหมายของคนรักประชาธิปไตยและความยุติธรรม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เขาก็ไม่เข้าใจเราในทีแรก ว่านิยามพวกเราคืออะไร ก็ตอบไปว่า ถ้าคุณรักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม ถ้าตามนี้คุณคือคนเสื้อแดง คุณเป็น “Red shirt” นิยามของคนเสื้อแดงมีเพียงแค่นี้”

“ส่วนเขาจะรักคุณทักษิณ รักคุณธนาธร รักคุณหญิงสุดารัตน์ รัก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้หมด มันคนละบริบทกัน เพราะว่านี่คือพาร์ตของการเมือง”

“แต่ในการต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการมีเจตนาปราบปรามเราแล้วพยายามที่จะดิสเครดิต คือคุณต้องแยกแยะระหว่างการต่อสู้ของประชาชนในการอุดมการณ์กับการต่อสู้ของนักการเมืองมันคนละเรื่องกัน ตอนนี้มีความพยายามจะมาปนกันแล้ว คนที่เป็นนักการเมืองเขาจะไม่พูดถึง ไม่ให้เครดิตแม้กระทั่งจากฝ่ายเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนเพราะเขาต้องการที่จะสร้างให้เครดิตตัวเองสูงและยิ่งใหญ่ก็จะทำให้การมองภาพนักต่อสู้หรือกระบวนการการต่อสู้เสมือนเป็นเครื่องมือสนับสนุนตัวเอง แม้ว่าจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกก็ตาม เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดิสเครดิตทั้งคู่ก็ไปขนานนามว่าคนเหล่านี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งหลายควรจะต้องเข้าใจแล้ว”

“เช่น ในตอนนี้เยาวชนที่ถูกกล่าวหาเรื่องบุคคล การกระทำเพื่อพรรคการเมืองบางพรรคก็ต้องระวังไว้ว่าวันหนึ่งพรรคก้าวไกลจะโดนบ้าง เพราะว่าเราไม่แยกระหว่างกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาชนกับเรื่องของพรรคการเมือง ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ลำบากที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้คนเข้าใจ มันจะต้องลงสู่การปฏิบัติแบบที่น้องๆ เขาลงถนนมาเมื่อเขาสวมวิญญาณนักต่อสู้”

ธิดาบอกอีกว่า ในทัศนะส่วนตัวมองว่า พ.ศ.นี้ คิดว่าพรรคการเมืองต้องร่วมขบวนกับการต่อสู้ของประชาชนด้วย ตราบใดที่เมืองไทย ประเทศไทย ไม่มีประชาธิปไตย อย่าฝันเลยว่าพรรคการเมืองนั้นคุณจะอยู่ได้ ไม่ทันไรอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” คุณก็ถูกยุบละ คุณถูกเล่นงาน คุณปฏิบัติตามกติกาของเขาสารพัดแล้ว คุณไปไม่รอดหรอก เพราะงั้นถ้าคุณไม่ใช่พรรคที่ไปร่วมอยู่กับคณะรัฐประหารแล้วต้องการยืนอยู่บนการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยจริง

ขอใช้คำว่า “คุณต้องร่วมการต่อสู้กับประชาชน” พักการต่อสู้ทางการเมืองเอาไว้เลยนะ แล้วร่วมการต่อสู้กับประชาชน ถ้าไม่ได้ประชาธิปไตย อย่าหวังว่าพรรคการเมืองคุณจะดำรงอยู่ได้

“แล้วที่สำคัญต้องยืนหยัดจนกระทั่งได้รับชัยชนะ จึงจะมาเข้าสู่ทางการเมือง อาจารย์ว่ามันไม่น่าเกลียดที่พรรคการเมืองมาร่วมการต่อสู้ของประชาชน มิฉะนั้น พอเวลาคุณขึ้นมาเป็นรัฐบาล มีปัญหาเขาก็รัฐประหารคุณ แล้วเขาก็ยุบพรรคคุณ แล้วก็อยู่อย่างนี้ แล้วก็มาเลือกตั้งใหม่ แล้วมันเรื่องอะไรที่จะต้องให้มีคนตายคนเจ็บอยู่ตลอดเวลา”

เมื่อถามว่าเมื่อไหร่ขบวนการประชาชนจะชนะจะสำเร็จ อาจารย์ธิดามองว่า มวลชนพร้อมแล้ว แต่ที่เรารออยู่คือปัญญาชนกับชนชั้นกลาง ถ้า 2 กลุ่มนี้ไม่ลุกขึ้นมาเตรียมตัวในการเรียกร้องประชาธิปไตย มันยากเหลือเกินที่มวลชนพื้นฐาน หรือไพร่สมัยใหม่ จะต่อสู้ได้เพราะว่าเสียงมันไม่ดัง

“ให้ลองย้อนมองไปที่เสียงชาวนาชาวไร่ในอดีต แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าหลายคนเริ่มเปลี่ยน อย่างเช่น กลุ่มแพทย์ชนบท คนส่วนนี้ก็เริ่มเป็นพ่อคนแม่คนแล้ว ก็สันนิษฐานว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาพื้นฐานมาจากครอบครัวที่เคยเป็นสลิ่มมาก่อน หรือขวาจัดด้วยซ้ำ”

ชมคลิป