Rest in Progress นิทรรศการอำลาศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของไทย ชวลิต เสริมปรุงสุข (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ Rest In Progress

นอกจากผลงานศิลปะดิจิตอลของชวลิต เสริมปรุงสุขแล้ว ภายในนิทรรศการ Rest in Progress ยังมีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดี “Whether Art is Life or Not” ที่ว่าด้วยชีวิต ความรู้สึกนึกคิด และกระบวนการสร้างผลงานของชวลิต เสริมปรุงสุข ในอัมสเตอร์ดัม

ซึ่งเป็นผลงานของนวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา และจักริน เทพวงค์ นักทำสารคดีหน้าใหม่ผู้สนใจและเฝ้าติดตามชีวิตและการทำงานของศิลปินผู้นี้อย่างใกล้ชิด

ภาพยนตร์สารคดี“Whether Art is Life or Not”

โดยนวลขนิษฐ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่องนี้ของเธอว่า

“Whether Art is Life or Not เป็นผลงานที่ต่อเนื่องจากหนังสั้น Whether it is Art or Not ที่ทำขึ้นในปี 2559 คือตอนไปเรียนอัมสเตอร์ดัมและได้รู้จักกับอาจารย์ชวลิต พอได้คุยกันก็รู้สึกว่าอาจารย์มีความน่าสนใจ ก็เลยติดตามอาจารย์ไปเรื่อยๆ แล้วถ่ายวิดีโอเก็บเอาไว้ พอเราได้ทุนทำงานศิลปะจาก Amsterdam Fund for the Arts ก็เลยเอาฟุตเทจเหล่านั้นทำออกมาเป็นหนังสั้น ที่แสดงมุมมองที่เรามีเกี่ยวกับศิลปินคนนี้ ที่มีชื่อเสียงในฐานะศิลปินแห่งชาติในเมืองไทย แต่ที่เนเธอร์แลนด์เขากลับอยู่อย่างสันโดษมากๆ เราสนใจในมุมของความเป็นโลกสองใบที่แตกต่างกันของเขา

พอได้ทำหนังก็เข้าใจตัวตนและวิธีการทำงานของอาจารย์มากขึ้น พอดีตอนนั้นเป็นช่วงที่อาจารย์บริจาคทรัพย์สินและผลงานให้กระทรวงวัฒนธรรมไปหมดแล้ว และหันมาทำงานดิจิตอล เหมือนกับอาจารย์ตัดสินใจเตรียมพร้อมที่จะตาย ซึ่งการทำงานดิจิตอลไม่ต้องการพื้นที่เยอะ และสามารถอยู่ไปได้เรื่อยๆ เหมือนลึกๆ แล้วอาจารย์อยากให้งานของตัวเองอยู่ไปนานๆ

ต่อมาเราก็ได้เอาหนังสารคดีเรื่องนี้มาฉายที่เมืองไทยที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY หลังจากนั้นก็พัฒนาโครงการนี้ต่อจนกลายเป็น Whether Art is Life or Not หนังสารคดีขนาดความยาว 80 นาที โดยได้ทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม และนำไปฉายที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) พร้อมกับฉายในนิทรรศการครบรอบอายุ 80 ปีของอาจารย์ชวลิตอีกด้วย”

ท้ายที่สุด ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีการจัดแสดงและจำหน่ายหนังสือ Rest in Progress R.I.P. ที่รวบรวมผลงานศิลปะดิจิตอลและภาพถ่ายของชวลิต เสริมปรุงสุข ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งศิลปินมุ่งหวังให้หนังสือเล่มนี้เกิดประโยชน์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยและศิลปินไทยรุ่นใหม่ๆ ให้ได้ศึกษากระบวนการคิดเบื้องหลังในการผลิตผลงานชุดนี้ของเขา

หนังสือ Rest in Progress R.I.P.

เมื่อจัดพิมพ์เสร็จ หนังสือชุดนี้จะถูกแจกจ่ายไปตามห้องสมุดสาธารณะและสถาบันศิลปะทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย และส่วนหนึ่งจะนำออกจำหน่ายผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยไม่หวังผลกำไร หากแต่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOCA กรุงเทพฯ

โดยสองนักออกแบบแห่ง Studio 150 ผู้ออกแบบหนังสือกล่าวถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่า

“ย้อนกลับไปในปี 2559 เราได้ทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Whether It is Art or Not ที่เป็นหนังสือรวบรวมผลงานของอาจารย์ชวลิตในช่วงปี 2556-2559 และเหมือนการสังเกตการณ์ของเราที่มีต่องานในยุคดิจิตอลของอาจารย์ออกมา เพราะเราสังเกตเห็นงานที่อาจารย์โพสต์ลงเฟซบุ๊กบ่อยมาก เราเลยสนใจว่าศิลปินแห่งชาติที่อายุขนาดนี้ยังใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการนำเสนอผลงานของตัวเอง ประจวบกับ (เบล) นวลขนิษฐ์ทำสารคดีเกี่ยวกับอาจารย์ขึ้นมาพอดี ก็เลยกลายเป็นโครงการร่วมที่มีการแบ่งปันข้อมูลและวัตถุดิบซึ่งกันและกัน โดยเปิดตัวหนังสือเล่มนี้และจัดฉายหนังสารคดีที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY

หลังจากนั้น พออาจารย์ได้เห็นหนังสือ ก็เลยได้มีโอกาสรู้จักกันและอาจารย์ก็ชักชวนเราว่ามีโครงการอยากจะทำหนังสือรวบรวมผลงานในช่วงหลังอย่างจริงจัง และอาจารย์คิดว่าคงเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานครั้งสุดท้ายแล้ว เลยอยากทำให้เป็นหนังสือที่มีคุณภาพให้เป็นมาตรฐานของ Artist”s book (หนังสือศิลปิน) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานในช่วงปี 2560-2562 ก่อนที่อาจารย์จะทำผลงานภาพพิมพ์ดิจิตอลที่แสดงในนิทรรศการ 80+ Chavalit Soemprungsuk Art Festival

ในการทำงานร่วมกัน อาจารย์ให้อิสระกับเรามาก เพราะอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นมุมมองของคนรุ่นใหม่จริงๆ อาจารย์แค่บอกความต้องการคร่าวๆ ว่าอยากได้หนังสือปกแข็ง ที่รวบรวมผลงานรวมถึงข้อเขียนและภาพถ่าย ทางเราก็คิดคอนเซ็ปต์ว่าจะเล่าเรื่องอย่างไร หน้าตาเป็นยังไง

สุดท้ายเรามองว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของอาจารย์ เราเลยออกแบบด้วยการเล่าเรื่องย้อนกลับไปสู่ชีวิตและวิธีคิดของอาจารย์ และออกแบบแต่ละบทในหนังสือให้เป็นเหมือนปัจจัยในผลงานทั้งหลายของอาจารย์ ทั้งชนิด รูปแบบ รูปทรง สีสัน หรือหัวข้อในการทำงาน

หนังสือ Rest in Progress R.I.P.

พอเราแบ่งแบบนี้เลยทำให้เราสามารถเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานของอาจารย์ได้ ทั้งกระบวนการทำงาน มุมมองส่วนตัว หรือแม้กระทั่งแนวคิดในการเตรียมพร้อมที่จะตาย เหมือนเป็นมรณสติในการเตรียมตัวที่จะจากโลกนี้ไป เลยตั้งชื่อว่า Rest in Progress หรือกระบวนการของการเตรียมตัวที่จะตาย ซึ่งใช้ชื่อย่อล้อไปกับคำว่า R.I.P. (การพักผ่อนอย่างสงบสุขหลังความตาย) ซึ่งเราได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนของอาจารย์ที่ว่า “ในพจนานุกรมฉบับศิลปิน รีไทร์แปลว่าตาย” (The Artist”s Dictionary “Retire” Means “Die”)

เราอยากแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องยาวนานในการทำงานของอาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นศิลปิน ที่ไม่ได้ทำงานแค่ครั้งเดียวแล้วดังเปรี้ยงปร้างแล้วก็จบ แต่เป็นการทำงานอย่างสม่ำเสมอ และใช้ชีวิตกับศิลปะตลอดชั่วชีวิต”

นิทรรศการ Rest In Progress

นิทรรศการ Rest in Progress จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม – 2 ตุลาคม 2563 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. ดูเส้นทางได้ที่ https://bit.ly/33TD9i3

สามารถซื้อหนังสือ Rest in Progress R.I.P. ได้ทั้งในสถานที่จัดแสดงนิทรรศการและที่ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะ ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOCA

ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับซีรี่ส์นิทรรศการ 80+ Chavalit Soemprungsuk Art Festival Thailand ผ่าน Official Facebook Page : Chavalit Soemprungsuk

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากกองทุนศิลปะ อ.ชวลิต เสริมปรุงสุข ภาพถ่าย : ปรีชา ภัทรอัมพรชัย