นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ผู้คนเลื่อนไหลในรัฐที่หยุดนิ่ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ของ TPBS ถึงงานวิจัยของเธอ เกี่ยวกับนักเรียน-นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมประท้วงไปทั่วประเทศเวลานี้ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยเวลานี้

เมื่อฟังคำสัมภาษณ์แล้ว ผมอยากพูดว่า จะเข้าใจอะไรที่เกิดในประเทศไทยเวลานี้ก็ยาก จะหาทางออกก็ยิ่งยากกว่า

ท่านอาจารย์สรุปในตอนหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาในเวลานี้แตกต่างจากความเคลื่อนไหว 14 ตุลา, พฤษภามหาโหด 2535 และความเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในปี 2552-2553 กลุ่มเหล่านั้นเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องหรือจรรโลงชาติบ้านเมืองให้หลุดพ้นจากการปกครองที่เลวร้ายของรัฐบาลทหาร (ออกหน้าหรือจำแลง) แต่นักเรียน-นักศึกษาในตอนนี้เคลื่อนไหวเพื่ออนาคต (และปัจจุบัน) ของตนเอง

เพื่ออนาคตของตนเองเป็นคำตอบที่ได้ยินบ่อยมาก เมื่อนักเรียน-นักศึกษาถูกถามว่า เคลื่อนไหวเพื่อต้องการอะไร คำตอบอื่นที่ได้ยินบ่อยเหมือนกันคือต้องการแสดงออกว่าเขาก็มีความคิดของเขาเอง (จึงควรได้การยอมรับเท่าเทียมกับคนอื่น) เขาอยากได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์คนอื่นที่อ้างตนเป็น “ผู้ใหญ่” แล้ว โรงเรียนและมหาวิทยาลัยกดทับความคิดและชีวิตส่วนตนที่เขาเลือกอย่างหนักและเกือบตลอดเวลา และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

สิ่งที่ผมคิดว่าได้ยินอย่างชัดเจนในคำตอบของนักเรียน-นักศึกษาในวันนี้คือสำนึกในความเป็นปัจเจกของตนเอง

ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของนักเรียน-นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนี้ ล้วนมีอนาคตที่ไม่อาจใช้เส้นสายของครอบครัวได้ เขาต่างรู้ตัวว่าอยากทำอะไรในชีวิต และตนเก่งในเรื่องอะไร จะไปได้ดีในงานหรืออาชีพประเภทไหน

(ผมอยากเตือนว่า ความปรารถนาอย่างนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ที่อยากประสานชีวิตของตนเข้ากับรูปแบบ (conform) ของคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือในกลุ่มสถานภาพของตนเองหรือที่เป็นอุดมคติ)

แต่สำนึกว่าตนจะก้าวต่อไปในชีวิตด้วยความสามารถของตนเองเช่นนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการเล่นเส้นเล่นสายอย่างหนักในสังคม ยิ่งภายใต้รัฐบาลเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ โอกาสจะโวยวายในเรื่องนี้ยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก จนกว่าจะกลายเป็นกรณีที่ช็อกคนทั้งสังคมไปแล้ว

นักเรียน-นักศึกษาที่ชีวิตมั่นคงด้วยเส้นสายของครอบครัว ต่างเรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ หรือถูกส่งไปเรียนในต่างประเทศ ถึงจะมีสำนึกปัจเจกเหมือนกัน ก็มองไม่เห็นว่ารัฐไทยขัดขวางการแสวงหาความเป็นตัวของตัวเองอย่างไร

บางคนอาจมองความเปลี่ยนแปลงในสำนึกของคนรุ่นนี้ว่าเป็นความเสื่อม เพราะคิดถึงแต่ตนเองโดยไม่คิดถึงส่วนรวม แต่ความจริงแล้ว “ส่วนตน” กับ “ส่วนรวม” ไม่ใช่คู่ตรงข้ามที่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

เพราะต้องการเงื่อนไขทางการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง ก็คือต้องการ “ส่วนรวม” ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลให้ไปได้ไกลจนถึงขีดสุด และ “ส่วนรวม” เช่นนั้นย่อมเป็นที่ปรารถนาของทุกคนไม่ใช่หรือ

ลัทธิปัจเจกชนนิยมในยุโรปนั้น แม้เติบโตเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนเอาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ก็แทรกเข้าไปเป็นพลังให้แก่สำนึกอื่นๆ ที่ครอบครองจิตสำนึกของผู้คนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม, ชาตินิยม, หลักนิติรัฐนิติธรรม, เสรีประชาธิปไตย, วิทยาศาสตร์นิยม หรือแม้แต่อีกหลายเฉดของสังคมนิยม

สำนึกปัจเจกเช่นนี้ ทำให้ข้อเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรัฐประหารและคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาขอโทษสังคมไทยฟังดูตลกสิ้นดี คนที่อนาคตของเขาถูกทำลายจากการรัฐประหารและการสังหารหมู่กลางเมือง คือปัจเจกที่มีเลือดเนื้อ ซ้ำยังต้องรับผลร้ายต่อไปอีกนานเท่านานข้างหน้า ไม่เฉพาะแต่ที่ได้เกิดมาแล้ว แม้แต่ที่ยังไม่เกิดก็ต้องได้รับเช่นกัน สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าคือกอบกู้บ้านเมืองให้หลุดพ้นจากหายนะที่การรัฐประหารและสังหารหมู่ได้ก่อไว้ ส่วนตัวผู้กระทำจะสำนึกผิดหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่าการรัฐประหารก็ตาม การสังหารหมู่ก็ตาม ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะมีบุคคลบางคนตัดสินใจผิด แต่มีคนที่ชักใยเบื้องหลัง, ผู้สมคบคิด และผู้ร่วมกระทำผิดจำนวนมาก ตราบเท่าที่คนเหล่านี้ไม่ถูกลงอาญาตามกฎหมาย ความผิดซ้ำซากเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะคำขอโทษได้แต่เพียงกลบเกลื่อนความจริงมิให้เป็นที่ล่วงรู้เท่านั้น จึงไม่อาจแก้ไขอะไรได้เลย

บางคนคิดว่าสำนึกที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่นี้คือความเปลี่ยนแปลงของชั่วอายุคน (generational shift) ซึ่งพูดทีไรก็ถูกทุกที เพราะไม่ว่าจะนับจากชั่วอายุคนหรือเวลาในรูปอื่น โลกนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่งเสมอ ยิ่งกว่านี้บางคนยังมองความเปลี่ยนแปลงของชั่วอายุคนเหมือนเป็นวงจรที่หมุนกลับไปยังที่เดิมเสมอ เช่น เคยเกลียดพ่อเมื่อเป็นเด็ก แต่พอโตขึ้นก็เข้าใจเพราะตนเองได้เวียนมารับสำนึกและวิถีคิดของพ่อไปแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของชั่วอายุคนจึงเป็นคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อธิบายอะไรเลย

ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดกับคนรุ่นหลังๆ ในสังคมไทยเวลานี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่มาก และกระทบต่อสังคมภายใต้โลกาภิวัตน์ทุกแห่ง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มขึ้นก่อนในสังคมตะวันตก แล้วแพร่กระจายไปยังสังคมอื่นในเวลาต่อมา เพราะความสัมพันธ์ข้ามโลกอย่างใกล้ชิดของโลกาภิวัตน์ (อันเป็นวิธีอธิบายความเปลี่ยนแปลงของวงวิชาการไทยมานานมาก และทำให้เราไม่อาจเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้จริงสักที)

โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันแตกต่างจากโลกาภิวัตน์ในอดีต ซึ่งเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าหน้าผม, รูปแบบรัฐบาล, ระบบคมนาคมขนส่ง ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายนอกตัวมนุษย์เท่านั้น โลกาภิวัตน์ครั้งนี้มีผลโดยตรงต่อเนื้อในของความเป็นมนุษย์ไปทั้งโลก

ผมขออาศัยคำอธิบายของนักวิชาการอินเดียผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (Arjun Appadurai) เพื่อจะทำความเข้าใจสำนึกของ “คนรุ่นใหม่” ในสังคมไทย ซึ่งมีชีวิตอยู่ภายใต้โลกาภิวัตน์

เขากล่าวว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ผู้ถูกกระทำทั้งหลายในโลกปัจจุบันล้วนตกอยู่ในความเลื่อนไหลอย่างรวดเร็วและกว้างใหญ่ไพศาล ในขณะที่ผู้กระทำกลับอยู่ในโครงสร้างแข็งที่ไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้ง่ายๆ ผู้กระทำที่ใหญ่สุดในโลกปัจจุบันคือรัฐ ซึ่งผนวกเอาประชากรที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งคนและทุนไหลเข้าไหลออกอยู่ตลอดเวลา ยังไม่พูดถึงความรู้, ความคิด, สินค้าและกระบวนการผลิต ที่เปลี่ยนย้ายไปได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ เส้นพรมแดนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างแข็งของรัฐ เกือบไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่รัฐจะดำรงความเป็นรัฐอยู่ได้ก็ต้องรักษาโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมให้ดำรงคงอยู่สืบไป

แต่นอกจากรัฐแล้ว ผู้คนยังต้องมีชีวิตอยู่ในโครงสร้างแข็งอื่นๆ อีกหลายอย่าง ผมขอยกตัวอย่างเช่นหมอซึ่งนั่งอ่านวารสารการแพทย์อยู่ทุกวัน ต้องทำงานในระบบโรงพยาบาลซึ่งจะปรับเปลี่ยนอะไรแต่ละทีก็ยาก บางเรื่องก็ปรับเปลี่ยนไม่ได้เลย ผู้สร้างหนังอยากแหกคอกไปสร้างหนังแนวที่แปลกแตกต่างจากที่ทำกันทั่วไป แต่นายทุนไม่อยากเสี่ยงออกไปจากแนวเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่า “ขายได้” ทหารฉลาดๆ รู้ว่า การเกณฑ์ทหาร, ระบบเลื่อนขั้นและคัดสรรผู้บังคับบัญชา, ยุทธศาสตร์ หรือระบบการศึกษาของกองทัพไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกองทัพ “แข็ง” ทั้งจารีตประเพณี, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และบทบาททางการเมือง จนเขาในฐานะผู้ถูกกระทำที่เลื่อนไหล ไม่อาจบ่อนเซาะโครงสร้างที่แข็งอย่างกองทัพได้, พระใน “คณะสงฆ์”, ศิลปินของกรมศิลปากร, อาจารย์มหาวิทยาลัยภายใต้ฝ่ายบริหาร ฯลฯ

คิดไปเถิดครับก็จะเห็นความเลื่อนไหลไม่หยุดนิ่งของผู้คนในสถาบันหรือองค์กรที่แข็งโป๊กอยู่ทั่วไปหมด

และในบรรดาผู้คนซึ่งเลื่อนไหลเหล่านี้ จะหาใครที่ถูกกดทับยิ่งไปกว่านักเรียน-นักศึกษาเล่าครับ ในขณะเดียวกันทั้งโรงเรียนไทย, มหาวิทยาลัยไทย, กระทรวงศึกษาฯ ไทย หรือแม้แต่ครอบครัวไทย ก็เป็นโครงสร้างที่แข็งไม่น้อยไปกว่ากองทัพ, สมาคมอุตสาหกรรม และหอการค้า หรือคณะสงฆ์

ในนามของความปรารถนาดีนี่แหละครับ ที่โครงสร้างแข็งเหล่านี้กดทับนักเรียน-นักศึกษาไว้จนแบนแต๋ ขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับโลกในชีวิตจริงของเขาที่เลื่อนไหลอย่างเชี่ยวกรากอยู่ตลอดเวลา

(ยิ่งเป็นผู้หญิงก็ยิ่งถูกกดทับหนักขึ้นด้วยโครงสร้าง “กุลสตรี” ที่กวีสมัยกลางรัตนโกสินทร์ทิ้งไว้ นั่นคือเหตุผลที่ส่วนใหญ่ของผู้ประท้วงเป็นผู้หญิง)

ลองคิดถึงหลักสูตรดูสิครับ หลักสูตรการศึกษาไทยมุ่งจะสร้างพลเมืองของชาติตามอุดมคติแคบๆ ของผู้ปกครองไทย และสร้างแรงงานให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ไม่มีส่วนไหนของหลักสูตรและวิธีจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาศักยภาพเฉพาะตนของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคน ในขณะที่ข่าวสารข้อมูลซึ่งเลื่อนไหลข้ามทวีปข้ามโลกมาเบื้องหน้านักเรียน-นักศึกษา มันมีความเป็นไปได้ในชีวิตอีกหลากหลายอย่าง ซึ่งอยู่นอกปริมณฑลของหลักสูตร

ยังไม่พูดถึงตลาดงานซึ่งต้องการแต่ “ช่างฝีมือ” มากกว่าจินตนาการอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์

สิ่งที่เกิดในสังคมไทยเวลานี้ จึงไม่ใช่เพียงความเปลี่ยนแปลงที่รุ่นพ่อกับรุ่นลูกย่อมต่างกัน แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่ทั้งไพศาลและลึกลงไปในโลกทัศน์ของผู้คน

แน่นอน รัฐบาลเผด็จการทหารยิ่งทำให้โครงสร้างแข็งซึ่งกดทับผู้คนเอาไว้อยู่แล้ว ยิ่งมีแรงกดทับมากขึ้นไปอีกหลายเท่า เพราะทหารไทยมีแต่ความฝันของอดีต ฝันถึงอนาคตไม่เป็น

การเปลี่ยนรัฐบาล, เปลี่ยน ส.ส. และเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจำเป็นและควรเร่งทำ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผิวฉาบหน้าของวิกฤตความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น ยังห่างไกลจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากผู้คนที่เลื่อนไหล แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้องค์กรและสถาบันอีกร้อยแปดที่แข็งทื่อ ไม่ขยับปรับเปลี่ยนกับอะไรได้ง่ายๆ อันล้วนเป็น “อำนาจ” ที่ครอบงำชีวิตผู้คนอย่างล้นเกินในสังคม

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียว เช่น จะปรับเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล แทนที่จะเป็นผู้ผลิตแรงงานป้อนเศรษฐกิจได้อย่างไร หลักสูตรไม่ใช่เรื่องของครูใหญ่หรือกระทรวงศึกษาฯ เพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วมีผลประโยชน์ผูกพันกับหลักสูตรใน “อำนาจ” ทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมอีกมาก จนแม้แต่พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ยังถูกทำให้เชื่อว่า หลักสูตรเช่นนั้นจะให้ความมั่นคงแก่ชีวิตลูกหลานได้ดีกว่าการเสี่ยงไปแสวงหาความรู้ที่จะตอบสนองศักยภาพของผู้เรียน

มีรัฐบาลประยุทธ์ ประเทศไทยก็จะทรุดลงอย่างรวดเร็วในทุกทาง แต่ถึงไม่มีรัฐบาลประยุทธ์ ประเทศไทยก็จะยังทรุดลงต่อไป อาจด้วยอัตราที่ช้ากว่าเท่านั้น จนกว่าสังคมไทยทั้งหมดจะกล้าหาญพอจะมีชีวิตในโลกที่เลื่อนไหลเท่านั้น