จัตวา กลิ่นสุนทร : สนทนากับ (บิ๊ก) ทหารสูงวัย เรื่อง “รัฐประหาร”

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนรวมตัวกันเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” พร้อมใจกันไล่ “เผด็จการ” ไปถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาการปกครองประเทศกันอย่างตึงเครียด

แต่ผมกลับไปชวนคุยเรื่อง “รัฐประหาร”

ที่จริงมันกลับใกล้ๆ กัน เรียกว่าควบคู่กันมาเพราะมันเป็นสูตรสำเร็จในการทำรัฐประหารในประเทศเรา เมื่อทำยึดอำนาจสำเร็จแล้วต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่าฉีกทิ้งแล้วจัดทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งดูเหมือนง่ายดายเพียงแค่กะพริบตา แต่เมื่อเวลาประชาชนต้องการจะให้ยกร่างขึ้นใหม่มันกลับยากมากๆ

จะว่าไปมันไม่มีอะไรยากหากมีการชี้นำจากผู้มีอำนาจอย่างจริงใจ

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ซึ่งผูกเงื่อนปมไว้ให้แก้ไขยาก เพราะนอกจากเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังต้องพึ่งเสียงของสมาชิกวุฒิสภา อย่างที่คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวไว้ว่า

“ข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต-นักศึกษาที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 เพื่อตัดสมาชิกวุฒิสภา 250 คนออก–สมาชิกวุฒิสภาเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง ไม่ว่าจะชัง หรือจะชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือ–

จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตามระบบที่มีอยู่จำเป็นต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน จะแก้เป็นรายประเด็น จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไม่ชอบสมาชิกวุฒิสภาอย่างไร แต่ต้องมีเสียงพวกเขา 84 คน–

ไม่อย่างนั้นมี 2 วิธีคือ การรัฐประหารอีกครั้ง ยกเลิกแล้วร่างใหม่ หรือเกิดการปฏิวัติประชาชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา”

 

ลองตั้งคำถามเล่นๆ ว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจำนวน 250 คนนี้เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็จริงอยู่ แต่ถามว่าผู้คนในสังคมประเทศไม่รู้หรือว่า–ใครเป็นคนแต่งตั้งพวกเขาเข้ามาให้ได้ทำงานสบายๆ รับเงินเดือนสูงๆ ใครเป็นผู้มีพระคุณจิ้มชื่อคนนั้นคนนี้เข้ามา ที่จริงเขาเคยแยกแยะกันออกมาแล้วว่ามีทหารเกษียณประมาณ 80 คน เพื่อน พี่ น้องในแวดวงเดียวกัน ผู้คนจากสาย 3 ป. รวมกับข้าราชการประจำ ล้วนเป็นพวกเดียวกัน

เขาคิดคำนวณกันกระทั่งค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายทุกๆ เดือนของสมาชิกวุฒิสภา ที่ปรึกษา ผู้ติดตาม รวมทั้งความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารเครื่องบิน รถไฟ รถขนส่ง ฯลฯ เบี้ยประชุม อะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ รวมเป็นเดือนละเท่าไร? ปีละเท่าไร? คูณด้วย 5 เข้าไปย่อมได้คำตอบ?

พวกเขาเหล่านี้จะไม่ฟังเสียงของท่านที่มีคุณูปการหรืออย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ร่วมมือช่วยกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร? จะได้เสียงเกิน 1 ใน 3 คือ 84 คนหรือไม่?

ยังจำวันที่ขานชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกันได้หรือเปล่า เสียงไม่แตก ไม่มีใครแตกแถว แม้แต่ขาดประชุม

ถึงวันนี้พวกท่านควรจะต้องสนองตอบประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่ารัฐบาลเองก็ไม่มีทางออกอย่างอื่นนอกจากต้องยอมให้แก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ก่อนเรื่องราวจะบานปลายเกินเลยไปกว่าทุกวันนี้

 

วันเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษ หลังจากได้ขับไล่เผด็จการทหารลงจากเวทีการเมือง บ้านเมืองทำท่าว่าจะมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เรามักพูดกันว่าทหารกลับกรมกองแล้ว ทหารไม่กล้าทำการปฏิวัติ รัฐประหารอีกแล้ว

แต่ยังมีการ “ยึดอำนาจ” กันเรื่อยมา เพียงแค่เว้นวรรคระยะสั้นบ้าง ยาวบ้างเท่านั้น เราคงหนีกันไม่พ้นที่จะต้องตำหนิติเตียนนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร ว่าคุณภาพมากน้อยแค่ไหน และมักจะลืมตัวลืมตนหลงเหลิงกันเสมอๆ กว่าจะคิดได้มักสายไป ไม่มีสภาแล้ว

(ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี (คนที่ 16) ท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกองทัพ และกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่า ยังเติร์ก (จปร.7) ซึ่งได้คุมกำลังหลักเอาไว้ โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก

ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลของท่านจะถูกปฏิวัติ ซึ่งผู้นำกำลังออกมาเป็นนายทหารที่เรียกว่าลูกป๋า สนับสนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งนั้น

เช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร (ยศขณะนั้น) กับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร (ถึงแก่กรรม) รวมกับเพื่อนร่วมรุ่น

การยึดอำนาจด้วยการจับตัวป๋าไม่สำเร็จ ท่านหนีไปนครราชสีมา จัดกองกำลังเพื่อสู้กับคณะปฏิวัติ แต่เรื่องราวยุติลงแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ การปฏิวัติวันที่ 1-4 เมษายน 2524 ที่เรียกว่า “เมษาฮาวาย” จึงกลายเป็น “กบฏเมษาฮาวาย”

หรือเรียก “กบฏยังเติร์ก” อีกชื่อหนึ่งก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลัง

 

รัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยู่บริหารประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2523-2531 นับรวมกันได้ 8 ปีเศษก่อนท่านจะลงจากเก้าอี้พร้อมกล่าวคำว่า “ผมพอแล้ว” เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายยังรวมตัวกันหลังเลือกตั้งไปเชิญท่านให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (บิ๊กเต้) มียศนาวาอากาศเอก เป็นรองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ได้ให้การสนับสนุนกำลังทหารจากโคราชที่เคลื่อนเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อปราบฝ่ายปฏิวัติในปี พ.ศ.นั้นด้วย

โดยได้รับการประสานจาก พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (บิ๊กหมง) (อดีต ผบ.ทสส.) และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว) อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 22) ทั้ง 2 ท่านเป็นทีมงานฝ่ายเสนาธิการของป๋า ขออะไรมาพี่เต้จัดให้เรียบร้อยหมดกระทั่งท่านพี่จิ๋วบอกกับป๋าว่า– “พวกนี้ต้องตอบแทนกัน นี่ผมพูดจริงๆ นะ”

ต่อมาอีกไม่กี่ปีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เปลี่ยนโผตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารอากาศ” จาก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (บิ๊กเต้) เป็น พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี เพียงข่าวลือว่าบิ๊กเต้เป็นคนเจ้าชู้–

นอกจากไม่ได้รับการตอบแทนแล้วยังถูกเปลี่ยนโผ บังเอิญขณะที่ได้รับการเสนอชื่อ “ผู้บัญชาการทหารอากาศ” ยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี จึงมีเวลาหาทางกลับมาสู่ตำแหน่งได้ใหม่

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 เกิดการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยบุกจับตัวบนเครื่องบินในพื้นที่ของกองทัพอากาศ ขณะนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าเฝ้าฯ รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม

วงในเชื่อกันว่าเป็นที่มาของการ “ยึดอำนาจ” เนื่องจากเรื่องนี้ระดับหัวแถวของกองทัพได้เคยส่งตัวแทนไปพูดจาตกลงกับน้าชาติไว้ก่อนหน้าว่า อย่าแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วย แต่ท่านไม่ทำตาม

“พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการวางแผนบอกว่าเป็นการปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพอากาศ ซึ่งดูเหมือนว่าคงไม่เป็นที่สบอารมณ์จากกองทัพบกเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่ได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หัวหน้า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ดูเหมือนจะทราบทีหลัง เห็นได้ว่าระหว่างที่ท่านออกไปแถลงข่าวรัฐประหารทางโทรทัศน์แบบสดๆ ค่อนข้างจะไม่พร้อม รวมทั้งข้อหารัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” คิดว่ามาตั้งเอาหลังจับตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว

“ปี พ.ศ.2535 ถ้าหากผมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่แน่เหมือนกันบ้านเมืองอาจไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา บางทีเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะผมอาจพูดคุยกับพี่จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งขณะนั้นคือหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ให้เข้าใจกันได้”

พล.อ.อ.เกษตรรำพึงรำพันในวันที่มีวัย 87 ปี–

 

วันเวลาเดินทางมายาวนานจนคิดว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว แต่ 15 ปีถัดมามันก็เกิด “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” (คมช.) ขึ้นปี 2549 และเว้นวรรคอีก 8 ปี ถึง พ.ศ.2557 เกิด “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ซ้ำ

ทุกคณะฉีก “รัฐธรรมนูญ” ทิ้ง พร้อมจัดทำขึ้นใหม่ทั้งสิ้น

เพียงแต่ครั้งสุดท้ายเขาต้องการอยู่ยาวจึงต้องใช้เวลานานมากกว่าทุกคณะ

วันนี้ “รัฐธรรมนูญ 2560” ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงมาตกที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะตัดสินใจอย่างไร?

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2