จับสัญญาณ “ทรัมป์” สายตรง “บิ๊กตู่” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “รบ.-คสช.”

การต่อโทรศัพท์สายตรงพูดคุยกันระหว่างผู้นำระดับประเทศ แน่นอนจะต้องเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์สายตรงถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา แน่นอนว่าการพูดคุยหารือนั้นเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็น พร้อมกับแฝงด้วยนัยยะในหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ความประสงค์ของ “ทรัมป์” ไม่ใช่เพื่อแค่แนะนำตัวในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา หรือกล่าวชื่นชมการทำงานของรัฐบาลและ คสช. และไม่ใช่เพื่อจะให้คำมั่นว่าสหรัฐพร้อมช่วยเหลือไทยในทุกด้านอย่างที่รัฐบาลไทยเข้าใจ

แต่การต่อสายตรงถึง “บิ๊กตู่” นั่นคือความจำเป็นที่ “ทรัมป์” ต้องหันหน้าเข้าหามิตรของตนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อเพิ่มพลังเสริมอำนาจการต่อรองกับประเทศนักสะสมอาวุธที่สหรัฐกลัว อย่าง “โสมแดง” เกาหลีเหนือ

เพราะการเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือแบบท้าทายมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก

ทำให้สหรัฐจำเป็นต้องมองหามิตรประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวจากการประณามของนานาประเทศ หากจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในแนวทางของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

 

สาระสำคัญระหว่างยกหูคุยกันผ่านล่ามเป็นเวลาประมาณ 10 นาที “ทรัมป์” กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “แม้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะห่างเหินกันไปบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่สหรัฐให้ความมั่นใจว่านับจากนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

วาจาของ “ทรัมป์” สะกิดต่อมอารมณ์ความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีของการรัฐประหาร รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกดดันอย่างหนักและต่อเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของ นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต

เริ่มจากเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลโอบามาส่งเอกอัครราชทูต นายกลิน ที. เดวีส์ มาประจำการยังประเทศไทย หลังจากไทยว่างเว้นจากการไม่มีทูตสหรัฐเป็นเวลานาน 10 เดือน

การมาของ นายกลิน ที. เดวีส์ ด้านหนึ่งเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมายาวนานกว่า 180 ปี

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐคนใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. อย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การเปิดกว้างการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

เหล่านี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกว่าการหวังพึ่งพาสหรัฐ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีกับสถานการณ์

เป็นเหตุผลให้ไทยต้องหันหน้าเข้าหามหาอำนาจเบอร์สองอย่างจีน

นั่นเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่จีนกำลังมองหาคู่ค้าร่วมลงทุน จีนจึงพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกด้านแก่ไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากไทยเลือกหันหลังให้สหรัฐและเข้าไปซบในอ้อมกอดของจีน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กองทัพบกจัดซื้อตามโครงการซื้อรถถัง VT-4 จากจีน จำนวน 28 คัน

กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำตามโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท ฯลฯ

ขณะที่นักลงทุนชาวจีนเองก็พร้อมร่วมลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ฯลฯ

 

แน่นอนประเด็นความร่วมมือเหล่านี้ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่สหรัฐไม่มากก็น้อย

ถามว่าการที่ “ไทย” หันหน้าเข้าหาจีนมีเอฟเฟ็กต์ที่เกิดจากสหรัฐหรือไม่

คำตอบคือ “มี” แม้จะไม่กระทบโดยตรง แต่ก็กระทบทางอ้อม

กระนั้นจะมองว่าเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ก็ได้ เช่น การที่สหรัฐรายงานการค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต ให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 (Tier 3) หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ในทางการเมืองมองได้ว่า เป็นผลจากการที่ไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ในด้านความสัมพันธ์ก็มองได้เช่นกันว่า เกิดจากไทยทำตัวเหินห่างสหรัฐเข้าหาจีน

แต่การมาของ “ทรัมป์” แตกต่างจากโอบามา “ทรัมป์” เป็นนักธุรกิจ ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่ “โอบามา” ยึดถือเพียงหลักการประชาธิปไตย

เพราะ “ทรัมป์” มองเพียงเสถียรภาพและความมั่นคงแห่งรัฐเป็นสำคัญ

เขาพร้อมพูดคุยเจรจากับใครหรือชาติใดก็ได้หากเห็นว่าจะนำพาประโยชน์มายังประเทศของตน

ตามนโยบายที่ใช้หาเสียงคือ “อเมริกาต้องมาก่อน”

แน่นอน “ทรัมป์” ต้องเสียดายที่อยู่ๆ “ไทย” ซึ่งเป็นมิตรประเทศ ทำมาค้าขายด้วยกันมาช้านานจะหันหน้าหนี

ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ไทยซื้อของจากจีนไปมากกว่านี้ “ทรัมป์” จึงชิงล็อบบี้ก่อน

เป็นสูตรการเจรจาอย่างที่เขาเคยทำมานักต่อนักในวงการธุรกิจ ก่อนที่เขาจะเข้าชิงชัยประธานาธิบดี

เขาจึงไม่รอช้าล็อบบี้ประเทศต่างๆ หวังให้ภูมิภาคเอเชียยืนยันความเป็นพวกเดียวกัน

นอกจากผู้นำไทยอย่าง “บิ๊กตู่” แล้ว เขายังต่อสายตรงไปยัง นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ฯลฯ

เพื่อหวังหามิตรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเคลียร์ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี

เพียงแต่การต่อสายตรงถึง “บิ๊กตู่” นอกจากหวังแนวร่วมเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการจัดการกับเกาหลีเหนือแล้ว

ยังหวังผลพลอยได้ให้ไทยกลับไปซบอกสหรัฐเช่นเคยด้วย

เพราะในการสนทนานอกจากเขาจะถามถึงความสัมพันธ์ของไทยกับจีนและญี่ปุ่นแล้ว “ทรัมป์” ยังพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ยืนยันจะยกระดับการค้าการลงทุนสองทั้งสองประเทศสูงขึ้น

 

ขณะที่รัฐบาลไทยต้องฉวยโอกาสที่ “ทรัมป์” ต่อสายตรงมาถึง “บิ๊กตู่” ด้วยการต่อรองให้สหรัฐผ่อนคลายแรงกดดันไทยที่เกี่ยวข้องในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจให้มากที่สุด

เพราะเป็นที่ทราบดีว่า จุดอ่อนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขเป็นอันดับหนึ่ง นั่นคือ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

น่าจับตาว่าการที่ “ทรัมป์” ต่อสายตรงมายัง “บิ๊กตู่” ทางรัฐบาลและ คสช. จะแปลงเป็นความได้เปรียบ สร้างคะแนนนิยมในช่วงโรดแม็ประยะสุดท้าย ก่อนส่งไม้ต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศต่อ

ซึ่งยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยนั้น หน้าตาจะออกมาอย่างไร และจะได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30