วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี แบบฉบับธุรกิจสหรัฐ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพียุคธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดฉากอย่างคึกคัก และดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ด้วยอ้างอิงต้นแบบธุรกิจอเมริกัน

“เทคโนโลยีระดับโลกก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด จากการเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ในปี 2512 โดยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มาถึงครัวเรือนประเทศไทย มีความสำคัญเป็นพิเศษกับกระบวนการการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตปัจเจก (individual) สร้างแรงผลักดันทางธุรกิจให้แสวงหาตลาดที่กว้างขวางขึ้น…

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงทั้งทางเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ เชื่อมเมืองกับหัวเมืองและชนบท การลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง” ผมได้สรุปปรากฏการณ์ในช่วงนั้นไว้ และเคยอ้างอิงหลายครั้ง

ภาพหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ไปตามกระแสปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมสู่ความทันสมัยมากขึ้น อย่างที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงการเจ้าพระยาใหญ่ โดยเงินช่วยเหลือจาก ธนาคารโลก การพัฒนาเกษตรกรรมพื้นฐานดังกล่าว เชื่อว่ามีแรงปะทะ มีอิทธิพลระดับโครงสร้างความคิดว่าด้วยโอกาสของธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ไม่มากก็น้อย

ขณะอีกบางมิติ ธนาคารโลกมีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาวิชาการเกษตร ถือว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับซีพี

“ปี พ.ศ.2515 ตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก โดยมติของคณะรัฐมนตรี ได้มีการแบ่งสรรการใช้พื้นที่ในเกษตรกลางบางเขนระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะเกษตรจึงได้ย้ายจากที่เดิมมาอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณฯ โดยได้สร้างที่ทำการคณะขึ้นใหม่เป็นอาคาร 5 ชั้น ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะในปัจจุบันนี้” ( อ้างจาก ประวัติคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์–http://www.agr.ku.ac.th/)

ถือว่าเป็นแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากปี 2509 เมื่อคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขยายบทบาทและปรับโครงสร้างอย่างครอบคลุมถึง 8 ภาควิชา เช่น เกษตรกลวิธาน คหกรรมศาสตร์ สัตวบาล และวิทยาศาสตร์การอาหาร เป็นต้น

 

ผมเองเคยถามธนินท์ เจียรนนท์ แห่งซีพี (ราวๆ 20 ปีมาแล้ว) ว่าด้วยแผนการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เขาตอบทันทีว่า “โชคดีที่มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

ช่วงโอกาสเปิดกว้างสำหรับซีพีและธนินท์ เจียรนนท์ ท่ามกลางสถานการณ์อันคึกคักของสังคมธุรกิจไทย ในบางมุมมอง ธนินท์ เจียรวนนท์ มีแนวทางแตกต่างออกไปบ้างจากธุรกิจอื่น ในฐานะเอกชน จากผู้ผลิตสินค้าสู่ผู้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกษตรกรรมไทยในบางด้าน

“…ในปี พ.ศ.2513 ผมนำเข้าไก่เนื้อจากบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส ของสหรัฐอเมริกา ไก่เนื้อจำเป็นต้องมีคนเลี้ยง บริษัทอาหารสัตว์เซ็นสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ให้เกษตรกรเป็นผู้เลี้ยง เมื่อไก่โตได้น้ำหนักที่ตกลงกันไว้แล้วบริษัทจึงรับซื้อกลับไป ที่สหรัฐรูปแบบการเลี้ยงแบบนี้แพร่หลายมากแล้ว ผมจึงตัดสินใจนำรูปแบบธุรกิจนี้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทย”

“…ต้นปี พ.ศ.2516 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างโรงฟักไข่เพื่อส่งลูกไก่เนื้อจำนวนมากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ โรงเชือด และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่บางนาซึ่งเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ เมื่อไก่มีขนาดเท่ากันก็สามารถทำการแปรรูปขั้นต้นด้วยเครื่องถอนขนไก่ได้ การแปรรูปเนื้อไก่ด้วยระบบอัตโนมัติที่เคยเป็นปัญหาค้างคามาหลายปีก็ได้รับการแก้ไขในที่สุด”

ลำดับเหตุกาณ์สำคัญๆ จากเรื่องเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont – NIKKEI แห่งญี่ปุ่น 2559) จนมาถึงบทสรุปโมเดลธุรกิจที่สำคัญยิ่ง “เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างระบบการผลิตแบบครบวงจรในประเทศไทย กล่าวคือ ตั้งแต่อาหารสัตว์ที่เป็นต้นน้ำ จนถึงการแปรรูปเนื้อไก่ที่เป็นปลายน้ำ”

โมเดลธุรกิจที่ว่าข้างต้น Harvard Business School (อ้างจากรณีศึกษา เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2535) เรียกว่า Vertical integration

“ซีพีเชื่อว่า Vertical integration (การผนวกประสานแนวตั้ง) ทำให้บริษัทสามารถควบคุมดีมานด์และซัพพลายได้ เป็นการสนับสนุนให้เกิดการประสานงานทางการตลาด ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา”

ขณะที่นักวิชาการญี่ปุ่นมองย้อนกลับถึงแรงขับดันเบื้องต้น “ธนินท์ เจียรวนนท์ คาดการณ์ว่าธุรกิจอาหารสัตว์จะโตเร็วด้วยความต้องการในประเทศที่มีมากขึ้น…ปี 2511 เขาจึงตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานทันสมัยแห่งแรกของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นรัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์แบบทันสมัยผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จนเป็นเหตุให้มีคู่แข่งหลายราย …ซีพีรับมือกับการท้าทายด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ประการ ด้านหนึ่ง ขยายกำลังการผลิตในปริมาณมากๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต อีกด้านหนึ่ง สร้างระบบการผลิตแบบครบวงจร เชื่อมโยงอุตสาหกรรมสัตว์ปีก”

(เรียบเรียงจากบทความเรื่อง “Modern Family and Corporate Capability in Thailand : A Case Study of the CP Group” โดย Akira Suehiro ในหนังสือ Japanese Yearbook on Business History 1997)

 

ที่น่าทึ่ง Harvard Business School อรรถาธิบายบางสิ่งให้น่าสนใจอันเนื่องมาจากโมเดลธุรกิจข้างต้น ดูจะเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมไทยเป็นพิเศษ ในสิ่งที่เรียกว่า “สายสัมพันธ์” แนวทางสำคัญหนึ่งซึ่งซีพีดำเนินตลอดมาอย่างมั่นคง

“Innovation and perseverance บ่อยครั้ง ซีพีเป็นผู้ริเริ่มนำวิธีการใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้างและสร้างสมดุลใหม่ มักสร้างความแคลงใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นซีพีจึงต้องหาวิธีการทีใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เกษตรกร และสาธารณชน”

ต่อเนื่องจากดีลข้างต้น (ซีพีกับ Arbor Acres) ก่อให้ บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่ง กลายเป็นแบบฉบับสำคัญอีกประการหนึ่งในยุทธศาสตร์ซีพี ในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

“Technology innovation ธนินท์ เจียรวนนท์ เชื่อว่าเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา… ด้วยเหตุนี้ซีพีจึงเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ และประยุกต์ให้สอดคล้องกับท้องถิ่นอยู่เสมอ” ทั้งนี้ Harvard Business School ได้รวบรวมข้อมูล (2535) คู่ค้าซีพีซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีระดับโลกไว้เป็นระบบพอสมควร (เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะนำมาอ้างอิงบ้าง)

มีดีลหนึ่งในขณะนั้น ไม่ปรากฏในกรณีศึกษา Harvard Business School ทั้งๆ ที่มีความสำคัญต่อเนื่องกับโมเดล Vertical integration

“ซีพีได้นำอุปกรณ์ใหม่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อผลิตไก่แช่แข็งคุณภาพสูง เทคโนโลยีตัวนี้เรียกว่าเทคโนโลยี IQF หรือ Individual Quick Freezing ซึ่งทำได้ด้วยความร่วมมือจากบริษัทเทรดดิ้ง เฟิร์มของญี่ปุ่น” (“Modern Family and Corporate Capability in Thailand : A Case Study of the CP Group” โดย Akira Suehiro) ทั้งนี้ เรื่องเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวไว้อย่างสั้นๆ ด้วย “ในปี พ.ศ.2515 โรงชำแหละไก่แห่งแรกที่บางนานำเข้าเครื่องแช่แข็งจากบริษัทคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น”

ต่อเนื่องเป็นจังหวะก้าวใหม่และบทบาทที่สำคัญ

“…ซีพีสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา และด้วยพัฒนาการดังกล่าว อุตสาหกรรมสัตว์ปีกจึงกลายมาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มุ่งเน้นการส่งออก จนทำให้ไทยได้ขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรใหม่ (Newly Agro-Industrializing Country) หลังทศวรรษ 2510” (Akira Suehiro อ้างแล้ว)

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2