5 ปีคดี “บอส วรยุทธ” ไม่ถึงศาล อดีต อสส.แจงขอความเป็นธรรม ก้ำกึ่ง “ประวิงเวลา-ให้ความเป็นธรรม?!”

เป็นที่จับตามองและเป็นข่าวครึกโครม กรณีเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ นัดให้ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง เดินทางมาเข้าพบเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธขับรถยนต์ยี่ห้อเฟอร์รารี่พุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อายุ 47 ปี ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ ขณะตระเวนตรวจพื้นที่รับผิดชอบเสียชีวิต และลากร่างไร้วิญญาณของ ด.ต.วิเชียร พร้อมรถจักรยานยนต์สายตรวจไปไกลกว่า 200 เมตร มาจนถึงปากซอยสุขุมวิท 49 ก่อนจะขับรถหลบหนีเข้าบ้านเลขที่ 9 คฤหาสน์หรูในซอยสุขุมวิท 53

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป. สน.ทองหล่อ ในขณะนั้น ได้นำตัว นายสุเวศ หอมอุบล พ่อบ้านนายวรยุทธ เข้ามอบตัว

แต่ความแตก เนื่องจากพบว่าเป็นผู้ต้องหาตัวปลอม ทำให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในขณะนั้นมีคำสั่งให้ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ ออกจากราชการไว้ก่อน

และดำเนินคดีนายสุเวศ ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จกับเจ้าพนักงาน

ท่ามกลางกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ในที่สุดนายวรยุทธได้เข้ามอบตัว พร้อมให้การภาคเสธ โดยยอมรับว่าขับรถสปอร์ตหรูไปประสบอุบัติเหตุจริง แต่ผู้เสียชีวิตขี่รถจักรยานยนต์ปาดหน้าทำให้หักหลบไม่ทัน

ภายหลังจากตรวจร่างกาย ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โรงพยาบาลสมิติเวช พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 5 ข้อกล่าวหา

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานในทันที ชนแล้วหนี

3. ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

4. ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

และ 5. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย

ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสอดคล้องกับพนักงานสอบสวน คือสั่งไม่ฟ้องในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนอีก 2 ข้อหาคือ ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายนั้น มีอายุความ 1 ปี ปัจจุบันนี้ได้หมดอายุความลงไปเรียบร้อยแล้ว

จึงเหลือเพียง 2 ข้อกล่าวหาเท่านั้น คือ

1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี

และ 2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ชนแล้วหนี ซึ่งมีอายุความ 5 ปี และจะขาดอายุความในวันที่ 3 กันยายน 2560

ทว่า เวลาผ่านมา 5 ปี นายวรยุทธยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล!!

ตั้งแต่เกิดเหตุจนเวลาล่วงเลยกว่า 5 ปี นายวรยุทธขอเลื่อนคดีทั้งสิ้นมาแล้ว 7 ครั้ง โดยอ้างเหตุในเรื่องเกี่ยวกับขอความเป็นธรรมและภารกิจในต่างประเทศ

เรื่องนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เคยแถลงถึงเหตุที่นายวรยุทธยังไม่ได้เข้าสู่การนำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลว่า “สาเหตุเป็นเพราะนายวรยุทธมีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการร้องต่อคณะกรรมาธิการฯ สนช. ควบคู่ไปด้วย และถ้าหากอัยการไม่สอบเพิ่มเติมให้ อาจถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่”

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันจะออกหมายจับนายวรยุทธ เหตุเพราะเบี้ยวนัดอัยการถึง 7 ครั้ง และมีท่าทีขึงขังจากตำรวจและอัยการในการดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการเตรียมประสานขอความร่วมมือตำรวจสากล นำตัวนายวรยุทธ ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเพิ่งเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็น 2 วันก่อนอัยการนัดมาพบเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล

อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถตอบคำถามสังคมว่า ทำไมก่อนหน้านี้ แค่เพราะการร้องขอความเป็นธรรม สามารถทำให้มีการเลื่อนการนำตัวส่งฟ้องได้ยาวนานถึง 5 ปี และไม่ได้มีการออกหมายจับนายวรยุทธ จนบางคดีหมดอายุความ?!!

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ได้อธิบายเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรมว่า เราต้องยอมรับความจริงว่าระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดเราไปเปิดอย่างนั้นจริงๆ ว่า ถ้ามีเหตุที่จะร้องขอความเป็นธรรมได้ทุกระดับชั้น เท่าที่ทราบในเรื่องนี้ เดิมนายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรมมา และได้ข้อยุติแล้ว แต่ต่อมากลับร้องไปที่กรรมาธิการของสภา แล้วก็เลื่อนคดีมา ที่มีการเปลี่ยนมาหลายอธิบดีและเลื่อนมาหลายครั้ง ผมไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ทราบว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ แต่ถ้ามีเหตุผลเราก็ต้องให้เลื่อน ก็ทำให้เกิดประเด็นที่ว่าทำไมถึงจะต้องเลื่อน

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด

อดีตอัยการสูงสุดกล่าวต่อว่า ส่วนที่เมื่อร้องไปที่คณะกรรมาธิการในสภา ทำให้อัยการต้องให้เลื่อนนั้น ถ้ามีหนังสือจากสภามาว่าทางอัยการยังสอบไม่ครบ ทางอัยการจะต้องมาพิจารณาว่ามีประเด็นหรือไม่ ถ้ามีประเด็น ก็ต้องทำตามที่ขอมา แต่ตรงนี้ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อมีเรื่องมาจากสภาก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ การจะไปตัดข้อเท็จจริงเสียทีเดียวมันก็ไม่น่าจะถูกต้อง คงจะต้องให้มีการสอบจนได้ข้อสรุปว่าเป็นประเด็นโดยตรงหรือไม่ เป็นดุลพินิจที่อัยการจะพิจารณาได้

“ระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมนั้น เพื่อจะให้ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนได้รับความเป็นธรรม แต่ข้อเท็จจริงต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ เป็นดุลพินิจของผู้รับผิดชอบโดยตรง จะต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดว่าเป็นการประวิงคดี ต้องเข้าใจให้ดีว่าระเบียบดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ชักช้าในคดี เพราะหากดูแล้วการร้องขอความเป็นธรรมมีการประวิงคดีก็จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ถ้าเป็นเหตุที่ชะลอการฟ้อง เรามีความจำเป็นก็สามารถฟ้องไปได้ และเมื่อมีการร้องเข้ามาอาจไปถอนฟ้องทีหลังก็ได้ ระเบียบเปิดตรงนี้ไว้ให้อยู่แล้ว”

“อดีตอัยการสูงสุดท่านหนึ่งพูดกับผมอยู่เสมอว่า ในการร้องขอความเป็นธรรม ถ้าเราปิดกั้นไม่ให้เขาร้องแล้วเขาจะได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร” อรรถพลกล่าวทิ้งท้าย