อภิญญา ตะวันออก : ลัทธิราษฎรนิยม กับความอยู่รอดของกษัตริย์เขมร

อภิญญา ตะวันออก

นั่นสินะว่า ทำไมกษัตริย์เขมรและอุษาคเนย์ร่วมสมัยจึงสร้างอนุสัยนานาที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองระบอบของตนให้ยืนยงยาวนาน

โดยสิ่งหนึ่งที่รวมไว้คือนโยบาย “ลัทธิราษฎรนิยม” ซึ่งผู้สถาปนาลัทธินี้ก็มิใช่ใคร แต่เป็น-กษัตริย์หนุ่มผู้มีพรสวรรค์ นโรดม สีหนุ

ยุคที่พระองค์สละราชสมบัติมาเล่นการเมืองฉบับราชานิยม ทรงตั้งชื่อเสียหรูหราว่า “สังคมราษฎรนิยม”

คนเขมรยุคหลังเรียกสั้นๆ ว่า “ปีสังคม” (ปี : ยุค, สมัย, จาก)

สำหรับเรา กว่าที่จะตระหนักว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงดำรงสถานะภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดตลอด 14 ปีแห่งรัชกาลนั้น

ทรงถูกวิจารณ์ว่า เป็นนกน้อยในกรงทองของสมเด็จฯ ฮุน เซน จากนักข่าวบางสำนัก ส่วนอดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านนายสัม รังสีนั้น เลิกราที่จะร้องขอให้พระองค์ออกโรงอภัยโทษนักโทษการเมืองและนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่โดนข้อหาร้ายแรงจากคนของรัฐ

ทรงเพิกเฉยเหมือนเทวรูปที่ถูกสาป และทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนว่า ทรงเป็นส่วน “เกิน” ทั้งหมดของทุกระบบอำนาจรัฐเขมร

อนึ่ง ความรู้สึกที่ว่า “ทรงถูกลดทอน” พระราชอำนาจต่อทุกบทบาทอันไปตามรัฐธรรมนูญ (ที่ไม่คุ้นชินของบางฝ่าย) นี้ ด้านหนึ่ง นี่คือความเกิน “พอดี” ของคำจำกัดความ “อันล่วงละเมิด” มิได้ในอดีต ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากระอักกระอ่วนของสมัยปีสังคม (1955-1970)

จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไร้พระมหากษัตริย์ในที่สุด

 

แต่ระบอบกษัตริย์ขัตติยะก็ไม่เคยเรียนรู้ต่อกงล้อการเปลี่ยนแปลงนี้ และรอคอยที่จะแก้มือในปี 1993 หากฟุนซินเปกชนะได้ขับเคลื่อนเป็นรัฐบาล แต่ทุกอย่างได้ถูกล้มล้างอีกครั้ง (1997)

และนั่นคือการเรียนรู้อย่างงงๆ ของปวงชนเขมร ต่อรัฐธรรมนูญที่ฉบับปกป้องระบอบกษัตริย์และราชสำนักในปัจจุบัน ที่ว่ากันว่า ขัดใจฝ่ายศักดินารุ่นเก่าปีสังคม และขอเดชะ ควรมิควร แล้วแต่จะโปรดว่า นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ขึ้นตรงกับกฎมณเฑียรบาลของราชสำนักและเป็นธรรมเนียมที่ตกทอดมาเป็นพันปีนั้น

ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ดังนั้น การเรียนรู้ธรรมนูญใหม่ จึงเป็นแบบแผนและหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่ดีมากกว่าจะไปหาทาง สถาปนาลัทธิ “ราษฎรนิยม” ดังเช่นที่เกิดขึ้นสมัยสีหนุราช(1955-1968)

ไม่ว่าจะเป็นความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพระบาทสีหนุหลังปี 1994 การถูกกำราบซ้ำจากรัฐประหาร นับเป็นการตรึงอำนาจระบอบกษัตริย์อย่างชาญฉลาดของนายฮุน เซน ที่กษัตริย์ชราอย่างสีหนุราชต้องบอบช้ำ จนต้องแปรพระราชฐานจำศีลตำหนักกรุงปักกิ่งตลอดรัชสมัยจนสิ้นอายุขัย

ทว่าความบีบคั้นต่อฐานันดรภาพผ่านทางรัฐธรรมนูญฉบับฮุนเซนนี้ กลับดูเหมือนว่า มิได้ทำให้พระบาทนโรดม สีหมุนี ทรงล้มเหลวที่จะดำรงสถานะแห่งการเป็นกษัตริย์เยี่ยงเดียวกับพระบิดา

กล่าวคือ ความไม่ทะเยอทะยานที่จะสืบสานลัทธิเผด็จการศักดินาในรูปราษฎรนิยมเดิมนั้น นอกจากจะทราบดีว่า ไม่อาจกระทำได้แล้ว ยังพบว่า ทรงมีพระทัยมั่นคงที่ให้ความร่วมมือกับประมุขบ้านเมืองฝ่ายบริหารอย่างน่าชื่นชม (แม้จะโดนค่อนขอดเป็น “นกน้อยในกรงทอง” ของสมเด็จฯ ฮุน เซน)

แต่มันคือวาระสำคัญที่ทำให้ราชสำนักเขมรินทร์กัมพูชากลับมายืนอยู่ในจุดอันมั่นคงอีกครา!

มิพักว่าจะถูกลดทอนฐานะในเกียรติยศกษัตริย์ อาทิ ซุ้มรับเสด็จ คณะผู้ติดตาม การอวยพระเกียรติยศในรูปโฆษณาชวนเชื่อที่ผลาญเปลืองงบประมาณเช่นในอดีต และแม้ว่าการที่กิจการในพระองค์ไม่ได้รับการส่งเสริมจริงจังจากรัฐบาลฮุนเซน

ก็ยิ่งพิสูจน์ว่า ทรงเป็นผู้อดทนต่อข้อจำกัดของเป็นความกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าพระราชอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับการเปลี่ยนแปลงและคตินิยมของสังคม แม้นัยทีแล้ว ประชาชนเขมรจะเรียกร้องให้พระองค์ออกโรงช่วยเหลือกรณีที่ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐบ้างก็ตาม

เป็นไปได้ว่า ประชาชนเขมรกำลังเรียนรู้ระบอบกษัตริย์โดยมีพระบาทสีหมุนีเป็นนิวนอร์มอล ที่สามัญเรียบง่ายและไม่พิสดารใดๆ เช่นในอดีต

คุณสมบัติที่จับต้องได้นี้ กลับเสริมบารมีของพระองค์ในเวทีนานาชาติให้มากยิ่งไปด้วย

 

อนึ่ง การที่ระบอบกษัตริย์เขมรปัจจุบันมาจากการสรรหาโดยนายกรัฐมนตรี ประมุขรัฐสภาและคณะสงฆ์ ทั้ง 2 สภาและนิกายนี้ มีส่วนทำให้อำนาจที่ไม่อาจล่วงละเมิดของกษัตริย์แต่เดิม กลายเป็นกรณีศึกษาของราชสำนักกัมโพชอย่างจริงจังในทุกฝ่ายที่จะพบว่า

ไม่มีใครหรือกษัตริย์องค์ใดที่สถาปนาขึ้นมา สามารถเคลื่อนย้ายครอบครองทรัพย์สินมาเป็นสมบัติส่วนพระองค์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากขึ้นตรงกับกรมวังหรือกระทรวงราชสำนักทำหน้าที่ดูแลและบริหารในกิจการของราชทั้งหมด

นับเป็นความยั่งยืนอย่างเห็นได้ เมื่อเทียบกับลัทธิราษฎรนิยมที่ไม่อาจไปต่อใดๆ ได้อีกไม่ว่าจะเป็นสีหนุราชผู้ปราดเปรื่อง หรือสีหมุนีผู้เชื่องช้า ท่ามกลางกงล้อแห่งกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านในความอนิจจังของสรรพสิ่ง และเป็นเหมือนปีศาจแห่งยุคสมัย ที่จะไม่มีวันหมุนกลับไปที่เก่า

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าสารตั้งต้นของระบอบกษัตริย์เขมรในวิถีปกติใหม่ที่ฟื้นฟูตัวเองนี้ มีที่มาจากระเบียบบริหารผ่านรัฐสภา โดยจะเห็นว่า พระราชกรณียกิจทั้งหมดของกษัตริย์ ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีประจำสำนักกระทรวงพระราชวังที่มีการจัดสรรงบประมาณบริหารเช่นเดียวกับกระทรวงทั่วไป

ดังนี้ ระเบียบเปิด-ปิดสมัยประชุมสภา การลงหัตถเลขาราชกิจจานุเบกษา ข้อปฏิบัติในการทะนุบำรุงศาสนา การต้อนรับอาคันตุกะ การซ่อมแซมฟื้นฟูพระราชวัง การเสด็จเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์ ตลอดจนกิจการส่วนพระองค์ ทั้งหมดนี้เป็นไปภายใต้ข้อปฏิบัติของกระทรวงพระราชวังที่ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาส่วนพระองค์

และทำให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์สีหมุนีมีความเหมาะสมในทุกลำดับชั้น ทั้งในฐานะตัวแทนสมมุติเทวราชาและราชอาณาจักรที่น่าจดจำ

นับเป็นกษัตริย์เขมรพระองค์แรกที่ประยุกต์ธรรมเนียมโบราณแห่งราชสำนัก สู่ลัทธิการปกครองร่วมสมัยของศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มรูปแบบ โดยแม้ว่าลัทธิเสรีนิยมแบบประชาธิปไตยในประเทศนี้ยังไม่บริบูรณ์ก็ตาม โดยเฉพาะความโปร่งใสในระบอบกษัตริย์ที่สามารถตรวจสอบได้ และไม่ตกเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายใด

และอาจเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาสำหรับประยุกต์ใช้ ณ เขตคามแห่งบางประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า น่าแปลกอย่างมากที่ทฤษฎีชุดราษฎรนิยมฉบับสีหนุที่ได้ชื่อว่าขัดขวางระบอบประชาธิปไตยกัมพูชาระหว่างปี 1955-1970 นั้น กลับเป็นของดีที่นายกรัฐมนตรีเขมรนำไปประดิษฐ์ในรูปแบบราษฎรนิยมฉบับสมเด็จฯ ฮุน เซน อีกคำรบหนึ่ง

ราวกับคัดลอกกันมา ยุทธวิธีอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระเบียบปฏิบัติในรัฐสภา การตรากฎหมาย นโยบายปกป้ององคาพยพโดยกองกำลังความมั่นคง การส่งเสริมภาพลักษณ์ตามลัทธิเผด็จการศักดินา โดยเมื่อเทียบระยะ 3 ทศวรรษแห่งการสถาปนาระบอบเผด็จการสภาเดียวนี้ พบว่าสยายปีกเกินกว่าระบอบใดจะต่อกร

ไม่ว่าความเป็นปึกแผ่นของระบบทุนท้องถิ่น-ต่างชาติและนักการเมืองที่ส่งเสริมความมั่นคงของรัฐอำนาจฉบับฮุนเซนอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในรูปแบบที่ตรงไปตรงมาและแอบแฝงในลักษณะเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่การควบคุมสื่อทุกแขนงและระบบการศึกษา แม้แต่กิจกรรมการประสาทปริญญาบัตรในสถาบันการศึกษา ก็เป็น 1 ในกิจกรรมที่ระบอบฮุนเซนเลือกที่จะให้ความสำคัญตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

นี่คือส่วนประกอบเล็กๆ ของระบอบฮุนเซนที่นอกจากจะรวบอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ยังผนึกไว้ในลัทธิราษฎรนิยมผนวกทุนสามานย์ที่สร้างความแข็งแกร่งมากทางการเมือง

จงดูกษัตริย์เขมรสีหมุนีเป็นตัวอย่าง แล้วท่านจะเข้าใจว่าทำไมเส้นทางปลดแอกของชาวกัมพูชา

จึงมาได้แค่นี้

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2