วิเคราะห์ : คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจระลอก 3 กำลังมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจ้างงานหรือตกงาน ปัญหาธุรกิจ และปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ส่วนใหญ่เราจะยกให้เป็นผลงานของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูจากตัวเลขผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายใหญ่ 10 อันดับแรก ย้อนหลังไป 3-4 ปี จะเห็นได้ชัด

ตัวเลขยอดขายติดลบ 19% ตั้งแต่ปีที่แล้ว 2019 มาถึงครึ่งแรกของปีนี้ 2020 ติดลบ 5%

ตัวเลขกำไรติดลบตั้งแต่ปีที่แล้ว 2019 เช่นเดียวกัน คือ 8% ครึ่งแรกของปีนี้ 2020 ติดลบมากหน่อย คือ 31%

มูลค่าบริษัทหรือ market cap.บริษัทอสังหาฯ top 10 ติดลบมาแล้วตั้งแต่ปี 2018 ติดลบ 20% ปี 2019 ติดลบ 2% และกลางปีนี้ 2020 ติดลบ 19%

หมายความว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาพรวมทั้งประเทศสะท้อนผ่านผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำ 10 อันดับแรก ชะลอตัว หรือเป็นขาลงจนอัตราเติบโตติดลบทั้งยอดขายและกำไรมาตั้งแต่ปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด

ซึ่งย่อมเป็นทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย เพราะที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าราคาแพงสูงสุดของผู้บริโภค ที่จะซื้อเมื่อมีกำลังซื้อ มีเงินจริงๆ และต้องมีความเชื่อมั่นที่ดีด้วย

มองเช่นนี้ เราก็สรุปได้ว่า คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจลูกแรกได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2019 แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

 

คลื่นลูกที่สองของวิกฤต คือช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนมาซาลงในประมาณเดือนพฤษภาคม หรือพูดง่ายๆ ว่า ครึ่งแรกของปี 2020 นั่นแหละ เป็นวิกฤตจากการแพร่ระบาด ผู้คนถูกล็อกดาวน์ไม่ให้เดินทาง นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่สามารถเดินทางได้

ธุรกิจการค้า การผลิตสินค้า การเดินทาง ขนส่ง ชะงักงันเกือบสิ้นเชิง

หลายกิจการธุรกิจต้องหยุดสนิท คนจำนวนมากตกงานแบบฉับพลัน กำลังซื้อในตลาดหายไปทันที แต่หลายธุรกิจยังอยู่ต่อไปได้ด้วยเงินสำรองสะสม หรือเงินกู้จากสถาบันการเงิน

คลื่นวิกฤตลูกที่สาม คาดกันว่า จะเริ่มที่ประมาณสิ้นเดือนตุลาคม 2020 เพราะเป็นระยะเวลาสิ้นสุดการพักการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของลูกหนี้ทั้งหมดที่ใช้สิทธิพักการชำระหนี้ต้องกลับมาชำระหนี้

ซึ่งเชื่อกันว่า ส่วนใหญ่ยังไม่น่าจะมีความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้

ลองนึกตัวอย่างกิจการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 40 ล้านคน เวลานี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ธุรกิจย่อมไม่มีรายได้

คลื่นวิกฤตลูกที่หนึ่ง เราผ่านมาแล้วแบบไม่ค่อยรู้ตัวว่ามันมาแล้ว

พอคลื่นวิกฤตลูกที่สอง ทุกคนรู้ตัวเพราะมันแรงและเร็ว มีผลกระทบต่อธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน

 

วิกฤตลูกที่สาม ยังไม่รู้เพราะยังมาไม่ถึง ยังไม่เจอของจริง แต่ผู้มีประสบการณ์และนักวิชาการคาดการณ์ตรงกันว่า หนักกว่าลูกที่สอง

เวลานี้รัฐบาลก็พยายามคิดมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับระลอกนี้ของวิกฤต

ถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวงนี้ จะมีกี่ระลอกคลื่นกัน คงยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัด เพราะถือว่าวิกฤตที่เป็นรูปแบบใหม่ที่โลกใบนี้ไม่เคยมีมาก่อน คือ มีปัญหาทางเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งแล้วถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาดร้ายแรงทั้งโลก

ระบบเศรษฐกิจโลกก็เป็นภาวะใหม่ที่เป็นวิกฤตที่มีเงินล้นโลก อัตราดอกเบี้ยต่ำติดดิน ทำให้นโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ไม่มีประสิทธิผล

ประเทศไทยเรา เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกร่วม 70% การดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ง่ายนัก ต้องการผู้นำที่เข้าใจปัญหา ต้องการทีมงานที่มีความสามารถสูง

เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ แค่จัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณยังเรียงไม่ถูก

เราคงต้องพึ่งตัวเองให้มาก โต้คลื่นไปทีละลูกให้ผ่านก็แล้วกัน

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)