วิเคราะห์ : กรีนแลนด์ไม่ขาวโพลนอีกต่อไปแล้ว

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“กรีนแลนด์” เกาะใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป ใกล้ๆ กับขั้วโลกเหนือ เผชิญวิกฤตแผ่นน้ำแข็งปกคลุมเกาะละลายอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ นักวิทยาศาสตร์พากันยอมรับว่า กรีนแลนด์ไม่อาจหวนคืนเหมือนอดีตได้อีกต่อไปแล้ว

พื้นที่บนเกาะกรีนแลนด์มีทั้งหมด 2 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบกับประเทศไทย กรีนแลนด์ใหญ่กว่า 4 เท่า ร้อยละ 82 ของพื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งมีความหนา 3.2 กิโลเมตร

ก้อนน้ำแข็งทับถมจนหนาได้ขนาดนี้ก็เพราะหิมะที่ตกสะสมเป็นเวลาหลายร้อยปี

แต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีน้ำแข็งละลายไปแล้ว 197,000 ล้านตัน

ปกติช่วงปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยการละลายของแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์จะอยู่ที่ 280,000 ล้านตัน

เฉพาะวันที่ 10 กรกฎาคม เพียงวันเดียวแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายมากที่สุดคิดเป็นพื้นที่ 551,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 34 ของแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมเกาะ

นั่นเท่ากับว่า เดือนกรกฎาคมปีนี้ การละลายของแผ่นน้ำแข็งทำสถิติสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกในรอบหลายสิบปี สาเหตุก็เพราะเกาะกรีนแลนด์เจออากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งสูงปรี๊ดตลอดเดือนกรกฎาคม เนื่องจากกระแสลมร้อนจากทวีปยุโรปเคลื่อนตัวปกคลุมเกาะ

กระนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังงงๆ ว่า ทำไมกระแสลมร้อนไหลไปปกคลุมเหนือเกาะกรีนแลนด์ได้นานขนาดนั้น เพราะปกติแล้วกระแสลมบริเวณขั้วโลกเหนือจะเคลื่อนตัวเร็ว

สถิติตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายลงสู่มหาสมุทรมากกว่า 530 พันล้านตัน

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ถ้าก้อนน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายจนกลายเป็นน้ำทั้งหมดแล้วไหลลงสู่ทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 7.5 เมตร เท่าๆ กับตึก 2 ชั้น

 

สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงทำให้แผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว หากพื้นผิวโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมก็ละลายเหมือนกัน

ตั้งแต่ปี 2537แผ่นน้ำแข็งปกคลุมบริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงทั่วโลกละลายไปแล้ว 28 แสนล้านตัน

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลีดส์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ร่วมกันใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมศึกษาการละลายของธารน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็งในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย แคนาดาและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทร ขั้วโลก ตั้งแต่ปี 2537-2560

ผลศึกษาพบว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็งเกิดขึ้นเพราะชาวโลกพากันปล่อยก๊าซพิษทำให้ชั้นบรรยากาศโลกแปรปรวน สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้มในปลายศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงราว 1 เมตรจากปรากฏการณ์น้ำแข็งละลายทั่วโลก

นั่นหมายถึงว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงทุกๆ 1 เซนติเมตร จะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายฝั่ง 1 ล้านคน

 

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เชพเพิร์ด หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า น้ำแข็งละลายเป็นจำนวนมากยังส่งผลต่อความสามารถในการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ เพราะเมื่อแผ่นน้ำแข็งสีขาวนวลปกคลุมเปลือกโลกละลายหายไป แสงอาทิตย์จะส่งตรงมายังโลก

ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะถูกน้ำทะเลลึกและผืนดินดูดกลืนมากขึ้น ทำให้ผิวโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น

น้ำแข็งละลายจากธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งมีผลโดยตรงกับระบบนิเวศน์ในบริเวณขั้วโลกและน้ำทะเลในมหาสมุทร อีกทั้งธารน้ำแข็งละลายยังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

“ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เจาะจงศึกษาการละลายของแผ่นน้ำแข็งในบางพื้นที่ เช่น ขั้วโลกเหนือหรือบนเกาะกรีนแลนด์ แต่คราวนี้เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาภาพรวมแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง พบว่าเป็นปรากฏการณ์ละลายเหมือนๆ กันทั่วโลก นี่จึงทำให้เรารู้สึกตื่นตะลึง” ศาสตราจารย์เชพเพิร์ดบอกกับสื่อของอังกฤษ

 

ตั้งแต่ปี 2423 อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส ยังไม่มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะลดลง ผิวโลกและผิวน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นจึงมีส่วนสำคัญทำให้แผ่นน้ำแข็งปกคลุมผิวโลกละลายมากขึ้น

ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงเช่นหิมาลัย หรือแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายอย่างต่อเนื่องเพราะอุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้น

คำนวณการสูญเสียน้ำแข็งที่เกาะตามไหล่ผาของขั้วโลกและแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทร ณ ปัจจุบัน ตกอยู่ราวร้อยละ 54 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งบนผิวโลก ละลายไปแล้วร้อยละ 46

นักวิทยาศาสตร์ส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศต่างๆ ให้ช่วยกันปล่อยก๊าซพิษน้อยลง และรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนมานานนับสิบปี แต่ผลลัพธ์ต่ำมาก ผู้คนยังใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินกันอย่างระเบิดเถิดเทิง

ปริมาณก๊าซพิษเข้มข้นที่ลอยขึ้นปกคลุมเหนือท้องฟ้ามีผลต่อระบบหมุนเวียนอากาศของโลก สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดพายุที่มีความแรงหนักหน่วง หอบก้อนน้ำมวลมหาศาล ทำให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ในห้วงฤดูร้อน อากาศร้อนระอุเหมือนอยู่ในเตาอบ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งอังกฤษจัดแบ่งผลจากการปล่อยก๊าซพิษเป็น 2 ช่วงทศวรรษ

ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1989 ช่วงทศวรรษที่ 1990-1999 ทั้งสองช่วงอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 0.14

คาดการณ์ว่า ถ้าชาวโลกยังปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศกันอย่างนี้ต่อไป ในอีก 10 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3 องศาเซลเซียส

เวลานี้หน้าร้อนก็ร้อนสุดๆ อยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ก็เจอฝนตกหนักหน่วง ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างที่เห็นและเกิดปรากฏการณ์เหมือนเช่นบนเกาะกรีนแลนด์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวโลกจงเตรียมรับมือวิกฤตกันไว้ให้ดีเถิด

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)