เทศมองไทย : อาวุธ-การทูต-การทหาร รัสเซียรุกเงียบอาเซียน

ข้อมูลที่น่าสนใจในรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ) ล่าสุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา

อูมาอีร์ จามาล เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ในอาเซียนทูเดย์ เมื่อ 18 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เองว่า ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ ยอดขายอาวุธของรัสเซียต่อบรรดาประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นพรวดพราดและแหลมคมอย่างยิ่ง

จามาลอ้างตัวเลขของเอสไอพีอาร์ไอเอาไว้ที่ทำให้หลายคนประหลาดใจไปตามๆ กัน

ข้อมูลที่ว่าก็คือ นับตั้งแต่ปี 2000 เรื่อยมา รัสเซียทำยอดขายอาวุธสำคัญๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมแล้วคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสำคัญๆ ทั้งหมดในภูมิภาค

ถ้านับเฉพาะภายใน 10 ปีที่ผ่านมา คือระหว่างปี 2010 จนถึงปี 2017 ยอดขายอาวุธ “ในรูปแบบ” ของรัสเซียที่ขายให้กับประเทศในภูมิภาคนี้รวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 6,600 ล้านดอลลาร์

เท่ากับยอดขายอาวุธของจีนและสหรัฐอเมริกาต่อประเทศในภูมิภาคนี้ “รวมกัน” ครับ

ข้อเท็จจริงดังกล่าว นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง?

 

ตัวเลขของเอสไอพีอาร์ไอน่าทึ่ง เพราะโดยปกติทั่วไปแล้ว ชาติในอาเซียนพึ่งพาอาวุธสำหรับป้องกันประเทศจากสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก

ชาติไหนที่ไม่ลงรอยกับจีน ก็หันไปพึ่งพาสหรัฐอเมริกา ส่วนใครที่ไม่ชอบขี้หน้าอเมริกันก็หันเข้าหาจีนทั้งด้านกำลังอาวุธและด้านการทหาร

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ก็คือ ในทางหนึ่ง จีนเริ่มสั่งสมและเพิ่มบทบาททางทหารในพื้นที่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ มากถึงขนาดเกิดขัดแย้งโดยตรงกับหลายชาติสมาชิกอาเซียน ในขณะที่สร้างความกังวลต่อชาติอาเซียนในส่วนที่เหลือ

จีนถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” มากกว่าเป็น “หุ้นส่วนมิตรภาพ” มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอาเซียน

ในเวลาเดียวกัน “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิมนุษยชน” ก็ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับขายอาวุธให้ของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น เมียนมาซื้ออาวุธจากอียูไม่ได้มาตั้งแต่ปี 1990 เพราะ “อาร์ม เอมบาโก” คือซื้อ-ขายอะไรก็ได้ แต่ห้ามขายอาวุธให้

การรัฐประหารของไทยในปี 2014 ทำให้กองทัพไทยซื้อจากสหรัฐอเมริกาก็ลำบาก ซื้อจากอียูยิ่งไม่ได้เข้าไปใหญ่

ตรงกันข้าม รัสเซียไม่มีเงื่อนปมขัดแย้งกับอาเซียน ไม่มีเงื่อนไขมากมายให้ต้องตรวจสอบ ที่สำคัญ อาวุธรัสเซียถูกกว่า แถมยังมีเงื่อนไขการชำระยืดหยุ่นกว่า ดึงดูด เย้ายวนใจกว่าอีกด้วย

ผลก็คือ บรรดาชาติอาเซียนเลยหันไปหาพ่อค้าที่เต็มใจขายให้โดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เกี่ยวกับการเมืองและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เกวิน กรีนวูด นักวิเคราะห์ประจำบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เอทูโกลบอลริสก์ บอกกับวิทยุเสียงอเมริกา (วีโอเอ) ว่า รัสเซียกำหนดแนวทางขายอาวุธเอาไว้อย่างนั้น เพราะไม่ได้หวังผลทางพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมาย “ก่อกวน” และ “บ่อนทำลาย” อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปอีกด้วย

ไม่ว่าจะได้ประโยชน์ทางหนึ่งทางใด ถือเป็น “ชัยชนะ” ของรัสเซียด้วยกันทั้งนั้น

นั่นคือ ไม่ได้แค่ขายอาวุธเพียงอย่างเดียว ยังยกระดับความสัมพันธ์ด้านการทหารของตนกับหลายชาติอาเซียนให้สูงขึ้นอย่างมากอีกด้วย โดยการเข้าร่วมซ้อมรบทางทหารร่วมกับประเทศในภูมิภาคนี้

เมื่อปีที่ผ่านมา รัสเซียกับลาวปฏิบัติการซ้อมรบร่วมนานหนึ่งสัปดาห์ ปลายปีนี้รัสเซียกับอินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะเริ่มซ้อมรบทางทะเลร่วมกันเป็นครั้งแรก นอกจากนั้น ยังมีการซ้อมรบร่วมกับเวียดนามในหลายโอกาส ในฐานะที่เวียดนามเป็น “ลูกค้า” รายใหญ่ที่นำเข้าอาวุธจากรัสเซียเป็นสัดส่วนสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของอาวุธนำเข้าทั้งหมด

เมื่อปีที่ผ่านมารัสเซียกับเวียดนามซ้อมรบทางทะเลร่วมกันเป็นครั้งแรกแล้วเช่นเดียวกัน

 

ถึงตอนนี้ ไม่เพียงรัสเซียพยายามเข้าไปให้ถึงฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยังพยายาม “ขายอาวุธ” เพิ่มให้กับทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเมียนมาอีกด้วย

รัสเซียไม่จำเป็นต้องกังวลกับท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียู ต่อการเพิ่มอิทธิพลทางทหารและการเมืองในภูมิภาคนี้ แต่กรณีของจีนกลับต่างออกไป

ที่ผ่านมา จีนอดกลั้นและไม่แม้แต่จะส่งเสียงใดๆ ออกมา เมื่อรอสเนฟต์ บริษัทน้ำมันของรัสเซียเข้าไปรับสัมปทานจากฟิลิปปินส์เพื่อสำรวจหาน้ำมันในพื้นที่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้และทำงานร่วมกับทางการเวียดนาม ในโครงการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน

กระนั้นความอดทนอดกลั้นที่ว่านี้ ใช่ว่าจะคงอยู่ตลอดไป นักการทูตรัสเซียเคยเปรยๆ กับนักการทูตอเมริกันว่า ไม่ช้าไม่นานแรงกดดันให้รัสเซียยกเลิกโปรเจ็กต์เหล่านั้นก็คงมาถึง

อะไรจะเกิดขึ้นตามมา ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับวันจะซับซ้อน ละเอียดอ่อนมากขึ้นทุกทีแล้ว

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)